SCB CIO แนะ รอจับตารายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากที่ประชุม China’s Third Plenum และน่าจะเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาในสัปดาห์หน้า คาดว่าจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์กับการบริโภคที่มีปัญหา
ชาตรี โรจนอาภา CFA, FRM Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า การประชุม China’s Third Plenum ของจีนที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนอีกครั้งในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า
โดยกรอบการประชุมหารือของการประชุม China’s Third Plenum ในรอบนี้จะพูดคุยใน 2 หัวข้อหลักคือ
-
การเติบโตและโอกาสของเศรษฐกิจ
มุมมองของรัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจยังต้องการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาชนบทเพื่อกระจายความเจริญให้มีความทั่วถึงไปยังภาคชนบท โดยพูดถึงและเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เช่น ผ่านนโยบายการปฏิรูปที่ดิน
นอกจากนี้ยังพูดถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านของการผลิตสินค้ากลุ่มไฮเทคโนโลยี รวมถึงในกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ
-
ความเสี่ยงของเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงของปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงปัญหาหนี้ของสถาบันการเงินขนาดกลางและขนาดเล็กที่รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน
นอกจากนี้มีความกังวลของภาคซัพพลายเชนของจีนที่มีความเสี่ยงจะถูกดิสรัปชัน รวมทั้งหารือถึงความเสี่ยงในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป
ทั้งนี้ประชุม China’s Third Plenum ครั้งนี้ต้องการการสร้างความสมดุลทั้ง 2 ด้านดังกล่าว โดยพูดถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงของจีน รวมทั้งหารือถึงการจัดสรรทรัพยากรของจีนเอง โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมเข้ามาใช้กลไกตลาดทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสังคมควบคู่กันไปด้วย
จีนหวั่น GDP โตต่ำกว่าเป้า
อย่างไรก็ดี การประชุม China’s Third Plenum ในรอบนี้มีความแตกต่างจากรอบอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากในที่ประชุมครั้งนี้มีการหารือถึงเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งการประชุมครั้งที่ผ่านมาไม่ได้หารือในประเด็นนี้
โดยที่ประชุมหารือกำหนดว่าเศรษฐกิจของจีนจะต้องเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย สะท้อนว่ารัฐบาลของจีนมีความกังวลว่าเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ที่ระดับ 5% ต่อปี อาจทำได้ไม่ตามเป้าที่เคยตั้งไว้ ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกนโยบายช่วยเหลือทั้งในด้านนโยบายการคลังและการเงินต่างๆ ออกมาเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของจีนให้สามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ยังพูดถึงความกังวลในภาคการค้าของโลก ซึ่งอาจเกิดการดิสรัปชันจากภายนอกประเทศ เป็นปัจจัยกดดันต่อเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนด้วย
ชาตรีกล่าวต่อว่า หากดูข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 พบว่าในไตรมาส 1/24 GDP จีนขยายตัว 5.3% ส่วนไตรมาส 2/24 ขยายตัว 4.7% ส่งผลให้ GDP ของจีนช่วงครึ่งแรกในปี 2024 เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5% ซึ่งยังเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้
เศรษฐกิจจีนครึ่งปีหลังเสี่ยงชะลอตัว
เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีความเสี่ยงที่จะเห็นการชะลอตัวลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หากไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมากระตุ้นก็มีความเสี่ยงที่ทั้งปี GDP ของจีนอาจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ระดับ 5% ดังนั้นคาดว่ารัฐบาลจีนมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าภายหลังจากการประชุม China’s Third Plenum ส่งผลให้วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดดอกเบี้ยลงทันที 0.1% ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดซึ่งไม่คาดคิดว่าจีนจะลดดอกเบี้ยมาก่อน จึงชี้ให้เห็นว่าจีนกลับมาให้ความสำคัญโดยเน้นกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดีมาตรการที่ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันที่ทำอยู่ มองว่าอาจยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา เนื่องจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการมาตรการการแก้ไขอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าที่ออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ในที่ประชุม China’s Third Plenum ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลถึงมาตรการดังกล่าวออกมา
ทั้งนี้ยังต้องติดตามรายงานฉบับเต็มที่กำลังจะออกมาในอีกสัปดาห์ข้างหน้าว่าจะมีรายละเอียดที่สำคัญของมาตรการกระตุ้นธุรกิจต่างๆ ออกมาอย่างไรบ้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงคาดว่าน่าจะมีการออกนโยบายเพื่อใช้กระตุ้นภาคการบริโภคที่ชะลอตัวค่อนข้างมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
หุ้นจีนพักฐาน ขยับขึ้นยาก
ในฝั่งของนักลงทุนมีความคาดหวังที่ค่อนข้างต่ำกับการประชุม China’s Third Plenum ในรอบที่ผ่านมาของจีน เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของแผนการที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา โดยรายงานการประชุมดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายแบบกว้าง ซึ่งยังต้องรอติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมทั้งยังต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
ชาตรีประเมินว่าปัจจุบันตลาดหุ้นของจีนยังอยู่ในช่วงของการพักฐาน ประกอบกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในช่วงของการชะลอตัว ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้
ด้านตลาดตราสารหนี้ของจีนหรือพันธบัตรรัฐบาลของจีนยังมีทิศทางที่ดีจากอานิสงส์ของแนวโน้มดอกเบี้ยของจีนที่ลดลง แต่ต้องมีความระมัดระวังในตราสารหนี้ของภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นการทยอยปิดชำระหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
เงินหยวนเสี่ยงอ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจ
ด้านค่าเงินหยวนมองว่ามีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่อง เพราะปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน ว่าการขยายตัวของ GDP เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่
ส่วนภาคธุรกิจจะพบว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจหลักที่สำคัญคือ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มพลังงานสะอาด และกลุ่มการผลิตอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่น กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งความหวังอยู่ที่ปัจจัยที่รัฐบาลจะออกนโยบายเข้ามากระตุ้นในกลุ่มดังกล่าว
ปัจจุบันหากพิจารณาราคาหุ้นของตลาดจีน ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก แต่มีคำแนะนำให้ Wait & See ในตลาดหุ้นจีน โดยติดตามความชัดเจนของการประชุม Politburo ในสัปดาห์หน้า เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน
‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ กระตุ้นเศรษฐกิจไม่มาก
ส่วนกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของไทยที่มีความชัดเจน ประกาศวันลงทะเบียนและรายละเอียดต่างๆ ออกมา คาดว่าน่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ แต่วงเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ 4.5 แสนล้านบาท มีนักวิชาการประเมินผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อหน่วยเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มองไว้อาจขยายตัวไม่สูงมาก สามารถช่วยกระตุ้น GDP ได้ในระดับ 1-1.2% โดยยังต้องติดตามผลของการหมุนเวียนเงินจากโครงการนี้ว่าจะสามารถนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมด้วยหรือไม่
ดังนั้นภาพของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคมปีนี้ มองว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นหุ้นบางกลุ่มในตลาดหุ้นไทยได้เท่านั้น คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหรือค้าปลีก
นอกจากนี้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีข้อจำกัดในการใช้เงิน เพราะไม่สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้
โดยนักลงทุนยังตั้งข้อสงสัยว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะสามารถสร้างผลลัพธ์โดยตรงต่อตลาดหุ้นมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อ เพราะวงเงินจะสามารถนำมาใช้ได้จริงโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ในระยะสั้นประเด็นนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นต้องรอติดตามในแง่ของผลการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ตามมา และปัจจัยกระทบจากต่างประเทศในน้ำหนักที่มากกว่า