×

นักวิเคราะห์เตือนจีนเพิกเฉยรัฐประหารเมียนมา อาจทำร้ายผลประโยชน์ระยะยาวของตนเอง

05.04.2021
  • LOADING...
นักวิเคราะห์เตือนจีนเพิกเฉยรัฐประหารเมียนมา อาจทำร้ายผลประโยชน์ระยะยาวของตนเอง

นักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเมืองเตือนท่าทีที่เพิกเฉยของจีนต่อเหตุการณ์รัฐประหารของเมียนมา ชนิดที่เรียกว่า ‘ปล่อยให้ทำ’ นั้น อาจกลายเป็นผลเสียที่ทำร้ายผลประโยชน์ระยะยาวของจีนในเมียนมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โดยที่ผ่านมา หลายชาติตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ต่างประณามและคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาเพื่อตอบโต้การก่อรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและสังหารกลุ่มผู้ประท้วง

 

แต่รัฐบาลปักกิ่งในฐานะมหาอำนาจเบอร์สองของโลก และพันธมิตรสำคัญของเมียนมากลับนิ่งเฉยและไม่คัดค้านการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง

 

ซึ่งการที่จีนดูจะยินดีกับการจับมือใครก็ตามที่เข้ากุมอำนาจรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ อาจกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากหลายเหตุการณ์หลังรัฐประหารที่เกิดตามมานั้นอาจเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา เช่น เหตุการณ์เผาทำลายโรงงานของจีนและท่าทีของกลุ่มผู้ประท้วงที่ขู่จะระเบิดท่อน้ำมันจีน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องเรียกร้องทางการเมียนมาให้คุ้มครองความปลอดภัยต่อธุรกิจและทรัพย์สินของจีนในเมียนมา

 

“ความไม่พอใจของจีนต่อความเสี่ยงด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ บ่งชี้ว่าการรัฐประหารได้กลายเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอยู่แล้ว ระหว่างเมียนมาและจีน” คาโฮ​ ยู นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเอเชียของบริษัท Verisk Maplecroft ผู้ให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงและกลยุทธ์ระดับโลก กล่าว

 

ด้าน แกเร็ธ ไพรซ์ นักวิจัยอาวุโสของโครงการเอเชีย-แปซิฟิกแห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศ Chatham House เผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์ท่าทีของจีนที่มีต่อสถานการณ์ในเมียนมาช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า การที่จีนไม่แทรกแซงหรือเข้าไปยุ่งเรื่องราวในเมียนมา และจะยังคงเป็นพันธมิตรสำคัญของเมียนมาต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาในรูปแบบไหนนั้นอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิด

 

เนื่องจากหากกองทัพเมียนมาถูกบีบบังคับให้ต้องยอมจำนนและยุติการยึดอำนาจ ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจีนที่รุนแรงกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นภัยต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของจีนในเมียนมา ตัวอย่างเช่น แนวท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของจีนที่ทอดยาวผ่านแหล่งสัมปทานที่จีนได้รับอนุญาตจากเมียนมา ซึ่งช่วยให้หลีกเลี่ยงการใช้แนวท่อส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นจุดที่มีโจรสลัดชุกชุม ขณะที่การพัฒนาท่าเรือและการเชื่อมต่อทางบกระหว่างจีนและเมียนมา ก็ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจของจีนในมหาสมุทรอินเดียได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้จีนถือเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญของเมียนมาที่มีพรมแดนติดกัน เช่นเดียวกับที่เมียนมาเป็นส่วนสำคัญในโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

 

ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาจนถึงมกราคมของปีนี้ บ่งชี้ว่าเมียนมาได้อนุมัติการลงทุนจากจีน คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 139.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนนั้นคาดหวังให้การลงทุนในเมียนมาช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ของตนเองในเมียนมา ทั้งในด้านพลังงาน การค้า ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค

 

อย่างไรก็ตาม ไพรซ์ชี้ว่าในทางกลับกัน จีนอาจเลือกเป็นฝ่ายช่วยยุติวิกฤตการณ์รัฐประหารในเมียนมาได้ เพราะผลกระทบจากแนวทางนี้ จะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาแค่ในระยะสั้น แต่จะเป็นประโยชน์มากกว่าในระยะยาว ซึ่งแม้บรรดานายพลของกองทัพเมียนมาไม่มีความตั้งใจที่จะสละอำนาจ แต่ก็ยากจะกุมอำนาจได้หากปราศจากการสนับสนุนจากปักกิ่ง

 

“ในขณะที่บทบาททั่วโลกขยายตัว จีนควรเรียนรู้ที่จะแยกความแตกต่างระหว่างรัฐบาลเผด็จการประเภทต่างๆ และตัดสินใจที่จะรับมือตามแต่ละประเภท” ไพรซ์กล่าว พร้อมชี้ว่าจีนควรตระหนักว่านโยบาย One Size Fits All หรือการใช้นโยบายเดียวกับทุกประเทศ เช่น นโยบายไม่แทรกแซงนั้น อาจไม่สามารถชนะใจพันธมิตรจำนวนมากได้ ส่วนพันธมิตรที่เอาชนะใจได้ก็อาจเป็นพันธมิตรประเภทที่ ‘ไม่ค่อยดีนัก’

 

ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X