×

‘โลกสองใบ’ ของจีนในยุโรป: EV สงครามการค้า และแชมเปญ

09.05.2024
  • LOADING...

จากปารีสสู่เบลเกรด ต่อด้วยบูดาเปสต์ ทริป 6 วันของสีจิ้นผิง แม้อยู่ในภาคพื้นทวีปเดียวกันบนแผ่นดินยุโรป แต่กลับปกคลุมด้วยบรรยากาศที่ต่างกันคนละขั้ว ราวกับว่าอยู่ในโลกคู่ขนานก็ไม่ผิดนัก

 

ที่เมืองหลวงของฝรั่งเศส จุดหมายแรกของทริปยุโรปในรอบ 5 ปีของผู้นำจีน แม้ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่วังปาแลเดอเลลีเซ ตามด้วยงานเลี้ยงรับรองหรูหราที่พิรินีส์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศโดยรวมมีความตึงเครียดจากม่านหมอกของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป (EU) ตึงเครียดถึงขั้นว่าจีนกับ EU อาจห้ำหั่นกันด้วยสงครามการค้า (Trade War) แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งก็ไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าทั่วโลก

 

ในการประชุมเครียดกับสีจิ้นผิงที่ปารีส อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มีสำนักงานอยู่ในบรัสเซลส์ ใช้โอกาสนี้กดดันให้จีนปรับปรุงการค้าสองฝ่ายให้เป็นธรรมมากขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลจีนอาจใช้วิธีการอุดหนุนสินค้าส่งออก (Subsidy) จนทำให้สินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเหล็กของจีนทะลักเข้าสู่ยุโรปจนล้นตลาด รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์การแพทย์ด้วย ซึ่ง EU ขู่ตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีนเพื่อตอบโต้ 

 

ดูเหมือนยุโรปก็คาดหวังให้มาครงใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับสีจิ้นผิงพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสก็พยายามโน้มน้าวให้จีนช่วยลดปัญหาเรื่องดุลการค้ากับ EU อย่างไรก็ตามสีจิ้นผิงไม่ยอมรับว่าปัญหาสินค้าจีนล้นตลาดมาจากความพยายามระบายสินค้าส่วนเกินของตลาดจีน แต่ผู้นำจีนก็ยังแง้มประตูไว้ เปิดทางให้มีการเจรจาระดับสูงเพื่อสะสางข้อพิพาทด้านการค้าที่มีอยู่ในอนาคต

 

หากมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากยุโรปยกระดับขึ้น จีนก็พร้อมเอาคืนด้วยกำแพงภาษีต่อบรั่นดีจากยุโรป ซึ่งคนที่เดือดร้อนใหญ่หลวงก็หนีไม่พ้นฝรั่งเศสในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ขณะที่บรั่นดีเป็นเครื่องดื่มประเภทสุราที่จีนนำเข้ามากที่สุด

 

ไม่เพียงแต่ข้อขัดแย้งที่ยังหาทางสะสางกันไม่ได้ ดีลการค้าที่ผู้นำฝรั่งเศสหมายมั่นปั้นมือให้เกิดขึ้นในทริปสีจิ้นผิงรอบนี้ก็ดูไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก นอกเหนือจากข้อตกลงเพิ่มความร่วมมือในเซ็กเตอร์พลังงาน การคมนาคม และการเงินที่ดูเป็นเชิงสัญลักษณ์แล้ว ดีลที่เป็นความหวังอย่างคำสั่งซื้อเครื่องบิน Airbus นั้นกลับยังไม่เกิดขึ้น

 

นอกจากปมการค้าแล้ว ความสัมพันธ์ปักกิ่ง-บรัสเซลส์ยังมึนตึงลงในช่วงหลัง จากสาเหตุสงครามในยูเครนที่ปัจจุบันยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุด โดยที่ยุโรปเชื่อว่าจีนมีส่วนสนับสนุนด้านอาวุธให้รัสเซียเพื่อนำไปทำสงครามกับยูเครน แม้จีนยืนกรานมาตลอดว่าตนวางตัวเป็นกลางต่อความขัดแย้งนี้ก็ตาม 

 

แต่มาครงที่รับบทคนคอยประสานก็คาดหวังว่าจะอาศัยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้นำจีนกับรัสเซีย ช่วยเกลี้ยกล่อมให้วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งมีโปรแกรมเยือนปักกิ่งในเดือนนี้ ยอมยุติสงคราม แม้ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้ยากก็ตามที

 

นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่าทริปนี้เป็นชัยชนะของสีจิ้นผิงและจีน เพราะพวกเขายังรักษาภาพการเป็นผู้กุมชะตาโลกไว้ได้โดยที่ยังไม่เสียอะไร ในขณะที่ยุโรปยังต้องขอให้จีนช่วยแก้ปัญหาของยุโรปในยูเครน รวมถึงขอให้จีนยอมโอนอ่อนแก้ปัญหารถ EV จีนล้นตลาด

 

แต่จีนตระหนักดีว่าผลการสอบสวนเรื่องรถ EV อาจไม่เป็นใจให้จีน เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร บวกกับความไม่แน่นอนทางการค้าที่ยึดโยงกับภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การพยายามลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของยุโรป จีนก็อยู่เฉยไม่ได้เช่นกัน ในยามที่พวกเขาก็ต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมา หลังจีนกระเสือกกระสนอยู่นานจากผลกระทบล็อกดาวน์ช่วงโควิด และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดจนเศรษฐกิจยวบลงในช่วงหลายปีมานี้

 

จากปารีสไกลออกไปราว 1,400 กิโลเมตร สีจิ้นผิงได้รับการ ‘ปูพรมแดง’ ต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิชของเซอร์เบีย ในกรุงเบลเกรด ซึ่งเป็นจุดหมายแห่งที่ 2 ของผู้นำจีน โดยระหว่างที่อยู่ในน่านฟ้าเซอร์เบีย เขาได้รับการบินอารักขาจากเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ของกองทัพอากาศด้วย

 

การไปเยือนของสีจิ้นผิงเกิดขึ้นในห้วงเวลาครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ที่สถานทูตจีนในกรุงเบลเกรดถูกโจมตีโดยกลุ่ม NATO ในความพยายามที่จะหยุดยั้งสโลโบดัน มิโลเซวิช ประธานาธิบดียูโกสลาเวียในเวลานั้นไม่ให้กวาดล้างชนชาติแอลเบเนียในคอซอวอ ซึ่งการบอมบ์สถานทูตครั้งนั้นทำให้นักข่าวจีนเสียชีวิต 3 คน จนเกิดความตึงเครียดทางการทูตขึ้น และ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นต้องออกมาขอโทษ

 

สีจิ้นผิงใช้เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนรอยแผลเป็นร่วมกันของจีนและเซอร์เบียเพื่อคอย ‘ย้ำเตือน’ ไม่ให้ลืมเหตุการณ์ในวันนั้น และป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอย โดยในบทความที่ผู้นำจีนเขียนลงเว็บไซต์ Politika ของเซอร์เบียบอกด้วยว่า มิตรภาพของจีนและเซอร์เบียอาบโชกไปด้วยเลือดร่วมกัน และสองชาติร่วมมือใกล้ชิดขึ้นนับตั้งแต่การเยือนครั้งหลังสุดของเขาเมื่อ 8 ปีก่อน

 

ที่รัฐคาบสมุทรบอลข่านแห่งนี้เอง สีจิ้นผิงเล็งปักหมุดเพิ่มการลงทุนจากจีน โดยมีการเจรจาดีลการค้ากับผู้นำเซอร์เบียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่ข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสองประเทศจะเริ่มมีผลในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งจากการลงนามข้อตกลง 18 ฉบับในระหว่างที่วูซิชเยือนปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว

 

ที่น่าสนใจคือเซอร์เบียตัดสินใจทำ FTA กับจีน ซึ่งแตกแถวจากแนวทาง EU และนั่นก็ส่งผลให้โอกาสเข้าร่วม EU ของเซอร์เบียลดน้อยลงไปอีก เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการสมัครสมาชิก นั่นหมายความว่า เซอร์เบียกำลังผละหนีจากยุโรปสู่อ้อมกอดของปักกิ่ง และปลายทางที่อาจถลำไปอยู่ใต้อิทธิพลจีนมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ปัจจุบันจีนทำเหมืองและตั้งโรงงานหลายแห่งทั่วประเทศเซอร์เบีย และปล่อยกู้จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ให้เซอร์เบียไปสร้างถนนหนทาง สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จากคู่ค้าสำคัญ เซอร์เบียกำลังจะกลายเป็นฮับจีนตรงปากประตูทางเข้า EU

 

ต่อจากเซอร์เบีย สีจิ้นผิงปิดท้ายทริปด้วยการแลนดิ้งที่ฮังการี อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของจีนในยุโรปและ EU ซึ่งที่นั่นเขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน และการคุ้มกันจากเครื่องบินรบหลังบินเข้าน่านฟ้าเหมือนๆ กัน

 

ทั้งเซอร์เบียและฮังการีล้วนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ขานรับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของสีจิ้นผิง เมกะโปรเจกต์ที่หวังสร้างท่าเรือ เครือข่ายทางรถไฟ และโรงไฟฟ้ากระจายไปทั่วโลกเพื่อขยายซอฟต์พาวเวอร์และกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการที่ตะวันตกมองว่าเป็นหลุมพรางสู่กับดักหนี้ที่จีนวางไว้

 

ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนโดยตรงของจีนในเซอร์เบียและฮังการีรวมกันมากกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.9 แสนล้านบาท) มีโครงการมากมายผุดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเบลเกรดและบูดาเปสต์ 

 

สำหรับฮังการีนั้น ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนดีเรื่อยมานับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1949 และยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในปี 2017 แถมจีนยังเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตรถ EV แห่งแรกใน EU ในฮังการีด้วย

 

การมารอบนี้ของสีจิ้นผิงยังมีการเซ็นข้อตกลงหลายฉบับที่มุ่งขยาย Belt and Road ในฮังการี ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคพลังงานมูลค่ามากมายมหาศาล โดยจีนเล็งเห็นความสำคัญของฮังการีในฐานะหมุดเชื่อมต่อจากยุโรปกลางไปสู่ยุโรปตะวันตก

 

ทริป 6 วันของสีจิ้นผิง ด้านหนึ่งเป็นความพยายามของจีนในการฉายภาพให้เห็นสองทางเลือก ทางเลือกหนึ่งที่นำไปสู่โอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ กับอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจนำไปสู่ทางตัน โดยในบทบรรณาธิการสื่อกระบอกเสียงคอมมิวนิสต์จีนอย่าง Global Times เตือนว่า ยุโรปควรเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายโดยไม่ถูกควบคุมจากมือที่สาม ซึ่งแม้ไม่เอ่ยชื่อประเทศมาตรงๆ แต่ก็ชัดเจนว่าหมายถึงสหรัฐฯ  

 

แต่ในมุมมองตะวันตกอาจมองทริปนี้ว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง อย่างเช่น กาเบรียล เอสโคบาร์ ทูตสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตกที่มองว่า สีจิ้นผิงพยายามสร้างความแตกแยกในหมู่ประเทศยุโรป 

 

การเยือนฝรั่งเศสของสีจิ้นผิงในเวลานี้ นอกจากเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของความสัมพันธ์จีน-ฝรั่งเศสแล้ว ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีน เทรนด์ลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างสองขั้วอำนาจกลายเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้น โดยเฉพาะห่วงโซ่เทคโนโลยีที่ยุโรปเองก็มองไปในทิศทางเดียวกับวอชิงตันว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่จีนก็ต้องการ ‘เพื่อน’ ในวงคู่ขัดแย้งมาอยู่ใน Circle ตัวเองเพื่อรักษาช่องทางการสื่อสารไว้ สีจิ้นผิงพยายามชี้ให้เห็นว่า แม้มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหายุโรปที่ไม่ตรงกันในหลายเรื่อง แต่จีนกับฝรั่งเศสก็เป็นเพื่อนที่พูดคุยกันแบบเปิดอกได้ ซึ่งก็ไม่ปิดโอกาสที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกในอนาคต

 

การจิบไวน์ชิมแชมเปญของมาครงและสีจิ้นผิงรอบนี้จึงมีความหมายและมีความลึกซึ้งกว่าที่เคย

 

ในระหว่างขึ้นพูดในงานเลี้ยงต้อนรับที่ปาแลเดอเลลีเซ สีจิ้นผิงย้ำว่าจีนและฝรั่งเศสเป็น ‘เพื่อนที่พิเศษ’ ความสัมพันธ์ของสองชาติเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษหากเทียบกับบรรดาความสัมพันธ์กับประเทศใหญ่ๆ 

 

ทั้ง EU และจีนต่างยอมรับว่า ยุโรปกำลังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย จีนเองก็ต้องอาศัยคู่ค้าที่สำคัญอย่าง EU แต่ทางเลือกของยุโรปเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางแรงบีบคั้นทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่จีนยังเหลือพื้นที่ในกระดานให้เลือกเดินหมากได้มากกว่า 

 

ณ มุมหนึ่งของทวีปยุโรป ภาพไฮไลต์ข่าวจับไปที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวปักหลักถือป้ายประท้วงกลางกรุงปารีส เพื่อส่งสารถึงสีจิ้นผิงและจีนเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในทิเบต บวกด้วยภาพบรรยากาศอึมครึมจากแรงกดดันด้านการค้าและสงครามยูเครนจากยุโรป แต่ในอีกฟากหนึ่ง ธงชาติจีนผืนยักษ์แขวนอยู่บนตึกระฟ้าตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางจากสนามบินถึงตัวเมือง และมีประชาชนโบกธงเปล่งเสียงเชียร์ “จีน-เซอร์เบีย” ตลอดสองข้างทางในกรุงเบลเกรด เช่นเดียวกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่เหมือนฉายภาพซ้ำอีกครั้งในบูดาเปสต์ เป็นภูมิทัศน์ที่ต่างกันสำหรับผู้นำจีน ขณะที่ผู้เล่นอื่นๆ กำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ภาพ: Getty Images, AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising