เวทีประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้ ไร้เงาผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของโลกในเวลานี้อย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสีจิ้นผิง แต่เป้าสนใจหรือหัวข้อการประชุมในหลายๆ เซกชันของ Davos 2019 ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก
การประชุมปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันในทิศทางขาลงของเศรษฐกิจโลก หลังจีนประกาศว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีการขยายตัวเพียง 6.4% ในไตรมาส 4 ของปี 2018 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากระดับ 6.5% ในไตรมาส 3 และเป็นอัตราเติบโตรายไตรมาสที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2009
ส่วนภาพรวมตลอดทั้งปี 2018 ปรากฏว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 6.6% ซึ่งช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 และแม้ว่าจีนจะออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่า ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ แต่ก็ไม่วายทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนกกับสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ หวังฉีซาน รองประธานาธิบดีจีน ซึ่งเป็นตัวแทนสีจิ้นผิงมาประชุมคราวนี้ ได้ส่งสาสน์ถึงบรรดาผู้นำทางการเมืองและผู้นำภาคธุรกิจว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่เกินจริง พร้อมแนะว่าอย่าได้ตระหนกจนเกินเหตุ
เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในทิศทางเติบโต
หวังฉีซาน ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศร่วมกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ย้ำชัดอีกครั้งว่า เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างมั่นคง และตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จีนจะหันไปโฟกัสกับการเจริญเติบโตในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า จีนจะลดการพึ่งพาการส่งออกที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และหันไปเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า
“ผมคิดว่า 6.6% เป็นตัวเลขสำคัญ และเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว” หวังมองในแง่บวก
“มีปัจจัยไม่แน่นอนมากมายในปี 2019 แต่มีบางสิ่งที่แน่นอนนั่นคือเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” หวังกล่าวบนเวที Davos 2019 พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชาชนภายในปี 2020 ตามเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้
หวังกล่าวต่อไปว่า พรรคคอมมิวนิสต์พยายามทำให้ประชาชนระลึกอยู่เสมอว่า ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ สำหรับเวลานี้คือการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
“บางคนบอกว่าจีนกำลังไปถึงปลายทางของการเติบโต บ้างก็บอกว่าเราไปถึงจุดอิ่มตัวของการเติบโตแล้ว ถ้าคุณถามเรา เราเชื่อว่าเรายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เพราะเรากำลังก้าวไปสู่เป้าหมายของการเติบโตอย่างยั่งยืน” หวังกล่าว
“แผนพัฒนาของจีนคือการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และจะไม่เสียเวลาไปกับวาทศิลป์ที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด”
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจจีนที่โตช้าลงในปีที่แล้วไม่ได้เป็นผลมาจากการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เป็นตัวฉุดรั้งด้วย ซึ่งสร้างความวิตกเป็นวงกว้างว่า เศรษฐกิจจีนอาจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในปีนี้ด้วย
เกี่ยวกับประเด็นขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หวังฉีซานพยายามเลี่ยงคำพูดที่กระทบกระทั่งโดยระบุว่า “การกล่าวโทษคนอื่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร”
ในช่วงตอบคำถามกับเคลาส์ ชวาบ ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รองประธานาธิบดีจีนระบุว่า สองเขตเศรษฐกิจต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และต่างก็วิน-วิน
“เศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และนั่นคือความจริง”
นโยบายกีดกันการค้าเป็นตัวขัดขวางโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
หวังฉีซานใช้เวที WEF กล่าวเตือนผู้นำต่างชาติว่า ไม่ควรก้าวก่ายหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ขณะเดียวกันก็แสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิชาตินิยม การกีดกันทางการค้า และนโยบายประชานิยมที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก และเป็นตัวขัดขวางกระบวนการโลกาภิวัตน์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0
แม้หวังฉีซานไม่ได้เอ่ยถึงสหรัฐฯ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง แต่ชัดเจนว่าเขาหมายถึงนโยบาย America First หรือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของทรัมป์ซึ่งมุ่งเป็นปรปักษ์ต่อจีน
“หลายประเทศกำหนดโยบายโดยมองเข้าหาตัวเองมากขึ้น ซึ่งสร้างอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการขยายตัวของมาตรการลงโทษเพียงฝ่ายเดียว นโยบายกีดกันการค้าและประชานิยม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบโลก จะให้โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือก้าวถอยหลัง?” หวังถามกลับ
โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่
ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า บวกปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหา Brexit และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทำให้มีโอกาสเกิดวิกฤตรอบใหม่ได้ทุกเมื่อ
เช่นเดียวกับปัญหาหนี้สาธารณะในจีนที่พร้อมจะระเบิด หรือเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งหน้าได้เช่นกัน
แต่หวังฉีซานตอบอย่างเลี่ยงๆ ว่าจีนเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาหนี้สาธารณะดี พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการรับมือกับความเสี่ยงที่ว่านี้อย่างแน่นอน
เขาระบุด้วยว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกครั้งใหม่
“แต่ผมไม่คิดว่าวิกฤตการณ์จะใหญ่โตพอที่จะบดขยี้มนุษยชาติให้สิ้นซาก เพราะความจริงแล้ววิกฤตคือโอกาสที่เราจะทดสอบวิสัยทัศน์ สติปัญญา และศักยภาพ ดังนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า สิ่งต่างๆ ล้วนผูกติดกับวิกฤต แต่เพราะเราอาศัยอยู่ในโลกที่ไม่แน่นอน ดังนั้นวิกฤตจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: