สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อของจีนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 2.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 1.8%
“ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นคือ ราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการขนส่ง และการกักตุนอาหารในช่วงที่ทางการใช้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มข้น” นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุ
รัฐบาลจีนเริ่มใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและขนส่งสินค้าในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น
โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาผักสดของจีนปรับเพิ่มขึ้นถึง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาผลไม้สดก็ปรับเพิ่มขึ้น 14.1% และราคาเนื้อหมูซึ่งมีน้ำหนักมากในตระกร้าเงินเฟ้อของจีนปรับเพิ่มขึ้น 1.5%
ขณะเดียวกันเงินเฟ้อของจีนยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลกจากสงครามในยูเครน โดยต้นทุนการขนส่งสินค้าของจีนปรับเพิ่มขึ้นถึง 28.4% จากปีก่อนหน้า
ทางการจีนยังเชื่อว่าเงินเฟ้อในระยะสั้นยังมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีกจากปัจจัยด้านฐานที่ต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ดียังมองว่าในระยะปานกลางเงินเฟ้อจะค่อยๆ ชะลอตัวลงตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
อ้างอิง: