โจเซฟอู๋ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับ The Economist โดยเปิดเผยว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังจัดทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาไต้หวันที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคม ซึ่งคาดว่าจะมีการเผยแพร่เอกสารหลังการเลือกตั้งไม่นานนัก
ท่าทีดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้การแทรกแซงของจีน โดยอู๋ระบุว่า หลักฐานการแทรกแซงของปักกิ่งมีทั้งแรงกดดันทางทหารและทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณจัดทริปให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไต้หวันเดินทางไปเยือนจีน
“ไต้หวันกำลังดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้การแทรกแซงของจีน และกำลังจัดทำเอกสารบันทึกสิ่งที่เผชิญ โดยบทวิเคราะห์จะถูกเผยแพร่ไม่นานหลังการเลือกตั้ง และจะผ่านการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ”
รัฐบาลไต้หวันระบุว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นท่ามกลางความพยายามจากจีนร่วมกับหลายฝ่าย ในการทำให้ประชาชนไต้หวันผู้มีสิทธิลงคะแนนหันไปเลือกผู้สมัครที่มีนโยบายสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีต่อจีน
โดยที่ผ่านมาจีนยืนยันว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนและอยู่ภายใต้นโยบายจีนเดียว และมองว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นทางเลือกระหว่างสงครามหรือสันติภาพ
ขณะที่ชี้ว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังปลุกปั่นเรื่องภัยคุกคามทางทหารจากจีนจนเกินจริง เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม อู๋กล่าวว่า “หากจีนประสบความสำเร็จในการกำหนดผลการลงคะแนนเสียงในไต้หวัน จีนจะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้กับระบอบประชาธิปไตยอื่นๆ เพื่อส่งเสริมกฎระเบียบระหว่างประเทศตามที่จีนต้องการ”
โดยเขาเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศหันมาให้ความสนใจมากขึ้นต่อความพยายามของจีนในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยของไต้หวัน ผ่านการแผ่อิทธิพลและบิดเบือนข้อมูล ตลอดจนการทำสงครามลูกผสม ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์
เลือกตั้งไต้หวัน = เรื่องภายในของจีน
ด้านสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน (China’s Taiwan Affairs Office) เรียกการเลือกตั้งของไต้หวันว่าเป็น ‘เรื่องภายในของจีน’ และพรรครัฐบาล DPP ที่ปกครองไต้หวันในปัจจุบัน พยายามที่จะเรียกการมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายว่าเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวัน
ขณะที่รัฐบาลจีนยังพุ่งเป้าจับตามองไปที่ ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ DPP และกล่าวหาเขาอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนที่เป็นอันตราย
ทั้งนี้ พรรค DPP และพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายสนับสนุนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ชี้ว่ามีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่สามารถตัดสินใจอนาคตของตนเองได้
อย่างไรก็ตาม จุดยืนของพรรคก๊กมินตั๋งที่ต่างกับ DPP อย่างชัดเจนคือ การต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน
อ้างอิง: