×

การประชุมสองสภา บันไดสานฝันจีนสู่เป้าหมายประเทศทันสมัย-มีอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์

08.03.2021
  • LOADING...
การประชุมสองสภา บันไดสานฝันจีนสู่เป้าหมายประเทศทันสมัย-มีอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ถือเป็นแผนแรกสุดของยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะต้องใช้แผนพัฒนา 5 ปี ต่อเนื่องกันไปจำนวน 6 แผน ได้แก่ แผนฯ 14 ระหว่างปี 2021-2025, แผนฯ 15 ระหว่างปี 2026-2030, แผนฯ 16 ระหว่างปี 2031-2035, แผนฯ 17 ระหว่างปี 2036-2040, แผนฯ 18 ระหว่างปี 2041-2045 และแผนฯ 19 ระหว่างปี 2046-2050
  • ในแผนฉบับที่ 14 นี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดเป้าหมาย 2035 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ 1 ใน 3 ของเป้าหมายการพัฒนาประเทศจีนในระยะยาวที่รู้จักกันในชื่อ ‘ความฝันของจีน’ (中国梦 / Chinese Dream)
  • ประกอบไปด้วย 1. การพัฒนาจีนให้เป็น ‘สังคมเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐาน ในปี 2035’ เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย และไม่ใช้เกณฑ์วัดการพัฒนาแบบตะวันตกอีกต่อไป เพื่อเป็นเป้าหมายขั้นกลาง 2. การพัฒนาจีนให้เป็น ‘ประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็งและทันสมัยอย่างเต็มที่ในปี 2049’ และ 3. มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายใต้ ‘นโยบายจีนเดียว’

ระหว่างวันที่ 4-11 มีนาคม 2021 คืออีกหนึ่งวาระสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะการประชุมที่สำคัญที่สุด 2 การประชุมจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน นั่นคือการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (中国人民政治协商会议 / Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ดังนั้นคนจีนจึงนิยมเรียกการประชุมต่อเนื่องกันทั้ง 2 ครั้งนี้ว่า 两会 (Liang Hui) ซึ่งแปลว่า การประชุม 2 วาระ

โดยการประชุม CPPCC หรือประชุมสภาที่ปรึกษาฯ เกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม โดยตัวแทนจำนวนกว่า 2,200 คนจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ เอกชน กลุ่มชาติพันธุ์ ตัวแทนคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงตัวแทนจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เขตปกครองตนเองทิเบต เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษมาเก๊า และ ไต้หวัน ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนภายใต้นโยบายจีนเดียว จะมาร่วมประชุมพร้อมกันที่ศาลามหาประชาชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน

แม้ว่าผลการประชุม CPPCC จะไม่ได้มีผลในทางกฎหมาย หากแต่จะเป็นการรวบรวมเอาความคิดเห็นใน 10 ด้าน เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์นำไปพิจารณาในการดำเนินนโยบายต่อไป โดยทั้ง 10 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจ, การเกษตรและการพัฒนาชนบท, ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การศึกษา วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และกีฬา, สังคมและกฎหมาย, กลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา, วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์, กิจการฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และจีนโพ้นทะเล, การต่างประเทศ และ การเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค

ในขณะที่การประชุมที่ทั่วทั้งโลกจับตามองมากกว่าคือการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งถือเป็นกลไกหลักของกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศจีน โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 2,953 คน (2,097 คนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ และ 856 คนมาจากภาคส่วนอื่นๆ) จะมาประชุมกันปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของตัวแทนจำนวน 170 คนที่เป็น Standing Committee ที่เลือกมาจาก 2,953 คนข้างต้น ซึ่งการประชุมนี้จะใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 5-11 มีนาคม 2021 โดยสิ่งที่ทุกคนจับตามองจากการประชุม NPC ได้แก่

 

1. การแถลงความสำเร็จของจีนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งหลักการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนต่อไปในอนาคต

โดยในประเด็นการรับมือกับโควิด-19 ที่ทำให้จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวกในปี 2020 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factors) ไว้ดังนี้ 1. ใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบให้อุปสงค์เป็นตัวนำ (Demand Driven) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้สามารถรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ 2. การใช้นโยบายของรัฐบาลเพื่อประกันการจ้างงาน ให้ทุกคนยังมีงานทำแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 3. ขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ 4. เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ 5. พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม 6. เร่งพัฒนาเมืองและชนบทควบคู่ไปด้วยกัน และ 7. สร้างความแข็งแกร่งให้กับการเมืองการปกครอง และการสร้างสรรค์สังคมจีนให้สงบสุขและมั่นคง

 

 

2. นำเสนอผลสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ปี 2016-2020 (五年计划)

แน่นอนว่าผลสำเร็จที่จีนประกาศเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (วันที่ 23-31 กรกฎาคม 1921-2021) คือความสำเร็จในการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับคนจีนจำนวนมากกว่า 55.75 ล้านคน และอพยพย้ายถิ่นคนจีนจำนวน 9.6 ล้านคนเพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการยังชีพ โดยจีนมีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณให้กับอาสาสมัคร ซึ่งจำนวนมากเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนที่ลงไปในพื้นที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความยากจน จนกระทั่งจีนสามารถประกาศได้ว่าภายในแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 13 คนจีนทั้งประเทศได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว และสามารถสร้างการจ้างงานในเมืองให้กับคนจีนได้มากกว่า 60 ล้านตำแหน่ง สร้างระบบประกันสังคมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในมิติการศึกษาและการสาธารณสุข

และอีกหนึ่งเรื่องที่จีนถือเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจีน และยกระดับการพัฒนาประเทศในประชาคมโลกคือ โครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เชื่อมโยงเอเชีย แอฟริกา และยุโรปเข้าด้วยกัน ซึ่งในทัศนะของผู้เขียน พิจารณา BRI จะเอื้อประโยชน์กับจีนใน 5 มิติ ดังนี้ 1. เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลือจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและสงครามการค้า 2. จีนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในเอเชียและแอฟริกา 3. จีนสามารถเข้าถึงทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย ทั้งในมิติปริมาณ มิติค่าแรง และมิติทักษะ 4. จีนเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงในยุโรป และตลาดขนาดใหญ่ที่มีอัตราการขยายตัวสูงในเอเชียและแอฟริกา และ 5. จีนสามารถสร้างพันธมิตรและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประชาคมโลก

 

3. การประกาศเริ่มต้นใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025)

แน่นอนว่าทางการจีนออกตัวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 14 นี้เกิดขึ้นจากการลงมาเป็นหัวหน้าคณะทำงานและกำกับการวางยุทธศาสตร์โดยผู้นำรุ่นที่ 5 สีจิ้นผิงด้วยตนเอง โดยเขาวางตำแหน่งตนเองเป็นประธานคณะทำงานชุดเล็ก (领导小组 / Leading Small Groups: LSGs) สำคัญ 3 คณะ ได้แก่ กลุ่มที่ปรึกษาด้านการปฏิรูปแบบลงลึกอย่างรอบด้าน (LSG for Comprehensive Deepening of Reform) กลุ่มที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงิน (LSG for Finance and Economy) และกลุ่มที่ปรึกษาด้านกิจการการต่างประเทศ (LSG for Foreign Affairs) รวมทั้งเป็นประธานในการประชุมระดมสมองร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จากทั่วประเทศด้วยตนเอง

 

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศไปแล้วว่าเศรษฐกิจจีนต่อจากนี้ไปจะเป็นการสร้างดุลอำนาจให้ถ่วงดุลและสมดุลมากยิ่งขึ้นระหว่างวงจรเศรษฐกิจภายในประเทศ (Internal Circulation) ที่เน้นการสร้างอุปสงค์ใหม่ภายในประเทศ ควบคู่กับการลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและวงจรเศรษฐกิจภายนอกประเทศ (External Circulation) ที่เน้นการรักษาส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีการค้าโลก โดยการสร้างตลาดใหม่ผ่านทั้ง BRI และการเจรจาข้อตกลงทางการค้า โดยแนวคิดนี้ถูกขนานนามว่าเศรษฐกิจ 2 วงจร (Dual Circulation)

 

และในแผนฉบับที่ 14 นี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้กำหนดเป้าหมาย 2035 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ 1 ใน 3 ของเป้าหมายการพัฒนาประเทศจีนในระยะยาวที่รู้จักกันในนาม ‘ความฝันของจีน’ (中国梦 / Chinese Dream) ซึ่งประกอบไปด้วย 1. การพัฒนาจีนให้เป็น ‘สังคมเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐาน ในปี 2035’ เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย และไม่ใช้เกณฑ์วัดการพัฒนาแบบตะวันตกอีกต่อไป เพื่อเป็นเป้าหมายขั้นกลาง 2. การพัฒนาจีนให้เป็น ‘ประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็งและทันสมัยอย่างเต็มที่ในปี 2049’ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ตุลาคม 1949-2049) โดยจีนตั้งเป้าหมาย 2050 ให้จีนเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย (แบบของจีน) มีอารยธรรม กลมเกลียว และสวยงาม ภายใต้ฉากทัศน์ ‘Community with Shared Future for Mankind’ และ 3. พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายใต้ ‘นโยบายจีนเดียว’

 

โดยแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ถือเป็นแผนแรกสุดของยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะต้องใช้แผนพัฒนา 5 ปี ต่อเนื่องกันไปจำนวน 6 แผน ได้แก่ แผนฯ 14 ระหว่างปี 2021-2025, แผนฯ 15 ระหว่างปี 2026-2030, แผนฯ 16 ระหว่างปี 2031-2035, แผนฯ 17 ระหว่างปี 2036-2040, แผนฯ 18 ระหว่างปี 2041-2045 และ แผนฯ 19 ระหว่างปี 2046-2050

 

ซึ่ง China Radio International (CRI) ภาคภาษาไทย ได้สรุปหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีนไว้ 9 ประการดังนี้

 

1. มุ่งเน้นการยกประสิทธิภาพด้านคุณภาพการพัฒนา คุ้มครองเศรษฐกิจพัฒนาไปด้วยดี
2. ยืนหยัดพัฒนาด้วยแรงขับเคลื่อนจากการประดิษฐ์คิดสร้าง เร่งการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิตแบบทันสมัย
3. สร้างตลาดภายในที่กว้างใหญ่ สร้างสถานการณ์พัฒนาใหม่
4. เร่งการฟื้นฟูชนบทอย่างทั่วด้าน ปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองใหม่ให้มีความสมบูรณ์แบบ
5. ปรับปรุงการวางแผนเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคให้ดีขึ้น ส่งเสริมการประสานงานการพัฒนาระหว่างภูมิภาค
6. ดำเนินการปฏิรูปลงลึกในทุกด้าน เพิ่มแรงขับเคลื่อนและพลังชีวิตในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
7. ผลักดันการพัฒนาแบบสีเขียว ส่งเสริมให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์
8. ยืนหยัดการสร้างความผาสุกให้ประชาชน ผลักดันให้ประชาชนมีความรุ่งเรืองร่วมกัน
9. ดูแลเรื่องการพัฒนาและความมั่นคง สร้างประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยระดับสูง

 

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจจีนจากหลายๆ องค์กรก็มีประเด็นที่ต้องจับตาการพัฒนาการเศรษฐกิจของจีนในระยะต่อไปอีกหลายๆ ประเด็นดังนี้

 

3.1 การประกาศเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

หลังจากที่ทางการจีนไม่ได้ประกาศเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 เนื่องจากภาวะไม่ปกติจากการระบาดของโควิด-19 ปีนี้รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมายอัตราการขยายตัวของ GDP ที่อัตราสูงกว่า 6% (ซึ่งนั่นหมายความว่าจีนจะกลับไปยืนอยู่ในมูลค่าเศรษฐกิจก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นชาติแรกในโลก)

จีนตั้งเป้าหมายสร้างตำแหน่งงานในเมืองให้เพิ่มขึ้นกว่า 11 ล้านตำแหน่ง เพื่อให้อัตราการว่างงานในเมืองอยู่ที่ประมาณ 5.5% (จากเดิมที่ระดับ 6%) ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยตั้งเป้าหมายให้ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับประมาณ 3% มูลค่าการนำเข้าส่งออกอยู่ระดับเดิมแต่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพสูงขึ้น เน้นสร้างสมดุลในบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ รายได้ของประชาชนมีการเติบโตอย่างมั่นคง ปรับปรุงคุณภาพของภาวะนิเวศให้ดีขึ้น อัตราการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ลดลง 3% ปริมาณการปล่อยมลพิษลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการผลิตธัญญาหารคงไว้ในจำนวนมากกว่า 1.3 ล้านล้านตัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ ไม่มีการประกาศเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดทั้งแผนจนถึงปี 2025 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ องค์กรพิจารณาว่าเป็นข้อดี เนื่องจากจะทำให้ทางการจีนมีความคล่องตัว (Flexibility) เพิ่มสูงขึ้นในการดำเนินนโยบายโดยเฉพาะในยุคที่ความไม่แน่นอน (the Age of Uncertainty) เป็นภัยคุกคามระบบเศรษฐกิจ

 

3.2 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้จีนเป็นผู้นำและสามารถพึ่งพาตนเองได้

จีนตั้งเป้าหมายในประเทศเป็น ‘Tech-Power House’ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบและสร้างชิปคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 3 (The 3rd Generation Semiconductor Chips) โดยต้องสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ภายในประเทศขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ได้แก่ AI, 5G, Supercomputing, Quantum Computing, Next Generation Smartphone, Renewable Energy, Material Science, New Energy Vehicles, Biotechnology, Space Science

และเพื่อให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริง ทางการจีนตั้งเป้าหมายจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ระดับ 7% ของ GDP ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจะทำให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP

 

โดยจีนถือว่านี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มีสังคมเข้มแข็งและทันสมัยขั้นพื้นฐานในปี 2035

 

3.3 กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงในสภาวะภูมิอากาศ

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศว่า จีนจะบรรลุเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในปี 2030 และหลังจากนั้นปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ในปี 2060 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการประกาศออกไปแล้วโดยผู้นำระดับสูงสุด แต่คงต้องรอดูในเนื้อหาที่จะเกิดขึ้นในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่จะออกตามมาหลังการประชุม NPC

 

3.4 การกระชับอำนาจของจีนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ถึงจะยังไม่มีแนวทางการดำเนินการออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากการวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าว Xinhua ทำให้เห็นว่าจีนจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการบังคับใช้แนวคิดที่เรียกว่า Patriot Governing Hong Kong จีนต้องอุดช่องว่างทางกฎหมายทั้งหมดของแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1982 (Constitutional Principle of the People’s Republic of China) รวมทั้งเดินหน้าการออกกฎหมายลูกภายใต้ธรรมนูญเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Basic Law of the Hong Kong SAR) เพื่อเป้าหมายให้มีเฉพาะตัวแทนที่รัฐบาลปักกิ่งให้การรับรองว่าเป็น ‘ผู้รักชาติ’ (Patriot) เท่านั้นที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนในสภานิติบัญญัติของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Legislative Council of the Hong Kong SAR: LegCo)

ซึ่งวิธีการที่ทางการจีนอาจจะนำมาใช้คือการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาเขต (District Councilors) และให้สมาชิกที่มีทั้งจากการเลือกตั้งและการคัดสรร จากนั้นจึงเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติ (LegCo) จาก 70 ที่นั่งในปัจจุบันเป็น 90 ที่นั่ง เพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนที่เป็น ‘ผู้รักชาติ’ ในสภาของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และน่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปในฮ่องกงออกไป จากเดิมที่ต้องจัดในเดือนกันยายน 2020 ออกไปเป็นปี 2022

 

 

3.5 การกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนกับประชาคมโลก

เพื่อให้เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการจ้างงานตามที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายเอาไว้ เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งและสร้างหลักประกันว่าจีนยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) และสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการจีนให้สามารถค้าขายและลงทุนใน GVCs นี้ด้วยการเจรจาและบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรี

โดยทางการจีนตั้งเป้าจะเจรจา ลงนาม และบังคับใช้ข้อตกลงด้านการลงทุนกับสหภาพยุโรป (China-EU Investment Treaty), เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้กรอบ China-Japan-ROK Free Trade Agreement (CJK FTA) รวมทั้งแสดงเจตจำนงในการขอเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศแสดงความสนใจจะเข้าร่วมเจรจาเพื่อขอเข้าเป็นภาคี CPTPP เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2020 ระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum

และสำหรับสหรัฐฯ ทางการจีนเรียกร้องความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) เพื่อแสวงหาโอกาสในการทำการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น

จีนต้องเน้นย้ำประเด็นการขยายโอกาสทางการค้าและการสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าราว 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 ได้ลดลงอย่างมหาศาลในช่วงปี 2020 ต่อเนื่องถึงปี 2021 และกว่าจะกลับมายืนที่มูลค่าเดิมได้อาจต้องรอคอยถึงปี 2023

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มูลค่าการค้าระหว่างระเทศจะกลับมาที่มูลค่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ดังเดิม แต่การค้าระหว่างภูมิภาคโดยเฉพาะระหว่าง 3 ห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาคคือ จีน-สหรัฐฯ-สหภาพยุโรป จะหดตัวลงอย่างยิ่ง ดังนั้นแต้มต่อทางการค้าและการลงทุนจากการใช้สิทธิประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีที่เชื่อมโยงและครอบคลุมประเทศสมาชิกจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จีนพยายามผลักดัน

ส่วนประเด็นต่อเนื่องที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยต้องเริ่มต้นคิด วิเคราะห์ และวางแผน นั่นคือเรารับรู้รับทราบแล้วว่ามหาอำนาจใกล้บ้านอย่างจีนจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน อย่างไร ในอีก 5 ปีข้างหน้า คำถามสำคัญคือ แล้วไทยจะสามารถเดินร่วมทางแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศของเราได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีนในรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation: อยู่ร่วมกันแล้วได้ประโยชน์ แต่ก็สามารถแยกออกจากกันเพื่อดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ได้โดยไม่ถูกครอบงำจนเกินไป)

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X