ภายใต้แรงกดดันของภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการผลักดันนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ “Decoupling” หรือการแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลายเป็นคำสำคัญในพจนานุกรมของโลกธุรกิจ รัฐบาล และผู้วางแผนเชิงยุทธศาสตร์ทั่วโลก ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของการแยกตัวนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจุดชนวนสงครามภาษีกับจีนและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของ Supply Chain ในบริบทโลกใหม่ การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมุ่งไปทิศทางไหน และอะไรคือบทบาทและโอกาสของไทย
Decoupling ยังไม่เกิดเต็มรูปแบบ แต่กำลังค่อยๆ ขยายตัว
ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการพูดถึง Decoupling หรือการแยกห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงการเมืองและสื่อระดับโลก แต่ความเห็นจากหลายผู้เชี่ยวชาญ มองว่าความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของสองมหาอำนาจนั้น ในความเป็นจริงนอกจากจะไม่น้อยลงแล้ว ยังคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ เคออวี่ จิน(Keyu Jin) จาก London School of Economics (LSE) ให้ความเห็นเรื่องนี้ บนเวทีหารือ ‘China’s Economy: Analysed’ ในการประชุม Annual Meeting of the New Champions 2025 หรือ Summer Davos ณ เมืองเทียนจิน ประเทศจีน โดยย้ำว่าการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนและโลกไม่ได้ ‘ลดลง’ แต่กำลัง ‘ปรับทิศทางใหม่’ ผ่านพาร์ตเนอร์ทางอ้อม
รศ.ดร.อักษรศรี วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ในแนวทางเดียวกัน โดยเห็นว่าในภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ การ Decoupling ยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เพราะแต่ละประเทศยังคงพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและซัพพลายเชนที่ไม่ได้ถูกตัดขาดจากกันโดยเด็ดขาด
เหตุผลหลัก เนื่องจากมีต้นทุนในการทำ Decoupling หรือการแยกตัวออกจากห่วงโซ่การผลิตที่เป็นอยู่ไม่ง่าย การจะย้ายโรงงาน ต้องใช้ทั้งเงินทุนและใช้เวลา และในกรณีที่ทุนต่างชาติยังลงทุนในจีน ไม่ย้ายออกจากจีน ก็เพราะจีนมีสิ่งที่ยังคงตอบโจทย์ทางธุรกิจ ทั้งในแง่แรงงานจีนที่มีทักษะสูง มีวิศวกรจีนเก่งๆ ที่เงินเดือนไม่สูงมากเหมือนในสหรัฐฯ และจีนมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจนคือ กรณีของเจนเซน หวง (Jensen Huang) ซีอีโอของ NVIDIA ที่ยังคงแสดงออกชัดเจนถึงการให้ความสนใจตลาดจีน แม้สหรัฐฯ จะมีข้อจำกัดเรื่องการส่งออกชิปขั้นสูง โดยล่าสุด เขาได้เดินทางไปร่วมงาน China International Supply Chain Expo (CISCE) ในปักกิ่ง และยังชื่นชมการพัฒนา AI แบบ open source ของจีน หรือเทสลาก็ยังตั้งโรงงานอยู่ในจีน ไม่ได้ย้ายกลับสหรัฐฯ อย่างที่ทรัมป์ต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า ในโลกธุรกิจ “ใครๆ ก็ไม่กล้าทิ้งตลาดจีน”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อักษรศรี เห็นว่า แม้จะยังไม่เกิดการ Decoupling แบบแยกขาดจากกันในขณะนี้ แต่แนวโน้มในอนาคต ก็มีหลายปัจจัย ค่อยๆ ผลักให้เกิดการ Decoupling แยกห่างจากกันมากขึ้น ทั้งแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ยังมองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง ในขณะที่จีนเองก็พยายามลดการพึ่งพาจากสหรัฐฯ เช่นกัน
เทคและการเงิน คือ สองมิติที่จะเกิด Decoupling ชัดเจนขึ้น
ในมุมของ รศ.ดร.อักษรศรี แนวโน้มในอนาคต การแยกตัวระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่
Tech Decoupling : การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯ แบน Huawei และ SMIC ของจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะที่ จีนก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เน้น Tech Self-Reliance ลดการพึ่งพาเทคของต่างชาติ เช่น จีนคิดค้นระบบปฏิบัติการ Hongmeng OS หรือ HarmonyOS ที่พัฒนาโดย Huawei หรือการประกาศเป้าหมาย China Standard 2035 เพื่อที่จีนจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในเรื่องของ Next Generation Technology ต่างๆ ในระดับโลกภายในปี 2035
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ปัจจุบันเราใช้ระบบ GPS ของฝรั่งในการนำทาง แต่จีนใช้ระบบนำทางของตัวเอง คือ BDS Navigation System เพราะฉะนั้นเรื่องเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีแนวโน้มที่จะยิ่งแยกขาดจากกัน และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิด Decoupling ได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ
Financial Decoupling : ด้านการเงิน จีนเป็นฝ่ายที่พยายามลดการพึ่งพาระบบการเงินของตะวันตก และพัฒนาระบบของจีนเอง และธนาคารกลางจีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ จีนมุ่งลดการพึ่งพาดอลลาร์อย่างจริงจังและผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในประเทศต่างๆ เช่น การใช้เงินหยวนซื้อขายน้ำมัน ที่เราเรียกว่า Petro-yuan กับรัสเซียและบางส่วนกับซาอุฯ
นอกจากนี้ บริษัทจีนเริ่มไม่สนใจไปทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่จะไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นของจีนเองมากกว่า เช่น ตลาดหุ้นฮ่องกง หรือบางบริษัทจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีการ Delist ตัวเองออกมา เช่น PetroChina และ Sinopec เพราะรู้ว่าถ้าอยู่ต่อก็จะถูกบีบ ล่าสุด ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ก็ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ บีบให้ขาย TikTok ให้กับบริษัทอเมริกัน
กระบวนการ Decoupling เหล่านี้ชี้ว่า แม้ซัพพลายเชนดั้งเดิมจะยังพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่ แต่ “โครงสร้างใหม่” ของโลกเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี-การเงิน กำลังจะถูกแยกสายไปสู่สองระบบใหญ่ คือ ฝั่งสหรัฐฯ และชาติตะวันตก กับฝั่งจีนและกลุ่มพันธมิตรของจีน (เช่น BRICS)
โอกาสไทยมองหาเพื่อนใหม่
ไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทั้งจีนและสหรัฐฯ คือ คู่ค้าหลักของไทย จากท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ พยายามที่จะกดดันและนำมาตรการภาษีไปบีบประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า และทรัมป์ไม่พอใจที่หลายประเทศปล่อยให้สินค้าจีนมาสวมสิทธิ์การส่งออกไปสหรัฐฯ จึงใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาภาษีกับหลายประเทศ ในขณะที่ จีนเองก็ออกคำเตือนว่า ประเทศใดที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษี แล้วกระทบจีน ก็จะถูกจีนตอบโต้เช่นกัน
ในแง่นี้ ไทยจึงมีโอกาสถูกบีบจากทั้งสหรัฐฯ และจีน “สิ่งที่ไทยต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง คือ การหันไปเน้นนโยบายสร้างเพื่อน Make Friends ให้หลากหลายมากขึ้น ไทยต้องกระจายความเสี่ยง Diversify ไปคบหากับประเทศอื่นๆ ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพในโลกขั้วใต้ หรือ Global South เช่น ตะวันออกกลาง” รวมทั้งการไปเน้นตลาดประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นตลาดสำคัญของไทยเช่นกัน ทั้งตลาดในยุโรปและญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับตลาดยุโรป ไทยกำลังมีการเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปที่ต้องเร่งเจรจาให้สำเร็จ ล่าสุด เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็ใกล้จะบรรลุผลการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ในขณะที่ เวียดนามก็ทำ FTA กับ EU มาก่อนไทยหลายปี
“ไทยไม่ควรใช้โมเดลแบบเดิมๆ ที่พึ่งพาสหรัฐฯ หรือจีนมากเกินไป ไทยต้องกระจายความเสี่ยงให้มากกว่านี้ ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างแบบยกเครื่องครั้งใหญ่ โลกนี้ไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ หรือจีน ยังมีสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพอีกเยอะที่เราอาจจะเคยมองข้ามไป หรือไม่ได้จริงจังกับตลาดเหล่านั้นมากพอ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง มีเศรษฐีกำลังซื้อสูงและยินดีจ่ายเพื่อสินค้าคุณภาพสูง”
ในประเด็น Tech Decoupling และ Financial Decoupling รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า “ไทยเราก็ต้องเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง เพราะแนวโน้มที่จะมีการแยกขั้วในด้านเทคและการเงินจะชัดเจนขี้น น่าชื่นชมที่หลายหน่วยงานของไทยมีความตื่นตัวในด้านนี้มากขึ้น เช่น ด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มขยับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดี และมีการจับมือกับธนาคารกลางของจีนและฮ่องกง เพื่อทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน หรือ Wholesale CBDC (Central Bank Digital Currency)”
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการดึงฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ (Reshoring) หรือการย้ายไปผลิตในประเทศพันธมิตร (Friend-shoring) ในประเด็นนี้ รศ.ดร.อักษรศรี ชี้ว่า “แนวคิดของทรัมป์ที่จะบีบให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ นั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะในแง่ของธุรกิจแล้ว การตั้งโรงงานในสหรัฐฯ มีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ค่าแรงหรือเงินเดือนวิศวกรก็สูงลิ่ว ไม่คุ้มที่จะไปลงทุน แม้จะมีแรงกดดันทางการเมือง
ตัวอย่างเช่น Apple ก็ยังมีโรงงานอยู่ที่เวียดนาม หรือ Tesla ก็ยังตั้งโรงงานในจีน สองบิ๊กเทคอเมริกันนี้ก็ไม่สนใจสนองนโยบายนี้ของทรัมป์ ไม่สนใจที่จะย้ายกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ”
รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า “การที่ผู้ผลิตในหลายประเทศมีความเชื่อมโยงด้านซัพพลายเชนกับจีน หรือใช้จีนเป็นฐานการผลิตนั้น ไม่ใช่ว่า บริษัทเหล่านั้นจะชื่นชอบจีนหรือหลงรักจีน แต่เป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ การไปลงทุนในจีนช่วยตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสร้างความคุ้มค่าในการผลิต จีนมีปัจจัยต่างๆ พร้อม ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการตั้งโรงงานในสหรัฐฯ”
“ความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ที่จะดึงภาคการผลิตกลับไปสหรัฐฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย การบีบให้ประเทศต่างๆ ตัดขาดจากซัพพลายเชนของจีนก็เป็นไปได้ยาก ในมุมมองนักธุรกิจ ก็คือ ที่ไหนลงทุนแล้วคุ้มกว่า ต้นทุนต่ำกว่า มีตลาดรองรับ หรือตอบโจทย์ทางธุรกิจมากกว่า นักธุรกิจก็จะยังคงลงทุนที่นั่น”
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย แนวนโยบายที่ควรเน้น คือ การกระจายความเสี่ยง หรือการ ‘De-Risk’ ลดการพึ่งพาบางประเทศที่มากเกินไป ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเกี่ยวพันโยงใยกับทั้งสหรัฐฯ และจีนที่มากเกินไป ไทยต้องกระจายความเสี่ยงให้มากกว่านี้ เน้นกระจายตลาดไปยังคู่ค้าใหม่ๆ กระจายตลาดให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ประเทศในกลุ่ม Global South ที่มีศักยภาพ ตะวันออกกลางหรือตลาดยุโรปที่มีกำลังซื้อสูง
สงครามแยกขั้วกับผลกระทบห่วงโซ่อุปทาน
ประเด็นสถานการณ์โลกที่ร้อนแรงขึ้นและความขัดแย้งต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการเป็นห่วงโซ่การผลิตโลกของจีนอย่างไร รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า “ภัยคุกคามอันดับ 1 ในสายตาสหรัฐฯ คือ จีน ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงหวาดระแวงกับการเติบใหญ่ของจีน ทรัมป์ก็จะพยายามสกัดอิทธิพลจีนในทุกรูปแบบ และเชื่อว่า มาตรการภาษีคือเครื่องมือที่ทรงพลังในการจัดการกับจีน โดยการสร้างเงื่อนไขในการเจรจาภาษีกับประเทศต่างๆ ที่มุ่งเพื่อบีบให้ลดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับจีน”
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ง่าย ยังคงต้องรอดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ล่าสุด ในกรณีเวียดนามที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับจีนสูงมาก ทรัมป์จึงกดดันให้ทีมเจรจาของเวียดนามต้องยอมให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 40% ในกรณีของสินค้าที่มี transhipment จากประเทศอื่น ซึ่งก็คงจะหมายถึงสินค้าจีนที่ส่งผ่านจากเวียดนามไปตลาดสหรัฐฯ แล้วผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร จีนจะมีท่าทีอย่างไร เวียดนามจะลดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับจีนได้แค่ไหน ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป
เงินลงทุน FDI จะไหลไปทางไหน โอกาสของไทยคืออะไร?
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว ในแง่ของนักธุรกิจ การที่จะเลือกเข้าไป FDI ลงทุนทำการผลิตในประเทศไหน ก็ต้องพิจารณาว่า ประเทศเหล่านั้นตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจได้คุ้มค่าหรือไม่ มีตลาดรองรับหรือไม่ หรือตอบโจทย์ทางธุรกิจโดยรวมหรือไม่ มากกว่าที่จะไปลงทุนเพียงเพราะต้องการเอาใจทางการเมือง
ตัวอย่างเช่น กรณีเวียดนาม แม้จะปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Intel และ Apple ก็เลือกไปลงทุนในเวียดนาม ไม่สนใจว่าเวียดนามมีประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเวียดนามมีการเมืองนิ่ง มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีแรงงานที่ขยัน มีทรัพยากรมนุษย์ด้านไอที มีวิศวกรจำนวนมากที่เงินเดือนไม่สูง และมีนโยบายของรัฐเน้นดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งมีการทำ FTA กับหลายประเทศ เป็นต้น”
ในกรณีของไทย ถ้าต้องการให้ทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน FDI ก็ต้องสร้างจุดเด่นที่ชัดเจน ‘สร้างเสน่ห์เฉพาะตัว’ ให้มากกว่านี้ ไทยต้องสร้างจุดแข็งที่ประเทศคู่แข่งยังไม่มี เช่น ในเรื่องของ Green Economy ไทยควรมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Product รวมไปถึงการเป็นฮับรถยนต์ EV ที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างครบวงจร สร้างคลัสเตอร์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ไทยต้องลงมือทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งหมดนี้ ถ้าภาพลักษณ์ในด้าน Green Economy ของประเทศไทยชัดเจนขึ้น ก็น่าจะทำให้หลายประเทศหันมาสนใจประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศยุโรปที่มุ่งเน้นเรื่อง Green Tech หรือการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานาน ก็อาจจะสนใจมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
อีกตัวอย่างที่ไทยน่าจะมีศักยภาพ คือ อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อป้อนตลาดโลกมุสลิมที่มีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลไทยบางชุดมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลอยู่บ้าง แต่ก็ขาดความชัดเจน และไม่จริงจัง
ไทยควรทำนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาลแบบครบวงจร ทั้งกระบวนการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพสูง การสร้างมาตรฐานฮาลาลที่เป็นสากล มีระบบการขนส่งและท่าเรือฮาลาล ไปจนถึงภาคบริการ เช่น โรงแรมฮาลาลในระดับห้าดาว เป็นต้น ถ้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลที่มีคุณภาพสูง ก็น่าจะเจาะตลาดสินค้าฮาลาลได้มากขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวมุสลิมทั่วโลก
ดังนั้น รศ.ดร.อักษรศรี ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญสำหรับสินค้าไทย คือการ ‘สู้ด้วยคุณภาพ’
ในแง่การแข่งขันกับสินค้าจีนและเวียดนาม ไทยต้องสู้ด้วยคุณภาพ และเน้นป้อนตลาดระดับบน เพราะในตลาดล่าง/ตลาดกลาง ประเทศจีน/เวียดนามมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก ดังนั้น ไทยควรเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง เช่น สินค้าที่มีดีไซน์ หรือสินค้าเพื่อสุขภาพ
“โอกาสเรามีอีกเยอะ แต่เราต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่ทำแบบเดิม อยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เราถูกบีบให้ต้องปรับแล้ว ไม่ปรับไม่รอด”