เมื่อสองประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนเส้นทางนโยบายการเงิน แม้วิธีการจะต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือพิชิตการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ หลายฝ่ายจึงเริ่มตั้งคำถามว่าเงินทุนจะไหลเข้าไปยังที่ใดในระบบเศรษฐกิจโลก
นโยบายเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังโน้มน้าวนักลงทุนว่าการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ 15 เดือน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้กับภาวะ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงเล็กน้อยภายในสิ้นปีนี้ ในระหว่างการแถลงข่าว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานของ Fed ระบุว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจกินเวลาหลายปี และเหมือนจะสื่อว่าให้คอยจดจำสิ่งที่เขาพูด แต่อย่าคาดหวังกับคำพูดเหล่านั้นมากเกินไป
ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยังคงขยายตัวแต่เริ่มอ่อนแอ ด้วยยอดค้าปลีกในเดือนที่แล้วสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เกือบทุกรายการ แต่รายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคกลับลดลง ยอดการผลิตในโรงงานยังซบเซาและการขอรับสวัสดิการของคนว่างงานอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2021
เดวิด วิลค็อกซ์ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของ Fed เผยว่าด้วยข้อมูลทางเศรษฐกิจตั้งแต่การว่างงานที่ไม่เพิ่มขึ้นไปจนถึงโอกาสการถดถอยที่มีความรุนแรงปานกลาง ทำให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ มีมากมายและคาดเดาได้ยาก
ไม่เพียงเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงเช่นเดียวกัน ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 3.5% นับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 22 ปี และยังกล่าวว่ามีความเป็นได้อย่างมากที่จะขึ้นอีก 0.25% ด้านแคนาดาและออสเตรเลีย เผชิญกับเส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน ทำให้ธนาคารกลางประกาศนโยบายรัดกุมอีกครั้งซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุน
กระแสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีแนวโน้มเกิดขึ้น หรือบางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วตามทฤษฎี เช่น ประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่ง คริสติน ลาการ์ด ประธานของ ECB ยอมรับว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้กำลังส่งผล ‘อย่างฝ่าฝืน’ สู่ระบบการเงินยุโรป พร้อมเตือนว่าแรงกดดันทางค่าจ้างกำลังหนุนให้อัตราเงินเฟ้อร้อนแรงต่อไป
ที่ผ่านมา Fed มีปัญหาในการสื่อสารหลังจากที่เงินเฟ้อเริ่มพุ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2021 โดยเฉพาะจากการที่ Fed พยายามบอกมาตลอดว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มไม่เชื่อว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว และมองว่า Fed อาจจะแค่ข้ามการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้และกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อกำลังลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าหมายของ Fed
ด้านประเทศจีน ซึ่งมีปัญหาทางเศรษฐกิจตรงข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก อัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 0% เพียงเล็กน้อยไม่ใช่ตัวเลขที่ทางการจีนพอใจสักเท่าไร ดังนั้นทางการจึงส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านขั้นตอนเล็กๆ แม้ไม่ใช่การเร่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เป็นการปูพื้นเพื่อรองรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบาย Zero-COVID คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีสักเท่าไร หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% ซึ่งผลกระทบจะไม่เพียงส่งผลต่อจีนเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปยังประเทศเอเชียอื่นๆ ด้วย
ภาวะเงินฝืดที่มักใช้กับประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่อาจเกิดขึ้นกับจีนด้วย จึงไม่แปลกใจที่ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) เคลื่อนไหว และ อี้กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ประกาศเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กว้างขึ้น ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ ‘หมี’ มานานกว่าหนึ่งปี หลายฝ่ายต่างจับตามองไปที่การประชุมของทางการจีน
ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จำเป็นต้องลงนามในประเด็นสำคัญ และอำนาจส่วนใหญ่ต่างรวมศูนย์ไว้ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมากขึ้นเรื่อยๆ จีนเฝ้าระวังและหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ใหญ่โตอยู่แล้วเสมอ แต่ความเสี่ยงคือการตัดสินใจของทางการที่อาจส่งผลกระทบภาพลักษณ์และอำนาจในการชี้นำเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยภาพรวมแล้วปัญหาของอี้คือการโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้น และปัญหาเรื่องหนี้จะไม่ระเบิดออกมา การสื่อสารของทางการจีนในเวลานี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
ในมุมของ Fed อาจจะยังไม่แน่ใจว่านโยบายการเงินที่ดำเนินไปนั้นไกลเกินความจำเป็นหรือยัง แต่หากพาวเวลล์และอี้ รวมทั้งผู้นำรัฐบาลจีน สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้อง ภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกจะไม่กลายร่างเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด สิ่งสำคัญคือประเด็นที่สื่อสารออกมาควรไปในทิศทางเดียวกัน เพราะการสื่อสารให้แก่นักลงทุนและประชาชนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม
บล.กสิกรไทย คาดเงินทุนไหลเข้า ‘หุ้น-สินค้าโภคภัณฑ์’
สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ หรือกลุ่มยุโรป อัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงจุดพีคพร้อมๆ กัน โดยสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยน่าจะพีคในระดับ 5-5.25% ส่วนอังกฤษและยุโรปน่าจะพีคที่ระดับ 4.75% และ 3.75% ตามลำดับ
“หลังจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้นมาต่อเนื่อง 12 เดือน ก่อนจะเริ่มหยุดการขึ้นบ้างแล้วในขณะนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสน้อยมากที่สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งอย่างที่ Fed พูดไว้ เพราะเงินเฟ้อน่าจะลดลงไปต่ำกว่า 3.5% และตัวเลขการจ้างงานเริ่มชะลอตัว”
กระแสเงินลงทุน (Fund Flow) น่าจะไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่น หุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการเงินที่ได้อานิสงส์โดยตรงจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น
ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจปรับตัวขึ้นในไตรมาส 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นเพียง Soft Landing เช่น น้ำมันอาจปรับขึ้นได้ราว 10 ดอลลาร์ หรือทองคำที่อาจเห็นระดับ 2,000 ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นโลกอาจปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% หรือแม้แต่คริปโตก็อาจปรับขึ้นได้
“ตอนนี้นักลงทุนอาจเริ่มสะสมหุ้นที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้แล้ว หลังจากความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ลดลง รวมทั้งผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลุดระดับ 100 ดอลลาร์”
ส่วนหุ้นที่ได้อานิสงส์โดยตรงคือกลุ่มเทคโนโลยี แต่ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ในขณะที่หุ้นไทยที่น่าสนใจจะเป็นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจโลก
อ้างอิง: