ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโต เงินทุนไหลออกจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ากลับได้รับความสนใจจาก Venture Capital เพิ่มขึ้นอย่างมาก และครองแชมป์อุตสาหกรรมที่ได้รับเงินระดมทุนสูงสุดของปีนี้ จากธุรกรรมการลงทุนในสตาร์ทจีนทั้งหมด 147 รายการ รวมมูลค่า 5.95 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Preqin)
ทั้งนี้ เงินลงทุนในสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ตามมาด้วยแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงอีก 2 ธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในห่วงโซ่ยานยนต์พลังงานทดแทน ตามมาเป็นอันดับที่ 4 และ 5 โดยทั้งหมดที่กล่าวนี้ได้รับเงินระดมทุนมากกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่การระดมทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง เช่น ธุรกิจอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ กลับลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังเฟื่องฟู แต่ความหวือหวานี้จะอยู่ได้นานอีกเท่าไร?
- เปิดเงื่อนไขซื้อ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ รัฐบาลช่วยจ่ายเงินอุดหนุนเท่าไร ลดภาษีกี่เปอร์เซ็นต์
- BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ในมือประธานวงศ์ พรประภา ฝันที่ยิ่งใหญ่ของ ไฮโซพก
โดยการระดมทุนที่ใหญ่สุดของปีนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 1.57 พันล้านดอลลาร์ จาก Changjiang Capital ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ ซึ่งริเริ่มโดย Soh Weiming ผู้ก่อตั้ง Renault China
ถัดมาคือดีลลงทุนในรอบ Series A ของ Sunwoda เพื่อรุกธุรกิจแบตเตอรี่ โดยได้รับเงินระดมทุนจาก Shenzhen Capital Group และกองทุน National Green มูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์
“ค่อนข้างชัดเจนว่าตลาดเดียวที่ทำผลงานได้ดีมากคือตลาด EV สำหรับตอนนี้ มันเป็นตลาดเดียวที่ยังสามารถฝากความหวังไว้ได้” Jochen Siebert กรรมการผู้จัดการของ JSC Automotive กล่าว
โดยรายละเอียดสตาร์ทอัพจีน 5 อันดับแรกที่ได้รับเงินระดมทุนจาก Venture Capital มีดังนี้
- ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง 5.95 พันล้านดอลลาร์
- ธุรกิจซอฟต์แวร์ 5.31 พันล้านดอลลาร์
- ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 5.23 พันล้านดอลลาร์
- ธุรกิจหน่วยจัดเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ 4.87 พันล้านดอลลาร์
- ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ 4.77 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของผู้ผลิตรถยนต์รุ่นเก่า เช่น Aion ของ GAC, IM Motors ของ SAIC และ Voyah ของ Dongfeng ต่างก็ได้รับเงินทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์เช่นกัน เช่น Hozon Auto รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ที่วางเป้าหมายเจาะตลาดในชนบทและเมืองเล็กๆ ก็ระดมเงินได้มากกว่า 3 พันล้านหยวน (420 ล้านดอลลาร์) ในรอบ Series D เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ได้วางแผนขยายธุรกิจขั้นต่อไปด้วยการขายหุ้น IPO และเข้าตลาดหุ้นฮ่องกง
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจนี้ยังคงสดใสอยู่แม้ว่าเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลกจะลดลง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นที่มักจะจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุน เพื่อเข้ามาถือหุ้นในสตาร์ทอัพแทนการเข้ามาถือหุ้นโดยตรง โดยสตาร์ทอัพรถยต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งของประเทศ ซึ่งมียอดขายรวม 465,300 คันตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2022 ล้วนมีรัฐบาลท้องถิ่นในฐานะนักลงทุนส่วนน้อยทั้งสิ้น
Changjiang Capital และ Shenzhen Capital Group ซึ่งเป็น Venture Capital ที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ คือกองทุนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลหูเป่ย์และเซินเจิ้น ตามลำดับ และรัฐวิสาหกิจ เช่น Shanghai Electric Group และรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ฉางโจว ก็สนับสนุนการเสนอขายหุ้น IPO ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 รายเมื่อไม่นานมานี้
“การไม่ลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าของรถยนต์ไฟฟ้าในตอนนี้ ก็เหมือนกับการไม่ซื้อบ้านเมื่อ 20 ปีที่แล้ว” Ren Zeping อดีตนักเศรษฐศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดูแลโดยคณะรัฐมนตรีของจีน กล่าวในการประชุมการลงทุนในฉางโจวเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
“มันเป็นโอกาสแห่งศตวรรษ” Ren กล่าวกับคณะผู้แทน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองและผู้บริหารระดับสูงของ CALB
ถึงกระนั้น ท่ามกลางมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่มูลค่าการลงทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยแม้จะมีรอบบล็อกบัสเตอร์ไม่กี่รอบ โดย Siebert ของ JSC เตือนว่าการระดมทุนยากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนปรากฏเด่นชัดขึ้น
“แม้ตอนนี้จะมีเงินเพียงพอในจีน แต่จะหมดไปในไม่ช้า เพราะจีนกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในงบดุล การลงทุนในจีนยังสามารถทำกำไรได้แค่เฉพาะตอนนี้เท่านั้น” Siebert กล่าว
อ้างอิง: