ข้อมูลจาก Wind ผู้จัดทำข้อมูลรายใหญ่ในประเทศจีน ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ราคาเหล็กในจีนร่วงลงแรงกว่า 20% ลงมาอยู่ที่ 3,208 หยวนต่อตัน สาเหตุหลักมาจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สร้างผลกระทบต่อเนื่องมาสู่ราคาเหล็กของจีน
“อุปสงค์ของเหล็กในจีนปรับตัวลดลงจนเป็นที่น่าผิดหวัง เหตุผลหลักๆ มาจากภาคอสังหาของจีนถดถอยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเหล็กนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการก่อสร้างโครงสร้างหลัก” Sabrin Chowdhury หัวหน้าฝ่ายนักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล BMI กล่าว
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตเหล็กหลายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมากกว่าครึ่งของการผลิตทั่วโลกนั้นมาจากจีน หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 1 พันล้านตันต่อปี และยังเป็นผู้บริโภครายหลักอีกด้วย เพราะฉะนั้น เมื่ออุปสงค์อ่อนตัวลงในขณะที่อุปทานยังล้นตลาด ราคาจึงต้องปรับตัวลงตามกันมา
โดย CNBC ระบุเพิ่มว่า วิกฤตราคาเหล็กครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีนใหม่ โดยให้ลดการพึ่งพาการเติบโตในภาคอสังหา แล้วหันไปเร่งพัฒนาภาคเทคโนโลยีและพลังงานสะอาดแทน ซึ่งวิกฤตนี้ผู้นำประเทศหลายคนได้เริ่มถามหาวิธีการรับมือกับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นในทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคแรงงาน
ผู้ผลิตเล็กเร่งโละสต็อก
ขณะที่ Bloomberg รายงานว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศจีนกำลังแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ หลังจากที่หลายบริษัทในจีนพยายามเพิ่มสภาพคล่องด้วยการโละคลังสินค้า ลดราคา และเหล็กเองก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกล้างสต็อก ซึ่งในยุโรป ประเทศเยอรมนีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็กเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ในปีนี้คาดว่าจะแทบไม่มีการเติบโตเลยจากอุตสาหกรรมนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีบอกกับ Blooomberg ว่า รัฐบาลจับตาดูการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กที่ดุเดือดในระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิด แม้ว่าสหภาพยุโรปได้ตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันการแข่งขันจากภายนอกไว้แล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น จีนส่งออกเหล็กในรูปแบบแผ่นโลหะม้วนจำนวนมาก เพราะราคาดีกว่าราคาขายภายในประเทศ แต่เมื่อถูกกีดกันจากทางสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษี จีนจึงหันไปส่งออกเหล็กประเภทดังกล่าวไปยังโซนอื่น เช่น ทวีปอเมริกาใต้ โดยในช่วงปี 1990 จีนส่งออกเหล็กไปยังทวีปอเมริกาใต้เพียง 80,500 ตันต่อปี แต่ในปีล่าสุดตัวเลขส่งออกขึ้นไปสูงจนเกือบแตะหลัก 10 ล้านตันต่อปี
ผลกระทบที่ตามมาคือ ผู้ผลิตเหล็กในทวีปอเมริกาใต้ต้องขาดทุนจากราคาเหล็กที่ลดลงอย่างมหาศาล และทำให้หลายโรงงานต้องปิดตัวลง จนทำให้ในปีนี้รัฐบาลประเทศชิลีต้องออกมาเริ่มตั้งกำแพงภาษีป้องกันประเทศจากเหล็กราคาถูกจากจีนเช่นกัน
“แม้ว่าการขาดทุนในการทำธุรกิจจะเป็นเรื่องปกติ แต่มันจะเป็นเรื่องไม่ปกติเมื่อทุกคนในอุตสาหกรรมขาดทุน นโยบายภาครัฐต้องมีการปรับแก้ ทั้งอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความหดหู่ถ้าจะรอพึ่งพิงแต่กลไกของตลาด” Wu Wenzhang ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษา Shanghai SteelHome E-Commerce Co. ผู้ที่อยู่ในธุรกิจเหล็กมาแล้วกว่า 40 ปีกล่าว
อ้างอิง: