×

ตลาดหุ้นกู้จีนวุ่น หุ้นกู้ไทยก็ลุ้นๆ นักลงทุนกังวลกันขนาดไหน

12.09.2023
  • LOADING...
ตลาดหุ้นกู้จีน

หากพิจารณาสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) ในเอเชียเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ของบริษัทในประเทศจีนหรือประเทศไทยก็มีความวุ่นวายไม่แพ้กัน  

 

เริ่มที่หุ้นกู้จีน จากข้อมูลใน Bloomberg Asia Ex-Japan USD Credit High Yield Breakdown ซึ่งรวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ High Yield ในเอเชียที่ไม่นับรวมญี่ปุ่น พบว่า หุ้นกู้จีนมีสัดส่วนอยู่ในดัชนีสูงประมาณ 20% 

 

แต่สิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ หุ้นกู้ High Yield จีน เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่มากประมาณ 20% แม้ว่าสัดส่วนจะน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่เคยมีสัดส่วนหุ้นกู้กลุ่มอสังหา 50% แต่เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า ภาคอสังหาของจีนมีความอ่อนแอค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ของบริษัทคันทรีการ์เดนท์ ที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งครบกำหนดชำระในปีนี้ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแม้ว่าจะจ่ายคืนหนี้สำเร็จไปแล้ว แต่ยังเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ที่ยังเหลืออยู่ และจะครบกำหนดไถ่ถอนใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 11,152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

 

ขณะที่เมื่อดูตลาดหุ้นกู้จีนโดยรวมจะพบว่า ช่วงปี 2567-2568 มีจำนวนหุ้นกู้ High Yield จีน ที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึง 37,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของหุ้นกู้ที่ออกมาแล้ว และจะครบกำหนดชำระนับตั้งแต่ปี 2566-2586 โดยเมื่อดูผลตอบแทนของหุ้นกู้ High Yield ในเอเชีย จะพบว่า ปรับตัวลดลงมา -4.94% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2565 ขณะที่หุ้นกู้ IG ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด โดยถ้าเป็นหุ้นกู้ High Yield จีน ผลตอบแทนปรับลดลง -14.64% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2565 สะท้อนถึงกลุ่มอสังหาว่ายังมีอะไรน่ากลัวอยู่ 

 

ดังนั้นในจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ขณะที่ปริมาณความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ส่วนทิศทางดอกเบี้ยโลกก็ยังสูง ถือว่ามีความท้าทายมากพอสมควร อาจทำให้ผู้ออกหุ้นกู้จีนมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลงได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าไปก่อนจนกว่าสถานการณ์ความต้องการอสังหาในจีนจะดีขึ้นและดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวลดลง 

 

เมื่อกลับมาดูที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนไทยพบว่า มีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ประมาณ 95% เป็นหุ้นกู้ High Yield เพียง 5% หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ Investment Grade ไม่ใช่กลุ่มที่น่ากังวลอยู่แล้ว เนื่องจากยังจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยได้สม่ำเสมอ มีเพียงหุ้นกู้กลุ่ม High Yield บางบริษัทที่มีปัญหามากขึ้น โดยในช่วงก่อนโควิดหุ้นกู้ที่มีปัญหามีประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ขณะนี้เพิ่มเป็นกว่า 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมา 6 เท่าแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่มีปัญหายังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดรวม และส่วนใหญ่ของหุ้นกู้ที่มีปัญหาประมาณ 7 หมื่นล้านบาทมาจากการบินไทย ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง ขณะที่ผลการดำเนินงานทั้งในด้านรายได้และกำไรก็ดีขึ้นต่อเนื่อง และคงจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2567 หรืออาจเร็วกว่านั้น หากความสามารถทำกำไรยังมีต่อเนื่องหลังโควิด 

 

ในส่วนของหุ้นกู้ที่ออกในปีนี้มีกว่า 6 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้คงจะมีการออกหุ้นกู้อีก 2-3 แสนล้านบาท ทำให้โดยรวมแล้วหุ้นกู้ที่ออกทั้งหมดในปีนี้มีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่ม Investment Grade มีน้อยมากที่เป็น High Yield ฉะนั้นเมื่อดูจากสภาวะเช่นนี้ก็ไม่น่าเป็นกังวลเท่าไรนัก โดยหุ้นกู้ Investment Grade ยังมีความต้องการจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของหุ้นกู้ High Yield เราแนะนำให้ต้องระมัดระวังการลงทุน  

 

เรามองว่าหุ้นกู้ Investment Grade มีงบดุลที่แข็งแรงมากกว่า ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยแพง เพิ่มภาระต้นทุนให้กับบริษัท ทำให้บริษัทที่อ่อนแออาจได้รับผลกระทบ แต่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ Investment Grade จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า 

 

นอกเหนือจากการเลือกลงทุนที่ควรมุ่งเน้นไปยังกลุ่มหุ้นกู้ Investment Grade ซึ่งยืนหนึ่งเรื่องความแข็งแกร่งแล้ว หากพิจารณาเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของแต่ละประเทศ เพื่อประเมินว่าควรลงทุนในหุ้นกู้ของประเทศไหน โดยเลือกประเทศที่ Yield Curve ปรับขึ้นไปอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ก็พบว่า ปัจจุบัน Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงกว่าไทย อีกทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นก็สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ทำให้ช่องว่างระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐฯ และไทยมากขึ้น และสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสในการลงทุน 

 

เช่น ถ้าไปลงทุนในกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) ที่จัดเป็นตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ หากเป็นการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี ขณะที่ลงทุนสกุลเงินบาทในไทย ผลตอบแทนประมาณ 1.68% ต่อปีเท่านั้น หรือหากลงทุนในหุ้นกู้ IG สกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง 

 

อย่างเช่น ถ้านักลงทุนมีประสบการณ์ลงทุนหรือรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ แล้วเลือกลงทุนผ่าน Capped Floored Floater Note ที่ออกโดยสถาบันการเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและสูงที่จะได้รับ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 4.6% ต่อปี หรือกรณีลงทุนใน Callable Note ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อายุการลงทุนประมาณ 1 ปี ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 5.25% ต่อปี 

 

ส่วนกรณีที่ต้องการลงทุนหุ้นกู้ Investment Grade ผ่านกองทุนรวม ก็มีหลายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเรามองว่าจังหวะนี้คือจังหวะที่เข้าไปลงทุนได้ ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงในปีหน้า

 

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศเองด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หากกังวลเรื่องค่าเงิน สามารถทยอยแลกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือใช้ธุรกรรมประเภท Dual Currency Investment (DCI) ซึ่งเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่ใช้บริหารจัดการความประสงค์จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า กรณีที่ลงทุนจนครบอายุแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ ก็จะแปลงหุ้นกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามอัตราที่ตกลง แต่ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่า ก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินต้นสกุลเงินบาทพร้อมผลตอบแทน 

 

สำหรับ SCB CIO มองว่า ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หยุดขึ้นหรือขึ้นน้อยลงมากๆ อัตราแลกเปลี่ยนน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่แคบลง โดยปัจจุบันมีทั้งปัจจัยบวกและลบที่มีผลต่อค่าเงินบาทสลับกันไป เช่น มีประเด็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมากขึ้นทำให้บาทแข็ง แต่ก็มีประเด็นที่เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนมากขึ้น แล้วเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เงินหยวนก็น่าจะอ่อนค่าลง อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าตามอยู่ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ลงทุนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทยอยแลกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือใช้ธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนด้วย DCI ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น 

 

โดยรวมแล้วท่ามกลางตลาดหุ้นกู้ที่ยังมีความว้าวุ่น ก็ยังมีส่วนเนื้อดีของตลาดที่ยังลงทุนได้อยู่ แต่ผู้ลงทุนต้องโฟกัสให้ถูกตลาด เลือกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพสูง เพียงเท่านี้ก็สามารถสู้ต่อเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจได้แล้ว 

 

คำเตือน 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน 
  • หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง และ/หรือ มีความซับซ้อน เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth Investors) เท่านั้น 
  • หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง (Embedded Derivatives) โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง หรือความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร เป็นต้น 
  • ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน หากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงชุดใดไม่ได้มีการคุ้มครองเงินต้นในจำนวนร้อยละ 100% ของมูลค่าที่ตราไว้ นอกจากนั้นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงยังเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำและมีตลาดรองที่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน 
  • การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงนี้เป็นธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินฝาก และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด 
  • การลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนในปัจจัยอ้างอิงโดยตรง จึงอาจทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาของปัจจัยอ้างอิงได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising