ไขคำตอบ? แม้สหภาพยุโรปตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนแพงขึ้น อาจไม่ช่วยให้ผู้ผลิตในยุโรปสู้ศึกการแข่งขันได้ เพราะผู้ผลิตจีนมีแต้มต่อ ทั้งโครงสร้างราคาที่ถูกกว่า แถมเทคโนโลยีก้าวหน้า และปรับตัวรับสภาพตลาดได้ดี
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ สหภาพยุโรปเตรียมสรุปมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนครั้งสุดท้ายก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยนักวิเคราะห์บางคนเรียกว่าคดีที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จริงๆ แล้วการที่สหภาพยุโรปตั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีผลต่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนโดยตรง นับเป็นความพยายามปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปที่เผชิญการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ผลิตจีน
สำหรับมาตรการดังกล่าวอาจไม่ได้ผลอย่างที่สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วยหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่
- ราคารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนถูกกว่าคู่แข่งในยุโรป ซึ่งการตั้งภาษีอาจทำให้รถยนต์จีนแพงขึ้น แต่ก็อาจมีราคาถูกกว่ารถยนต์ที่ผลิตในยุโรปอยู่ดี ดังนั้น ผู้บริโภคบางกลุ่มก็ยังเลือกซื้อรถจากจีน
- ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในยุโรป แม้ว่าจะมีภาษีเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคบางคนยังเลือกซื้อเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนมีกลยุทธ์การตลาดที่ยืดหยุ่น เช่น การทำข้อตกลงร่วมมือกับแบรนด์ในยุโรป หรือการตั้งโรงงานในยุโรปเพื่อลดผลกระทบจากภาษี หากบริษัทปรับตัวตามสภาพตลาดได้ดี แน่นอนว่าการตั้งภาษีอาจไม่สามารถหยุดการแข่งขันได้
- การตั้งภาษีอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในยุโรปที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน และอาจมีการตอบโต้กันเกิดขึ้น เช่น การตั้งภาษีนำเข้าสินค้ายุโรป
มาดูฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ในหลายประเทศที่แสดงความเห็นต่างกันเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากรถยนต์ไฟฟ้าจีน ซึ่งมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 36.3% เริ่มจากสมาคมการค้ายานยนต์ของเยอรมนี ระบุว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันที่ลงทุนในตลาดจีน สวนทางกับผู้ผลิตรถยนต์จากอิตาลีและฝรั่งเศส กลับลงทุนในจีนเพียงเล็กน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งแสดงถึงความเห็นต่างในมุมของการเก็บภาษีในแต่ละประเทศ
William Reinsch ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า วิธีการทำงานของเศรษฐกิจจีนแตกต่างจากระบบตลาดที่เสรี เพราะรัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตในจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จากนั้นก็มีการลงทุนมากเกินความจำเป็น และเมื่อมีการผลิตเกินความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้ต้องส่งออกไปยังตลาดโลก
ด้าน Felipe Muñoz นักวิเคราะห์อาวุโสจาก JATO Dynamics กล่าวต่อไปว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนผลิตรถยนต์ได้ในราคาประมาณ 5,500 ดอลลาร์ (ราว 182,941 บาท) ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปต้องใช้ต้นทุนในการผลิตถึง 20,000 ดอลลาร์ (ราว 665,240 บาท)
และอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนลดต้นทุนในการผลิตได้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ สามารถผลิตได้จำนวนมาก ซึ่งช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยได้ ตามด้วยต้นทุนแรงงานต่ำกว่าหลายประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และความแข็งแกร่งของการจัดหาแบตเตอรี่
สะท้อนให้เห็นถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนที่มหาศาล และส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาล ช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่ายได้ในราคาถูกกว่าคู่แข่งในยุโรป
ทั้งหมดสร้างความได้เปรียบให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง
อ้างอิง: