×

แบงก์จีนแห่ ‘เทขายหนี้เสีย’ ในภาคอสังหา หวังกด NPL ผลักปัญหาไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาล

10.04.2023
  • LOADING...
ธนาคารจีน ขายหนี้เสีย

บรรดาแบงก์ในจีนแห่เทขายหนี้เสีย มูลค่าหลายแสนล้านหยวน หวังกดอัตราส่วน NPLในผลประกอบการ และรักษาคุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ตไว้ ท่ามกลางปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สงบ โดยการผลักปัญหาไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลแทน

 

ช่วงฤดูรายงานผลการดำเนินงานเมื่อเร็วๆ นี้ บรรดาแบงก์จีนที่จดทะเบียนในฮ่องกงได้แสดงให้เห็นถึงการใช้วิศวกรรมทางการเงิน (Financial Engineering) จำนวนมหาศาล เพื่อรักษาอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan Ratios) หรือ NPL โดยรวมให้ยังคงอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ เพื่อตอกย้ำว่าธนาคารยังสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้ แม้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังไม่สงบ 

 

ตามข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลของจีนแผ่นดินใหญ่ระบุว่า ในปีที่แล้ว บรรดาแบงก์จีนสามารถขายหนี้ NPL ได้ถึง 2.7 ล้านล้านหยวน โดยหนี้ค้างชำระจำนวนมากในจำนวนนี้ท้ายที่สุดก็ถูกบันทึกเข้าไปในบริษัทจัดการสินทรัพย์ของรัฐบาลจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ทำให้หน่วยงานจัดอันดับเครดิตต่างๆ เริ่มออกโรงเตือนเกี่ยวกับบริษัทจัดการสินทรัพย์ต่างๆ แล้ว รวมไปถึง China Great Wall Asset Management ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธนาคารหนี้เสีย (Bad Bank) รายใหญ่ที่รัฐบาลจีนจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เพื่อให้การสนับสนุนธนาคารของรัฐที่มีปัญหา

 

โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน China Great Wall Asset Management ถูก Fitch Ratings จัดไปอยู่ในสถานะ Negative Credit Watch ซึ่งเป็นสถานะที่บ่งชี้ว่าบริษัทอาจถูกลดอันดับเครดิตในอนาคตอันใกล้

 

ขณะที่ Moody’s Investors Service ก็จัดให้ China Huarong Asset Management ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Great Wall อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับลดอันดับเครดิตเช่นกัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


ตัวอย่าง ‘แบงก์จีน’ ที่เร่งขายหนี้เสีย

 

Bank of Gansu ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างแบงก์ของจีนที่จัดการประมูล ‘หนี้เสีย’ ถึง 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปีที่แล้ว โดยธนาคารได้ขายสินเชื่อด้อยคุณภาพไปถึง 2.74 พันล้านหยวน หรือคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของ NPL โดยรวม ณ สิ้นปี 2021

 

โดยในรายงานประจำปี Bank of Gansu บันทึกผลขาดทุนถึง 1.48 พันล้านหยวนจากการขาย NPL โดยกล่าวว่า ทำไปเพื่อบรรเทาแรงกดดันที่มีอยู่ต่อสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

 

แม้จะขายหนี้เสียทิ้งไปบ้างแล้ว แต่ NPL ของธนาคารก็อยู่ที่ 4.19 พันล้านหยวน ณ สิ้นปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปี 2021 อย่างไรก็ตามอัตราส่วน NPL ของธนาคารก็ลดลง 0.04% เหลือเป็น 2% เนื่องจากสินเชื่อโดยรวมเพิ่มขึ้น 6%

 

โดย Liu Qing ประธาน Bank of Gansu กล่าวในแถลงการณ์ว่า ธนาคารซึ่งมีกำไรสุทธิประจำปีอยู่ที่ 600 ล้านหยวน ยังมีธุรกิจที่มั่นคง แข็งแกร่ง และมีโมเมนตัมที่ดี

 

หนี้เสียส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคอสังหา


โดยแบงก์จีน 30 แห่งที่ต้องรายงานผลประกอบการประจำปีภายในเส้นตายเดือนมีนาคม (ยกเว้น Bank of Jinzhou ที่รายงานไม่ทัน) รายงานว่า มี NPL เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านหยวน ขณะที่มีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น 12% อยู่ที่ 124.26 ล้านล้านหยวน

 

โดยในจำนวนนี้มีแบงก์จีน 28 แห่งที่แจ้งว่าหนี้เสียด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบจากปีก่อนอยู่ที่ 2.64 แสนล้านหยวน สะท้อนว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

กูรูเชื่อธนาคารจีนมีเสถียรภาพเนื่องจากรัฐหนุนหลัง

 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของภาคธนาคารจีนยังถูกจำกัดไว้ โดยความเชื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะคอยช่วยเหลือหากประสบปัญหา

 

ตัวอย่างเช่น Zhongyuan Bank ที่รายงานว่า NPL เพิ่มขึ้น 56% เป็น 1.319 หมื่นล้านหยวน โดยมีหนี้อสังหาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า หลังจากนั้น Zhongyuan Asset Management ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเหอหนาน จึงได้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมูลค่า 2.6 หมื่นล้านหยวนในราคาลดพิเศษ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X