ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่วันสุดท้ายของสัปดาห์ทำการแรกในปี 2024 ปรากฏว่าตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่สุดในช่วงเปิดปีใหม่นี้คือ ‘หุ้นจีน’ จากข้อมูลของ Investing.com แสดงให้เห็นว่าดัชนี SZSE Component เป็นดัชนีที่ติดลบมากที่สุด -3.66% ณ วันที่ 5 มกราคม (เวลา 01.25 น.)
หากย้อนไปดูตั้งแต่ 1 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าดัชนี SZSE Component เป็นดัชนีหุ้นหลักของโลกที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากสุดเป็นอันดับ 2 ถึง -19.28% เป็นรองเพียงดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงที่ติดลบ -21.32%
ขณะที่ดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเซินเจิ้น ส่งผลให้ดัชนี CSI 300 หดตัวลงไป 11% ในปี 2023 และเปิดปีมานี้ยังลดลงไปต่อเนื่องอีกเกือบ 3% โดยหุ้นที่ปรับตัวลดลงไปมากที่สุด คือหนึ่งในบริษัทที่กำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Changan Automobile ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไป 11.53%
สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในปี 2024 น่าจะฟื้นตัวได้ ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีโอกาสจะทำได้ดีกว่าปี 2023
“แต่การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ไม่ใช่ครึ่งปีแรก” สรพลกล่าว
ย้อนไปเมื่อปี 2023 การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนทั้งในส่วนของการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินทำได้ไม่มากนัก คิดเป็นเพียง 60-70% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างในส่วนของนโยบายการเงินถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
“อัตราดอกเบี้ยจีนอยู่ที่ราว 2% ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ 5% หากจีนใช้นโยบายการเงินแรงจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าและเงินทุนไหลออก นอกจากนี้ยังมีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์”
สรพลกล่าวต่อว่า สิ่งที่จีนพยายามทำเมื่อปีก่อนคือการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศคิดเป็นเพียง 55% ของช่วงก่อนโควิด
มาในปีนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดขึ้นคือรัฐบาลจีนเพิ่มเป้าการขาดดุล ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดลงมากว่า 1% เป็นการเปิดช่องให้จีนใช้นโยบายการเงินได้มากขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งธนาคารกลางจีนออกนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน
“วิธีการนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะเป็นเหมือนการนำระเบิดเวลาจากอสังหามาใส่ในแบงก์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008”
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูในช่วงกลางปี หากไม่มีปัญหาเกิดขึ้น หุ้นจีนก็มีโอกาสจะฟื้นตัวได้แบบ V-Shape เพราะปัจจุบันหุ้นจีนลดลงมาอยู่ในระดับที่ P/E 8 เท่า และมี Earning Yield Gap สูงถึง 6% ซึ่งเป็นส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างดัชนี CSI 300 และพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี สะท้อนความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น ขณะที่ตัวเลขของไทยอยู่ที่ 3-4% ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ 0.5%
“ใครที่ถือหุ้นจีนอยู่ไม่ต้องคัต รอซื้อเพื่อถัวเฉลี่ยครึ่งปีหลัง” สรพลกล่าวทิ้งท้าย
รัฐบาลจีนเปิดตัวดัชนีใหม่ หวังพลิกฟื้นตลาด
ขณะที่ทางการจีนหวังจะพลิกฟื้นตลาดหุ้นที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ตลาดหุ้นจีนได้จัดทำดัชนีกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Blue-Chip) ขึ้นมาเพิ่มอีกหนึ่งดัชนีคือ CSI A50 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 มกราคม)โดยหวังจะกระตุ้นการสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เน้นหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อสอดรับกับวิสัยทัศน์ของประเทศที่ต้องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงของประเทศ
การออกดัชนีใหม่ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไหลออกจากดัชนี CSI 300
ดัชนีใหม่อย่าง CSI A50 ประกอบไปด้วยหุ้นอย่าง Kweichow Moutai บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดมากที่สุดของโลก บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่าง Contemporary Amperex Technology Co รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง Semiconductor Manufacturing International Corp และบริษัทยาอย่าง Jiangsu Hengrui Pharmaceuticals
Jason Lui หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ฝั่งเอเชียตะวันออกของ BNP Paribas กล่าวว่า “ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของหุ้นที่ไม่ได้สะท้อนออกมาผ่านดัชนีที่มีอยู่เดิม คุณอาจนึกถึง CSI A50 ในฐานะดัชนีกลุ่มหุ้นบลูชิป ซึ่งมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม”
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ดัชนี CSI A50 เปิดตัว ดัชนีปรับตัวลงไป 2.6% ถือเป็นความท้าทายของจีนสำหรับการพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นกลับมา
Lui กล่าวว่า “สำหรับเรา สเต็ปถัดไปคือการติดตามว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามายังดัชนี CSI A50 มากน้อยเพียงใด ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ แต่ในมุมมองของเรา นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นที่จะเลือกลงทุนในหุ้นจีน”
อ้างอิง: