×

บทใหม่ของหุ้นเทคจีนกำลังเปิดฉากขึ้น นำโดย Alibaba ที่ตัดสินใจแยกบริษัทออกเป็น 6 หน่วยธุรกิจ

31.03.2023
  • LOADING...
หุ้นเทคจีน Alibaba

หลังจากปี 2020 เกิดการคุมเข้มด้านกฎระเบียบในภาคเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้ความมั่งคั่งของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในจีนลดลงไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณว่ารัฐบาลจีนกำลังลดความเข้มงวดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตจีนอย่าง Alibaba ซึ่งอาจจุดประกายให้ภาคเทคโนโลยีจีนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 มีนาคม) Alibaba ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยต้องการแยกบริษัทออกเป็น 6 หน่วยธุรกิจ ออกแบบมาเพื่อปลดล็อกมูลค่าของผู้ถือหุ้นและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันภายในตลาด

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมักจะตำหนิถึงการขยายธุรกิจอย่างไร้ระเบียบของบริษัทเทคโนโลยีจีนที่เติบโตเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งในประกาศของ Alibaba ระบุว่า ธุรกิจที่ถูกแบ่งออกมาเหล่านี้สามารถระดมทุนแบบสาธารณะ ซึ่งดูเหมือนเป็นแนวทางที่ตรงกันข้ามกับความกังวลของทางการจีน

 

ครั้งสุดท้ายที่ Alibaba ทำการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อจัดระเบียบธุรกิจใหม่ คือตอนเปิดฉากของเหตุการณ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลเริ่มกำกับภาคเทคโนโลยีจีนอย่างเข้มงวด เช่น การยกเลิกแผนการระดมทุนของ Ant Group ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก จนนำไปสู่การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีครั้งใหญ่ภายในจีน

 

แต่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ Alibaba หวังว่าจะเป็นแผนที่ทำให้นักลงทุนและเจ้าหน้าที่ในจีนพึงพอใจด้วยการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทนับตั้งแต่ แจ็ค หม่า ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อ 24 ปีที่แล้ว

 

ดาเนียล จาง ซีอีโอของกลุ่มบริษัท Alibaba กล่าวว่า การแยกบริษัทออกเป็นหลายธุรกิจจะช่วยให้บริษัทในแต่ละส่วนมีความคล่องตัวมากขึ้น และในที่สุดก็จะทำให้การเปิดตัวเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นผลสำเร็จ

 

ด้านหน่วยงานกำกับดูแล ระบุว่า พร้อมสนับสนุนการเสนอขายต่อสาธารณะในทุกหน่วยธุรกิจของ Alibaba โดยเฉพาะในธุรกิจคลาวด์และโลจิสติกส์ที่ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก และมองว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหาก Alibaba จะใช้เงินทุนเพิ่มเติมภายนอกสำหรับหน่วยเซมิคอนดักเตอร์

 

ฉี หวัง ซีอีโอของ MegaTrust Investment กล่าวว่า แผนการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของภาคส่วนเพื่อจัดระเบียบใหม่เป็นเรื่องของการอยู่รอด

 

“บริษัทอินเทอร์เน็ตเหล่านี้จะไม่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้กฎระเบียบบั่นทอนการเติบโตและผลกำไรของบริษัท บริษัทอย่าง Tencent, Alibaba, JD, Didi และ ByteDance ต่างทำการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบนเพื่อลดความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ การลดต้นทุน เช่น การปลดพนักงาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก” หวังระบุ

 

การกลับมาของ ‘แจ็ค หม่า’ ในเวลาที่เหมาะเจาะ

 

การปรับโครงสร้างของ Alibaba ไม่ใช่สัญญาณเดียวที่บ่งบอกว่าทางการจีนอาจเริ่มผ่อนปรนการตรวจสอบภาคเทคโนโลยีแล้ว ในขณะเดียวกัน แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ก็กลับมาสู่ประเทศจีนอย่างสาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน

 

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเชื่อว่า แจ็ค หม่า คือคนที่จุดประกายให้เกิดการปราบปรามภาคเทคโนโลยีจากรัฐบาลจีน หลังจากที่ในเดือนตุลาคม ปี 2020 มหาเศรษฐีรายนี้ได้แสดงความคิดเห็นที่ดูเหมือนวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีน และไม่กี่วันต่อมา Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือการเงินของ Alibaba ถูกบังคับให้ถอนการระดมทุนสู่สาธารณะในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ หลังหน่วยงานกำกับดูแลเชื่อว่าแผนดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในการเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

นับเป็นสัญญาณแรกที่รัฐบาลจีนออกมากีดกันธุรกิจเทคของจีนอย่างโจ่งแจ้ง เพราะในระยะถัดไป รัฐบาลจีนได้สั่งปรับ Alibaba และ Meituan ข้อหาการผูกขาดในอุตสาหกรรม พร้อมทั้งนำเสนอกฎระเบียบใหม่มากมาย ตั้งแต่การปกป้องข้อมูลของลูกค้าไปจนถึงวิธีการใช้อัลกอริทึมที่บริษัทสามารถทำได้

 

ฉะนั้นการกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งของ แจ็ค หม่า ในหางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Alibaba ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าปักกิ่งมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อภาคเทคโนโลยีและเอกชนในจีน

 

สตีเฟน โรช อาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยเยล เชื่อว่าหม่าไม่ได้ไปที่หางโจวเพราะเหนื่อยกับการเดินทาง แต่เป็นเพราะแผนที่เตรียมการอย่างดีและเหมาะสมกับการรณรงค์ของรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังผ่อนคลายแรงกดดันต่อภาคเอกชนและยินดีต้อนรับการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติ

 

‘ภาคเอกชน’ หัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณเพิ่มเติมที่บ่งบอกได้ว่าทางการจีนกำลังลดความตึงเครียดกับภาคเอกชนในจีน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเกมได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2021 เนื่องจากทางการจีนเริ่มกังวลถึงการเสพติดเกมในหมู่คนหนุ่มสาว จึงสั่งระงับการอนุมัติเกมออกใหม่เป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทางการเริ่มกลับมาไฟเขียวให้เกมออกใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริษัทในประเทศเอง

 

ในขณะเดียวกัน Didi ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารยักษ์ใหญ่ของจีน เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประสบปัญหาจากการยกเครื่องเรื่องกฎระเบียบ หลังจากที่ประกาศแผนการขยายธุรกิจให้เผยแพร่สู่สาธารณะในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 แต่กลับพบว่าบริษัทอยู่ภายใต้การตรวจสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์จากหน่วยงานกำกับดูแลของจีนไม่กี่วันหลังจากจดทะเบียน และในที่สุดก็ตัดสินใจเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และวางแผนที่จะเข้าสู่ตลาดฮ่องกงแทน

 

นอกจากสัญญาณบวกที่เกิดขึ้นในบริษัทสัญชาติจีน ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น ทิม คุก ซีอีโอของ Apple และ คริสเตียโน อามอน ซีอีโอของ Qualcomm ได้เดินทางเยือนจีนและพบปะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

ดูเหมือนว่าสัญญาณทั้งหมดจะเป็นความตั้งใจจากทางการจีน หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรมลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายโควิดที่เข้มงวดและการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ในปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 5% และเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ทางการจีนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากธุรกิจเอกชน ซึ่งรวมถึงภาคส่วนเทคโนโลยีด้วย

 

เทคจีนลืมตาอ้าปากได้หรือยัง?

 

ซิน ซุน อาจารย์อาวุโสด้านธุรกิจจีนและเอเชียตะวันออกของ King’s College เตือนว่า แม้จะมีสัญญาณที่สดใสสำหรับนักลงทุน แต่ยังมีเหตุผลที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน

 

ซุนอธิบายการปรับโครงสร้างองค์กรของ Alibaba ว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อทำลายอาณาจักรธุรกิจของ Alibaba และลดอิทธิพลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

“หลังการปรับโครงสร้าง Alibaba จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น และการควบคุมทรัพย์สิน ข้อมูล และทรัพยากรจะมีความเข้มข้นน้อยลง ทำให้ทางการจีนสามารถกำหนดการควบคุมทางการเมืองที่เข้มแข็งเหนือหน่วยงานใหม่แต่ละแห่งได้ง่ายขึ้น” ซุนกล่าวเสริม

 

นอกจากนี้ยังเตือนว่าไม่ควรมองเรื่องนี้ในแง่ดีมากเกินไป แม้ว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดจะนำมาซึ่งความแน่นอนด้านกฎระเบียบ แต่ก็ยังมีคำถามมากมายถึงวิธีการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ จำเป็นต้องปฏิบัติ

 

ซุนเผยว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ อย่าง Tencent, Meituan และ ByteDance จำเป็นต้องแยกธุรกิจด้วยหรือไม่? ถ้าเป็นอย่างนั้นจะตัดสินใจเองหรือรอเพียงคำสั่งจากรัฐบาล? ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะคอยถ่วงดุลผู้ประกอบการและนักลงทุน ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นลงในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising