×

เปลี่ยนผ่านยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน ยุคสงครามการค้า 2.0

25.04.2025
  • LOADING...
ภาพแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของจีนในยุคสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา สะท้อนยุทธศาสตร์การปรับตัวของจีน

ในบริบทที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศขั้วอำนาจหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ สงครามการค้าได้กลายเป็นกลยุทธ์หลักของทั้งสองฝ่ายในการช่วงชิงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกและสามารถใช้มาตรการทางภาษีหรือกีดกันทางการค้าได้รุนแรงกว่า แต่จีนแสดงให้เห็นถึง ‘ความพร้อมเชิงโครงสร้าง’ ที่ยืดหยุ่นกว่า ทั้งในมิติของการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน การวางยุทธศาสตร์สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ การจัดเตรียมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ตลอดจนการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ AI ซึ่งกลายเป็นหัวใจของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ทำให้วันนี้จีนไม่ได้อยู่ในสถานะตั้งรับแบบในอดีตอีกต่อไป แต่พร้อมใช้โอกาสจากความท้าทายเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่บริบทใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และ ยั่งยืนมากขึ้น 

 

หนึ่งในจุดแข็งเชิงโครงสร้างที่จีนมีเหนือสหรัฐฯ คือองค์ประกอบของโครงสร้างสินค้าและห่วงโซ่อุปทานที่จีนควบคุมได้ในระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ สินค้าส่งออกของจีนไม่ได้มีเพียงความหลากหลาย แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมระดับโลก เช่น สมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปจนถึง แร่หายาก ซึ่งจีนมีบทบาทในฐานะผู้ผลิตและผู้แปรรูปหลักของโลก ความสามารถในการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้จีนสามารถใช้ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์นี้เป็นเครื่องมือต่อรองเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน สินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกมายังจีน เช่น ถั่วเหลือง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นสินค้าที่จีนสามารถนำเข้าจากตลาดอื่น เช่น บราซิลหรืออาร์เจนตินา ซึ่งทำให้ความสามารถในการใช้มาตรการตอบโต้ของจีนมีน้ำหนักมากกว่า และนี่อาจเป็นแรงผลักดันให้ สหรัฐฯ ต้องพิจารณายกเว้นภาษีให้กับสินค้าจีนบางรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกระทบต่อผู้บริโภคภายในประเทศเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

 

นอกเหนือจากข้อได้เปรียบด้านสินค้าแล้ว จีนยังเดินหน้ากระจายความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐฯ ผ่านการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจีนใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกผ่านการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีและความร่วมมือด้านการลงทุนหลายฉบับ เช่น RCEP ที่ครอบคลุมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และข้อตกลงด้านการลงทุนกับสหภาพยุโรป (EU-China Investment Agreement) แม้บางฉบับจะยังอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ แต่สะท้อนชัดถึงความตั้งใจของจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประเทศในแอฟริกา เพื่อแลกกับความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและการเข้าถึงฐานผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กลยุทธ์นี้ไม่เพียงเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับเศรษฐกิจจีน แต่ยังช่วยวางหมุดยุทธศาสตร์ในหลากหลายภูมิภาคของโลก ซึ่งอาจกลายเป็นเส้นทางสำรองสำคัญ หากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ยกระดับในอนาคต

 

ครั้งนี้จีนมีความพร้อมด้านนโยบายสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสงครามการค้ารอบแรกเมื่อปี 2561-2562 โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังเชิงรุกที่มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มอัตราส่วนการขาดดุลต่อ GDP เพื่อรองรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยคิดเป็นการใช้จ่ายสุทธิของภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เงินเหล่านี้จะถูกจัดสรรเข้าสู่โครงการที่มีตัวคูณด้านเศรษฐกิจสูง เช่น โครงการเปลี่ยนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า (Consumer Trade-in Program), การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และโครงการฟื้นฟูเมือง ควบคู่ไปกับมาตรการเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือนอย่าง เงินอุดหนุนการมีบุตร และความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

 

ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน คาดว่า PBOC มีโอกาสลดอัตราส่วนเงินสำรอง (RRR) รวม 100bps และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 60bps พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องผ่านธุรกรรม Reverse Repo หรือมีโอกาสที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึง ‘เครื่องมือเชิงนโยบายที่พร้อมใช้งาน’ ซึ่งสามารถหนุนเศรษฐกิจจีนได้อย่างเป็นระบบ แม้จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

อีกกลไกสำคัญที่จีนใช้สร้างความได้เปรียบระยะยาวคือ การผลักดันเทคโนโลยี AI ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยจีนตั้งเป้าลงทุนกว่า 1 ล้านล้านหยวนภายในปี 2570 เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เช่น Data Center, Supercomputing, Cloud และ Edge Computing พร้อมสนับสนุน Ecosystem ของสตาร์ทอัพในประเทศ การเปิดตัวโมเดล AI อย่าง DeepSeek ที่พัฒนาได้ด้วยต้นทุนต่ำและนำไปใช้เชิงพาณิชย์จริง สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีโอกาสเข้าสู่จุดเปลี่ยนด้าน Productivity เร็วกว่าหลายประเทศ โดยนักวิเคราะห์ในตลาด คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนของจีนในดัชนี MSCI China เฉลี่ยราว 2.5% ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (อ้างอิง: Goldman Sachs,17 กุมภาพันธ์ 2568) และช่วยเพิ่ม GDP จีนได้ราว 0.3 Percentage Point ภายในปี 2573 (อ้างอิง: Goldman Sachs, 6 มีนาคม 2568) ซึ่งไม่เพียงแต่ลดผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว แต่ยังช่วยวางรากฐานการเติบโตใหม่ที่พึ่งพานวัตกรรมแทนแรงขับเคลื่อนเดิมอย่างชัดเจน

 

จีนกำลังเร่งเปลี่ยนผ่านสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนและพึ่งพาอุปสงค์ภายในมากขึ้น ผ่านการผสมผสานของมาตรการกระตุ้นเชิงรุก การยกระดับเทคโนโลยี เช่น AI และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจในระดับโลกเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากการยกระดับสงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีสร้างกระทบต่อการส่งออก ความเชื่อมั่น และการเติบโตในระยะสั้น แม้ว่าจีนจะมี ‘เครื่องมือเชิงนโยบายที่พร้อมใช้งาน’ และความยืดหยุ่นทางการคลังในระดับสูงเพียงพอที่จะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แต่หากสถานการณ์ด้านการค้ายืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น 

 

มาตรการเหล่านี้อาจไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ดังนั้น ทิศทางของการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีความคืบหน้าในทิศทางบวก ก็จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดและช่วยหนุนให้จีนสามารถเดินหน้าสู่ ‘เศรษฐกิจยุคใหม่’ ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน เราประเมินว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาว แต่ในระยะสั้นคาดว่าราคาหุ้นจีนจะมีความผันผวนสูง ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นสำคัญ 

 

ภาพ: Zhangxiaomin / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising