×

จับตาการเมืองจีน หลังปลด ‘ฉินกัง’ พ้นรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้ง ‘หวังอี้’ นั่งแทน

26.07.2023
  • LOADING...
จีน ปลด ฉินกัง

สถานการณ์ทางการเมืองในจีนกำลังน่าจับตามอง หลังจากเมื่อวานนี้ (25 กรกฎาคม) สภาประชาชนแห่งชาติจีนมีมติรับรอง ‘หวังอี้’ นักการทูตระดับสูง และผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนอีกครั้ง แทนที่ ‘ฉินกัง’ รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนหน้าที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานาน 1 เดือน

 

THE STANDARD ต่อสายพูดคุยประเด็นร้อนนี้กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ว่า การปรับเปลี่ยนตัวผู้นำระดับสูงในทางการเมืองของจีนครั้งนี้สะท้อนถึงอะไร และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศจีนต่อจากนี้หรือไม่ อย่างไร

 

ทำไมถึงมีการปรับเปลี่ยนผู้นำระดับสูงในทางการเมืองจีนแบบกะทันหัน?

 

ศ.ดร.สุรชาติ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม รวมถึงข้อจำกัดของข้อมูล ซึ่งส่งผลให้คำถามที่หลายคนสงสัยอาจยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด โดยกล่าวว่า “ในระยะต้นคนที่ติดตามประเด็นนี้เชื่อว่าฉินกังป่วยและมีอาการหนัก แล้วอย่างที่เราทราบว่าข้อมูลพวกนี้อาจเป็นเหมือนกับข้อมูลคาดเดา จนกระทั่งในระยะหลังๆ เราเริ่มเห็นชัดว่าฉินกังอาจไม่ได้ป่วย แต่อาจเป็นเรื่องของการเปลี่ยนตัวบุคคล ซึ่งการเปลี่ยนตัวบุคคลในระบบแบบของพรรคคอมมิวนิสต์ เราจะเห็นถึงลักษณะของ ‘การปลดกลางอากาศแบบกะทันหัน’

 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นนี้ถามว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ในระบบคอมมิวนิสต์ไหม ผมว่าไม่แปลก นี่เป็นวิธีการจัดการแบบที่คอมมิวนิสต์ใช้ ถ้าเราจะพูดก็คือ วิธีการดังกล่าวไม่เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เพราะว่ารัฐที่เป็นประชาธิปไตย ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะถูกเปิดออกโดยเงื่อนไขของระบบการเมือง

 

“แต่ในกรณีของประเทศจีน เราเห็นชัดว่าน่าจะเป็นการถูกปลด คำถามที่เกิดขึ้นคือ การปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงนี้ อะไรคือสาเหตุ ขณะนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่ามันคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากทิศทางของนโยบายการต่างประเทศกับตัวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงใช่หรือไม่ ถ้าจะปลดได้ก็อาจจต้องเป็นสีจิ้นผิงที่มีอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้” 

 

การปรับเปลี่ยนนี้จะส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศจีนหรือไม่ อย่างไร?

 

ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า “การเปลี่ยนตัวในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้แนวนโยบายของสีจิ้นผิงหรือของหวังอี้มีความชัดเจน หลายฝ่ายเชื่อว่ากรณีของฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนที่หายตัวไป น่าจะเป็นคนที่มีทิศทางการดำเนินนโยบายที่ประนีประนอมกับตะวันตกมากกว่าที่เคยเป็น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา 

 

“เพราะฉะนั้นแนวนโยบายดังกล่าวก็คงอาจไม่สอดรับกับแนวทางของสีจิ้นผิงหรือหวังอี้ เราพอจะเห็นได้ว่าท่าทีของหวังอี้หรือสีจิ้นผิงต่อชาติตะวันตกในระยะหลังนี้ค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น ในกรณีอย่างนี้ สิ่งที่เราจะเห็นต่อจากนี้ก็คงจะอยู่ในแนวทิศทางเดิม ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่า ใครที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อก็คงจะต้องพานโยบายต่างประเทศจีนกลับไปในทิศทางเก่า อย่างที่เราเห็นหวังอี้ดำเนินนโยบายมานานในช่วงทศวรรษก่อนหน้า”

 

ทำไมต้องเป็นหวังอี้? 

 

การที่จีนตัดสินใจหันกลับมาเลือกหวังอี้ นักการทูตระดับสูงที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนมาแล้วในช่วงปี 2013-2022 แง่มุมหนึ่งอาจสะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจที่รัฐบาลจีนมีให้กับหวังอี้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็สะท้อนว่าจีนอาจขาดทรัพยากรบุคคลคนอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากหวังอี้แล้วหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงต้องเป็นหวังอี้

 

ศ.ดร.สุรชาติ แสดงความเห็นว่า “นี่เป็นปัญหาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเลือกตัวบุคคลเดิม จริงๆ เป็นคำตอบที่ชัดคือความมั่นใจว่าทิศทางและแนวนโยบายจะไม่เปลี่ยน เพราะเราได้เห็นทิศทางของหวังอี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าหวังอี้เป็นสายแข็งของนโยบายต่างประเทศจีน การที่หวังอี้กลับมาเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึงโลกตะวันตก รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณนโยบายต่างประเทศจีนในภาพรวม โดยที่จีนอาจใช้แนวนโยบายที่ประนีประนอมกับตะวันตกน้อยลง จีนเชื่อว่าหวังอี้จะไม่เปลี่ยนแนวทางนโยบายต่างประเทศจีนไปจากที่เขาเคยดำเนินมา”

 

หวังอี้ ‘เวอร์ชันอัปเกรด’ จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกตะวันตกในทิศทางใด?

 

หวังอี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนก่อนหน้าฉินกัง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ต้นปี 2023 ก่อนที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนจะมีมติรับรองให้หวังอี้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนอีกครั้งเมื่อวานนี้ (25 กรกฎาคม) หลังจากที่ฉินกังไม่ปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หวังอี้กลายเป็นตัวแสดงทางการเมือง ‘เวอร์ชันอัปเกรด’ ที่ควบตำแหน่งผู้นำสูงสุดด้านการต่างประเทศจีนถึง 2 ตำแหน่งพร้อมกัน ซึ่งในมิติของต่างชาติ ตรงจุดนี้อาจมีส่วนช่วยย่นระดับและลำดับขั้นในการพูดคุยเจรจากับจีนได้ไม่มากก็น้อย

 

ศ.ดร.สุรชาติ เน้นย้ำและคาดการณ์ว่า “การที่จีนตัดสินใจเลือกหวังอี้คือการยืนยันแนวนโยบายในทิศทางเก่า แนวโน้มที่เราจะเห็นในอนาคตนั้นเราอาจเห็นการเผชิญหน้ามากยิ่งขึ้น แนวโน้มการเผชิญหน้ากันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเอเชีย เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ กับอีกส่วนหนึ่งเราจะเห็นจากทิศทางในกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ฝั่งจีนหรือผู้นำจีนจะให้การสนับสนุนฝั่งรัสเซียเพิ่มมากขึ้น อาจจะโดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

“ถ้าพูดในภาพรวม เราจะเห็นทิศทางของการออกนโยบายของจีนในเชิงแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นในพื้นที่แถบเอเชีย รวมทั้งในกรณีของสหรัฐฯ อาจต้องรอดูว่าการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่แล้ว ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในอีกระยะหนึ่ง แต่แนวโน้มผมคิดว่าการเอาหวังอี้กลับมาไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการตอกย้ำแนวนโยบายเดิม และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าจีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศไปจากทิศทางเดิมที่เคยดำเนินมาในยุคสีจิ้นผิง-หวังอี้ ดังเช่นในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้

 

“พูดง่ายๆ ก็คือ จีนมีแนวโน้มที่อาจจะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น โดยการเจรจากับสหรัฐฯ อาจมีพื้นที่น้อยลง เพราะว่าในช่วงที่ฉินกังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 จนถึงช่วงก่อนที่เขาจะหายตัวไป เราเห็นท่าทีว่าเขาดำเนินนโยบายในลักษณะที่ประนีประนอมอยู่พอสมควร ซึ่งอาจไม่ถูกใจสายที่ต้องการให้จีนดำเนินนโยบายแบบแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ หรือชาติตะวันตก

 

“โดยเวทีการประชุม G20 ที่อินเดีย รวมถึงเวทีการประชุม APEC ที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2023 เป็นตัวอย่างที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะที่อินเดีย จะเป็นเวทีที่เราจะได้เห็นบทบาทของจีนในยุคภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ ติดตามต่อไปที่ APEC ผมว่านี่คือสิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มจับตาดูว่าการเปลี่ยนตัวแสดงสำคัญทางการเมืองและหันกลับไปใช้แนวนโยบายของปีกซ้ายมากยิ่งขึ้น จะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัฐอื่นๆ ในเอเชียด้วย”

 

การปรับเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับผู้ว่าแบงก์ชาติจีนในช่วงเวลานี้เกี่ยวพันกันหรือไม่ อย่างไร?

 

ฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูงของจีนเพียงคนเดียวที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งเมื่อวานนี้ โดยตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน (PBOC) หรือผู้ว่าแบงก์ชาติจีน ก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน โดยจีนแต่งตั้ง ‘พานกงเซิ่ง’ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนคนใหม่ หลังจากปลด ‘อี้กัง’ ผู้ว่าการคนเก่าพ้นจากตำแหน่ง 

 

หลายฝ่ายต่างพากันตั้งคำถามว่า การปรับเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในทางการเมืองจีนพร้อมกันทั้ง 2 ตำแหน่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติภายใต้การกุมบังเหียนของสีจิ้นผิงหรือไม่ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าสาเหตุสำคัญที่อี้กังถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่ง อาจเป็นเพราะการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนักในสายตาของสีจิ้นผิง รวมถึงบรรดาผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

 

ศ.ดร.สุรชาติ ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของจีนค่อนข้างมีข้อจำกัด เราไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าการเปลี่ยนตัวของผู้นำระดับสูงของจีนพร้อมกันนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร แค่เฉพาะหน้าเราเองก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าฉินกังกับอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจีนอยู่ในสายการเมืองเดียวกันไหม หรือนี่คือสัญญาณของการจัดการกับสายการเมืองที่เราอาจจะเรียกว่าเป็น ‘สายอ่อน’ หรือสายที่เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจีนยังมีความจำเป็นที่จะต้องหันไปคุยกับชาติตะวันตก หรือต้องลดระดับการเผชิญหน้าลง เพื่อลดแรงเสียดทานจากการต่อต้านจีนในทางเศรษฐกิจ สิ่งที่น่าจับตามองก็คือคนกลุ่มนี้อยู่ในสายความคิดเดียวกันหรือไม่ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูกันต่อไป”

 

ก่อนที่ ศ.ดร.สุรชาติ จะกล่าวทิ้งท้ายว่า “ด้วยสภาวะการเมืองแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภายในอาจต้องรอสักระยะเวลาหนึ่งจึงจะปรากฏในลักษณะที่ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคุยกันวันนี้เป็นเพียงความพยายามที่จะตอบโจทย์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราพอจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นก็คือ การที่หวังอี้กลับมาเป็นการยืนยันว่านโยบายต่างประเทศจีนจะเปลี่ยนไปจากทิศทางที่ประนีประนอมกับตะวันตก ดังที่เกิดขึ้นในสมัยที่ฉินกังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศจีน”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising