จีนเผย การส่งออกในเดือนสิงหาคม ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 17 เดือน สะท้อนว่า ผู้ผลิตจีนเร่งระบายสินค้าก่อนถูกนานาประเทศตั้งกำแพงภาษี หวังดัน GDP โตเข้าเป้า 5% ขณะที่การนำเข้ากลับตำ่กว่าคาด เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ
วันนี้ (10 กันยายน) หน่วยงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า การส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคม ขยายตัว 8.7% นับเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 และสูงกว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ใน Reuters Poll
ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพียง 0.5% ในสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ใน Reuters Poll ที่ 2% ทำให้จีนเกินดุลการค้าโลกถึง 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในสิงหาคม เพิ่มขึ้นจาก 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์
Zhou Maohua นักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของธนาคาร China Everbright Bank กล่าวว่า “การเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการส่งออกและดุลการค้าที่เกินดุลนั้นดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนทั้งในไตรมาส 3 และทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกและสิ่งแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ยังซับซ้อน และการส่งออกของจีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย”
‘ส่งออก’ เครื่องยนต์ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวของรัฐบาลจีน
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่ 5% ต่อปี ท่ามกลางภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่หดตัวลงต่อเนื่อง หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนประสบกับความท้าทายจากวิกฤตในภาคอสังหาและราคาสินค้าหน้าโรงงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนว่าผู้ผลิตต่างแข่งกันตัดราคาสินค้า
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ออกมาเตือนว่า เป้าการเติบโตที่รัฐบาลปักกิ่งตั้งไว้มีความเสี่ยงที่จะออกมาตำ่กว่าคาด หากเศรษฐกิจจีนพึ่งพิงภาคการส่งออกมากจนเกินไป
นักวิเคราะห์ของ Nomura กล่าวว่า “การส่งออกที่แข็งแกร่งและต่อเนื่องอาจทำให้รัฐบาลจีนชะล่าใจที่จะออกมาตรการสนับสนุนนโยบายในระยะใกล้ โดยเรายังคาดว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่มากขึ้นในไตรมาสที่ 4”
ทั่วโลกตั้ง ‘กำแพงการค้า’ กดดันเป้า GDP จีน
นอกจากนี้การตั้งกำแพงการค้า (Trade Barriers) ของประเทศต่างๆ เพื่อสกัดสินค้าราคาถูกของจีนอาจกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้จีนมีโอกาสพลาดเป้า GDP ปีนี้ได้
ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเน้นย้ำเรื่องดุลการค้าอยู่หลายครั้ง ว่าเป็นหลักฐานว่าสหรัฐฯ ถูกจีนเอาเปรียบทางการค้า โดยในเดือนสิงหาคม พบว่าการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ เกินดุลอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม
ด้านเบลเยียมเองก็เริ่มออกนโยบายป้องกันการค้าเช่นกัน ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามเข้าเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอให้ช่วยผ่อนคลายกำแพงภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าของจีนลง ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าสักเท่าไร
ในเดือนที่ผ่านมา แคนาดาได้ประกาศตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 100% ในการนำเข้ารถไฟฟ้าของจีน และตั้งอีก 25% ในการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม
ด้านอินเดียกำลังวางแผนตั้งกำแพงภาษีบนการนำเข้าเหล็กจากจีน อินโดนีเซียเล็งตั้งกำแพงภาษีในการนำเข้าวัตถุสิ่งทอ และมาเลเซียได้ตรวจสอบการทุ่มตลาดการนำเข้าพลาสติกจากจีนและอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า การส่งออกของจีนจะสามารถฝ่าพายุกำแพงภาษีในรอบนี้ไปได้ เนื่องจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าเพิ่มความน่าดึงดูด และผู้ส่งออกยังพอมีช่องทางการเลี่ยงกำแพงภาษีอยู่
Zichuan Huang นักเศรษฐศาสตร์จีนของ Capital Economics กล่าวว่า “การส่งออกของจีนจะยังคงแข็งแกร่งในอีกหลายเดือนข้างหน้า แม้จะมีการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น เราไม่แน่ใจว่าการตั้งกำแพงภาษีขณะนี้จะสามารถยับยั้งผลท่ีแท้จริงการอ่อนค่าของเงินหยวนได้หรือไม่”
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/china/chinas-exports-top-forecasts-imports-disappoint-amid-depressed-domestic-demand-2024-09-10/
- https://asia.nikkei.com/Economy/Trade/China-exports-remain-robust-in-August-while-imports-soften