×

ภาพรวมเศรษฐกิจจีนครึ่งปี จีดีพีโต 6.3% มูลค่าแตะ 200 ล้านล้านบาท ภาคบริการโตสูงสุด 7%

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2019
  • LOADING...
China's economic growth

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ครึ่งปีแรกผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (GDP) มีมูลค่ามากกว่า 45 ล้านล้านหยวน (ราว 202 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 6.4% และไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 6.2%

 

ภาคการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2.3 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบปีต่อปี ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มเกือบ 18 ล้านล้านหยวน (ราว 80 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.8% ส่วนภาคบริการมีมูลค่าเพิ่ม 24.8 ล้านล้านหยวน (ราว 111 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7%

 

ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจมีประสิทธิผลอย่างโดดเด่น มีการบังคับใช้มาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียม ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มพัฒนาอย่างอย่างมั่นคงและมีทิศทางที่ดี และมีความคืบหน้าด้านการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีแรกปรากฏเห็นเด่นชัดถึง 8 ประการ อันได้แก่

 

1. เศรษฐกิจโดยรวมมีความมั่นคง หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนพัฒนาในกรอบที่เหมาะสม โดยรักษาแนวโน้มการพัฒนาอย่างมั่นคงและมีทิศทางที่ดีขึ้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักๆ ล้วนเป็นไปตามเป้าหมาย

 

2. อัตราการจ้างงานและราคาสินค้ามีความคงที่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมมีการเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่ 5.97 ล้านตำแหน่งในระดับเมืองและระดับตำบล บรรลุเป้าหมายประจำปี ซึ่งกำหนดไว้ที่ 54% ดัชนีราคาผู้บริโภคของครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบปีต่อปี ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบปีต่อปี

 

3. โครงสร้างเศรษฐกิจได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมบริการเติบโตอย่างมั่นคง อัตราเติบโตของกำไรภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนพฤษภาคมพลิกจากลบเป็นบวก อัตราเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์สูงกว่าอุตสาหกรรมทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังคาดว่า จะมีการเก็บเกี่ยวธัญญาหารฤดูร้อนได้อย่างอุดมสมบูรณ์

 

4. การลดภาษีและลดค่าธรรมเนียมจำนวนมากอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ มาตรการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม ปฏิรูปภาษีรายได้ส่วนบุคคล และนโยบายลดค่าธรรมเนียมกำลังเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มูลค่าการลดภาษีสะสมทั้งประเทศอยู่ที่ 816 แสนล้านหยวน (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) ส่วนค่าประกันเบี้ยยังชีพคนชรา ประกันการว่างงาน และประกันอุบัติเหตุจากการทำงานที่ชำระโดยลูกจ้างบริษัทลดลงไปเกิน 128 แสนล้านหยวน (ราว 574 แสนล้านบาท)

 

5. สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกระตุ้นพลังของตลาดและพลังสร้างสรรค์ของสังคม เดือนมกราคม-พฤษภาคมมีบริษัทจดทะเบียนใหม่ 2.86 ล้านราย เฉลี่ย 18,900 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการประเภทบุคคลธรรมดาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบปีต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของการสร้างธุรกิจและความเชื่อมั่นต่อตลาด

 

6. ภาคการอุปโภคบริโภคภายในประเทศยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ยอดค้าปลีกสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนพฤษภาคม ส่วนในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ยอดค้าปลีกสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น 8.1% ขยายจากช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 0.1% การจับจ่ายสินค้าโภคภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพ มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า มาตรการส่งเสริมการบริโภคกำลังสัมฤทธิ์ผลทีละน้อย

 

7. การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพิ่มความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนเพื่อนวัตกรรม การยื่นขอจดสิทธิบัตร การลงทุนเพื่อการวิจัยพื้นฐานและสนับสนุนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมใหม่ อย่างเช่น เทคโนโลยี 5G ก้าวหน้าอย่างมีเสถียรภาพ มีการเร่งปฏิรูปและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

8. เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินในพื้นที่สำคัญและส่วนที่เป็นจุดอ่อน ข้อมูลช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมระบุว่า ดุลการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กเติบโต 21% และเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว และสูงกว่าอัตราเติบโตของการปล่อยเงินกู้ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันถึง 7.6% การปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมและเล็กของธนาคารรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง เพิ่มขึ้น 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เข้าใกล้เป้าหมายรายปีที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 30%

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม วิสาหกิจเอกชนกู้เงินใหม่เพิ่มขึ้น 1.32 ล้านล้านหยวน (ราว 5.9 ล้านล้านบาท) สูงขึ้น 4.07 แสนล้านหยวน (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X