×

จีนผ่าน ‘มติประวัติศาสตร์’ ปูทางสีจิ้นผิงครองอำนาจยาวนาน

12.11.2021
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่าน ‘มติประวัติศาสตร์’ ซึ่งอาจปูทางให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงครองอำนาจต่อสมัยที่ 3 (รวม 15 ปี) หรืออาจนานกว่านั้น ขณะที่นักวิเคราะห์ในต่างประเทศบางคนมองว่า นี่อาจเปิดโอกาสให้สีจิ้นผิงได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศไปตลอดชีวิต

 

เป็นไปตามคาดหมาย เมื่อการประชุมใหญ่แบบเต็มคณะครั้งที่ 6 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ประกาศความสำเร็จของพรรคในการนำพาประเทศจีนในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคต

 

ในอดีตมีการผ่านมติลักษณะดังกล่าวเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือในยุคของประธานเหมาเจ๋อตุง ในปี 1945 และครั้งที่ 2 คือ เติ้งเสี่ยวผิง ในปี 1981 ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นการเสริมสร้างสถานะของสีจิ้นผิงให้เทียบเท่าเหมาเจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเติ้งเสี่ยวผิง ผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากประธานเหมา

 

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า มติประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นความพยายามล่าสุดของสีจิ้นผิงในการลบล้างการกระจายอำนาจที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่สมัยของเติ้งเสี่ยวผิงและเจียงเจ๋อหมิน และเป็นสัญญาณว่าจีนอาจย้อนกลับไปสู่ ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ หลังสีจิ้นผิงเดินหน้ากระชับอำนาจมานานหลายปี

 

สำหรับการประชุมที่เพิ่งปิดฉากไปนี้ เป็นการประชุมของสมาชิกคณะกรรมการกลางชุดที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีมากกว่า 370 คน โดยถือเป็นก้าวย่างสำคัญก้าวแรกก่อนที่สภาแห่งชาติจะประชุมกันในปีหน้า ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการประกาศรับรองให้สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ในปี 2018 จีนได้แก้กฎหมายที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ 2 สมัย

 

สิ่งที่ทำให้มติประวัติศาสตร์ดูมีความสำคัญนั้นเป็นเพราะสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งเหมาเจ๋อตุงและเติ้งเสี่ยวผิงต่างใช้เป็นหนทางในการแก้ไขสิ่งที่มองว่าผิดพลาดในอดีต โดยครั้งแรกที่ประกาศในที่ประชุมใหญ่พรรคเมื่อปี 1945 นั้นได้ช่วยให้เหมาเจ๋อตุงรวบรวมความเป็นผู้นำ ซึ่งทำให้เขามีอำนาจเต็มที่ในตอนที่ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949

 

ส่วนครั้งที่ 2 หลังเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 1978 เขาผลักดันมติในปี 1981 หลังจากที่เติ้งได้วิจารณ์ความผิดพลาดของเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976 ซึ่งมติคราวนั้นได้นำไปสู่การวางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มติครั้งนี้อาจแตกต่างจากสองครั้งก่อน เพราะสีจิ้นผิงจะตอกย้ำแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของเขา

 

ภาพ: Lintao Zhang / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X