×

จาก Chinese Exclusion Act สู่ #StopAsianHate การเป็น ‘คนอื่น’ ของชาวเอเชียในสังคมอเมริกา

26.03.2021
  • LOADING...
จาก Chinese Exclusion Act สู่ #StopAsianHate การเป็น ‘คนอื่น’ ของชาวเอเชียในสังคมอเมริกา

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • กระแสการเหยียดชาวเอเชีย-อเมริกัน หลังมีการระบาดของโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การเป็น ‘คนอื่น’ ของชาวเอเชีย-อเมริกัน เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว
  • เหตุการณ์กราดยิงที่ร้านสปาในนครแอตแลนตาจนทำให้มีหญิงชาวเอเชียเสียชีวิต 6 คน ทำให้เกิดความตระหนักขึ้นในหมู่ชาวอเมริกันว่าการเหยียดผิวและความเกลียดชังต่อคนกลุ่มนี้ยังมีอยู่จริง จนนำไปสู่กระแสการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดชาวเอเชียผ่านแฮชแท็ก #StopAsianHate
  • การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง (Civil Rights) ของชาวอเมริกันผิวดำ เพื่อยกเลิกการแบ่งแยกสีผิว (Segregation) ในช่วงปี 1950-1960 ได้สร้างคุณูปการต่อชุมชนชาวเอเชีย-อเมริกันด้วย

เหตุการณ์กราดยิงที่ร้านสปาในนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย จนทำให้หญิงเชื้อสายเอเชีย 6 คนเสียชีวิตลงโดยผู้ก่อเหตุเป็นชายผิวขาว ก่อให้เกิดความสะเทือนขวัญในสังคมอเมริกาเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความตระหนักขึ้นในหมู่ชาวอเมริกันว่าการเหยียดผิวและความเกลียดชังต่อคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้นยังมีอยู่จริง จนนำไปสู่กระแสการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดชาวเอเชียผ่านแฮชแท็ก #StopAsianHate

 

 

อย่างไรก็ดี กระแสการเหยียดชาวเอเชีย-อเมริกันภายหลังการระบาดของโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การเป็น ‘คนอื่น’ ของชาวเอเชีย-อเมริกันนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

 

กฎหมาย Page Act และ Chinese Exclusion Act

ชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1850 ซึ่งเป็นยุคที่มีการค้นพบทองคำในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากจากฝั่งตะวันออกเกิดกระแสตื่นทอง และอพยพมาแสวงโชคด้วยการทำเหมืองทองคำในดินแดนแถบนี้ ผลจากกระแสตื่นทองทำให้มีการนำเข้าผู้อพยพชาวจีนเป็นจำนวนมาก (ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชาย) เพื่อเป็นแรงงานราคาถูกในเหมือง และแรงงานในการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางรถไฟ

 

กระแสต่อต้านผู้อพยพชาวจีนเริ่มเกิดขึ้นในปี 1870 ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ อันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในทศวรรษก่อน ผลจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ห้างร้านต่างๆ ต้องปิดตัวลงจนทำให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา และชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนหนึ่งก็เริ่มโทษว่าผู้อพยพชาวจีนนั้นเข้ามาแย่งงานของพวกเขาทำให้พวกเขาหางานทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาพโดยสื่อมวลชนให้ผู้อพยพชาวจีนเป็นพวกอนารยะสังคมที่จะมาสร้างปัญหาอาชญากรรม ปล้น ฆ่า ข่มขืน (Yellow Peril) และยังมีการสร้างความเข้าใจแบบผิดๆ อีกว่า ผู้อพยพเหล่านี้จะนำโรคจากโลกตะวันออกมาระบาดในแผ่นดินอเมริกาเหนือ (เอาเข้าจริง แนวคิดแบบผิดๆ นี้ถูกสนับสนุนจากสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐฯ (American Medical Association) เสียด้วยซ้ำ)

 

ผลจากกระแสการต่อต้านชาวจีนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สภาคองเกรสออกกฎหมายที่มีชื่อว่า Page Act ในปี 1875 (ตั้งชื่อตาม ส.ส. ฮอเรซ เพจ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผ่านกฎหมายฉบับนี้) ที่ห้ามไม่ให้หญิงชาวจีนอพยพเข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อลดการขยายตัวของประชากรชาวจีนในประเทศ และ Chinese Exclusion Act ในปี 1882 ที่ห้ามการอพยพเข้ามาของชาวจีนทั้งหมด รวมทั้งไม่อนุญาตให้ชาวจีนที่อยู่ในประเทศแล้วเปลี่ยนสถานะจากผู้อพยพเป็นพลเมือง

 

ผลจาก Chinese Exclusion Act ทำให้นายจ้างชาวอเมริกันไม่สามารถนำเข้าแรงงานราคาถูกจากประเทศจีนได้ ทำให้พวกเขาหันไปนำเข้าแรงงานจากญี่ปุ่น, เกาหลี และอินเดียแทน ซึ่งชะตากรรมของพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรจากผู้อพยพชาวจีนรุ่นแรกที่ถูกเหยียดและต่อต้านจากชาวอเมริกันผิวขาว และกระแสต่อต้านชาวเอเชียปะทุหนักขึ้นมาอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนมีอัตราการว่างงานที่สูงอีกครั้ง นอกจากนี้ผลของการปฏิวัติบอลเชวิคในปี 1917 และการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ของอีกหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ก็ทำให้เกิดการหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ (Red Scare) รวมไปถึงกระแสการหวาดกลัวชาวต่างชาติ จนนำไปสู่การออกกฎหมาย Immigration Act ในปี 1924 ที่ลดโควตาการรับผู้อพยพลงกว่า 80% และห้ามการอพยพจากประเทศในทวีปเอเชียทั้งหมด ยกเว้นแต่ฟิลิปปินส์ที่มีสถานะเป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ ในขณะนั้น

 

กลายเป็น ‘ศัตรู’

ผลจากการที่กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ จนนำไปสู่การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัวของสหรัฐฯ นั้น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างรุนแรง ด้วยความที่ชาวอเมริกันผิวขาวไม่แน่ใจว่าชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเหล่านั้นจะจงรักภักดีต่อประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ มากกว่ากัน รวมทั้งการที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นหลายคนถูกจับได้ว่าเป็นสายลับส่งข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพสหรัฐฯ ให้กับกองทัพญี่ปุ่น ยิ่งทำให้ความหวาดระแวงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นยิ่งทวีความรุนแรง จนในที่สุดประธานาธิบดีในระหว่างสงครามอย่าง แฟรงคลิน ดี โรสเวลต์ ต้องออกคำสั่งให้มีการนำชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นกว่า 1 แสนคนไปกักตัวในยังสถานกักกัน (Concentration Camp) ในช่วงปี 1942 ถึง 1946

 

ซึ่งในอีกเกือบ 50 ปีให้หลัง รัฐบาลของสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันอย่าง โรนัลด์ เรแกน ก็ออกมายอมรับว่ารัฐบาลทำผิดพลาด การนำชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นไปกักกันตัวเป็นเรื่องของลัทธิการเหยียดเชื้อชาติมากกว่าเหตุผลทางความมั่นคงจริงๆ และเรแกนก็ได้สั่งให้รัฐบาลกลางจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดในครั้งนั้น

 

Civil Rights Movement

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง (Civil Rights) ของชาวอเมริกันผิวดำ เพื่อยกเลิกการแบ่งแยกสีผิว (Segregation) ในช่วงปี 1950-1960 ได้สร้างคุณูปการต่อชุมชนชาวเอเชีย-อเมริกันด้วย เพราะกระแสการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในช่วงนั้น ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากได้ตระหนักว่ากฎหมายกีดกันชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้น เลวร้ายไม่แตกต่างจากกฎหมายเหยียดคนผิวดำเลย

 

ในปี 1952 สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายที่มีชื่อว่า Immigration and Nationality Act ที่ยกเลิกการแบนไม่ให้ชาวเอเชียสมัครเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ และในปี 1965 สภาก็ได้ออกกฎหมาย Immigration and Nationality Act อีกฉบับที่ยกเลิกโควตาการอพยพตามเชื้อชาติ และการแบนการอพยพจากเอเชียที่มีมาตั้งแต่การออกกฎหมาย Immigration Act ในปี 1924

 

วาทกรรม Model minority

กฎหมาย Immigration and Nationality Act ได้เปิดประตูให้กับผู้อพยพเชื้อสายเอเชียอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้อพยพที่มีการศึกษา ทำให้ผู้อพยพในยุคหลังกลายเป็นผู้มีฐานะที่ดี ทำงานแบบวิชาชีพ (เช่น แพทย์, พยาบาล, วิศวกร และทนายความ) หรือเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งความสำเร็จของผู้อพยพในยุคหลังนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวเอเชียในสายตาคนผิวขาวเปลี่ยนไป จากชาวเอเชียที่อนารยะ กลายมาเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมที่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ (โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวดำ) ควรจะเอาเป็นแบบอย่าง (Model Minority)

 

อย่างไรก็ดี การถูกขนานนามว่า Model Minority ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับชุมชนชาวเอเชีย-อเมริกันเลย เพราะมันทำให้ชาวเอเชีย-อเมริกันอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีการศึกษา หรือฐานะที่ดีได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้วยความเชื่อที่ว่าชุมชนเอเชีย-อเมริกันประสบความสำเร็จอยู่แล้ว นอกจากนี้วาทกรรม Model minority ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวอเมริกันผิวดำไปกลายๆ เพราะวาทกรรมนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตำหนิว่า การที่ชาวผิวดำมีฐานะที่ดีสู้ชาวอเมริกันผิวขาวไม่ได้ เป็นเพราะพวกเขาไม่ลงทุนกับการศึกษาและขี้เกียจ ไม่ทำงานหนักเอง (ไม่เหมือนกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย) และทำให้ชาวอเมริกันผิวดำจำนวนหนึ่งไม่พอใจชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เพราะพวกเขามองว่าชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียไปร่วมมือกับคนผิวขาวเพื่อต่อต้านการต่อสู้ของคนผิวดำ

 

Kung Flu และ The Chinese Virus

กระแสการต่อต้านชาวเอเชียปะทุขึ้นมาอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีคนก่อนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายต่อต้านประเทศจีนอย่างแข็งขัน โดยทรัมป์กล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทำให้สินค้าจากประเทศจีนมีราคาถูกจนสินค้าจากสหรัฐฯ สู้ไม่ได้ในตลาดโลก ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับรัฐบาลจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างมากจากแรงงานผิวขาว

 

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ค้นพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน ยิ่งทำให้สถานการณ์เหยียดชาวจีน (และชาวเอเชีย) ยิ่งแย่ลงไปใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำประเทศอย่างทรัมป์ออกมาทวีตตำหนิจีนว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาของคนทั้งโลก โดยใช้คำศัพท์ที่ส่งเสริมการเหยียดชาวจีนอย่างคำว่า ‘The Chinese Virus’ และ ‘Kung Flu’ จนทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดที่มีการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียหลายเหตุการณ์ รวมถึงการกราดยิงที่มหานครแอตแลนตา (แม้เหตุการณ์หลังยังไม่มีการยืนยันความเชื่อมโยงกับกระแสเกลียดชังชาวเอเชียก็ตาม)

 

หลังจากนี้คงเป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน ว่าเขาจะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้กระแสการต่อต้านและการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียนอเมริกันลดลง ซึ่งเวลาจะให้คำตอบว่าเขาจะสามารถสมานบาดแผลที่เรื้อรังนี้ได้หรือไม่

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X