×

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เชื่อ จีนไม่มีแผนการชัดเจนสำหรับการรวมไต้หวัน

โดย THE STANDARD TEAM
08.10.2022
  • LOADING...
จีน ไต้หวัน

ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ชี้ให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของสหรัฐฯ มีความเชื่อว่า จีนไม่มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการชัดเจนที่จะนำไปสู่การรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน 

 

CSIS ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายที่ตั้งอยู่ในวอชิงตัน ได้สำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ชั้นนำ 64 คน เกี่ยวกับแผนการเดินเกมของจีนต่อไต้หวัน โดยรวบรวมคำตอบระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 8 กันยายน หรือไม่นานหลังจากการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันที่ 2-3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้จีนเปิดฉากการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดรอบเกาะไต้หวัน 

 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามมองว่า ปักกิ่งเต็มใจที่จะรอการรวมชาติ แต่ไม่ใช่ตลอดไป ขณะที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องของเส้นตายที่ปักกิ่งกำหนดไว้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่มองว่าจีนจะรวมไต้หวันในปี 2027, 2049 และ 2072

 

ผลสำรวจพบว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าปักกิ่งกำลังเตรียมพร้อมที่จะลงมือกับไต้หวันในทันที ซึ่งแตกต่างไปจากภาพข่าวและเรื่องราวการนำเสนอที่ปรากฏตามสื่อ

 

บอนนี หลิน ผู้อำนวยการโครงการ China Power Project ของ CSIS และผู้นำการสำรวจ กล่าวกับ Nikkei Asia ว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า พาดหัวข่าวหวือหวาที่ว่าจีนอาจใช้กำลังกับไต้หวันในวันนี้หรือพรุ่งนี้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำคิด”

 

การสำรวจที่มีชื่อว่า ‘สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางของจีนที่มีต่อไต้หวัน’ (Surveying the Experts: China’s Approach to Taiwan) ตั้งคำถามว่า ปักกิ่งมียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน มีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และมีมาตรการขั้นถัดไปที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้บรรลุการรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวันหรือไม่ 

 

สำหรับคำถามนี้ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า ‘ไม่’

 

CSIS ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงทำให้ชาวไต้หวันมองเห็นว่าโมเดล ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ล้มเหลว ซึ่งการที่จีนไม่สามารถเอาชนะใจและความคิดของรัฐบาลและประชาชนไต้หวันได้นั้น ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องหันมาใช้เครื่องมือบีบบังคับไต้หวันมากขึ้น รวมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทหาร

 

แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าแนวทางของปักกิ่งคือการผลักดันให้เกิดการรวมชาติโดยเร็วที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 10% ที่เชื่อเช่นนั้น ขณะที่อีก 84% เชื่อว่าปักกิ่งเต็มใจรอการรวมชาติ แต่จะไม่ยอมรับสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) อย่างถาวร  

 

“สำหรับนักวิเคราะห์กลุ่มนี้น่าจะประเมินว่าปักกิ่งเต็มใจรอ เพราะเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหารนั้น ยังไม่เอื้อให้จีนบรรลุการรวมชาติอย่างสันติหรือโดยใช้กำลัง” CSIS กล่าว

 

เอลบริดจ์ โคลบี หนึ่งในผู้ตอบแบบสอบถามและผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Strategy of Denial: American Defense in an Age of Great Power Conflict บอกกับ Nikkei Asia ว่า ปักกิ่งอาจเต็มใจที่จะยอมรับสถานะที่เป็นอยู่อย่างถาวร หากอีกทางเลือกหนึ่งเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอาย

 

โคลบีตั้งข้อสังเกตว่า ปักกิ่งอาจไม่มีกำหนดเส้นตายสำหรับทางออกในประเด็นไต้หวัน โดยเขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนอาจรุกรานไต้หวันในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

“ถ้าสหรัฐฯ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ละเลยภัยคุกคาม ผมคิดว่าความเสี่ยงจะสูงขึ้นมาก แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมปกป้องไต้หวัน ความเสี่ยงจะต่ำลงมาก” เขากล่าว

 

ผู้เชี่ยวชาญเสียงแตกเรื่องไทม์ไลน์การรวมชาติของปักกิ่ง โดย 44% เชื่อว่าเส้นตายของจีนคือปี 2049 ซึ่งจะตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

มีเพียง 3% เท่านั้นที่เชื่อว่าจีนจะพยายามรวมชาติกับไต้หวันให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสอดคล้องกับกรอบเวลาปี 2027 ที่ พล.อ. ฟิลิป เดวิดสัน อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เคยกล่าวต่อสภาคองเกรสเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า ภัยคุกคามของไต้หวันจะเป็นที่ประจักษ์ในอีก 6 ปีข้างหน้า

 

ขณะที่อีก 8% กล่าวว่า เป้าหมายรวมชาติของจีนน่าจะเกิดขึ้นภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายปี 2035 ที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กำหนดไว้สำหรับโครงการของรัฐบาลหลายโครงการ ส่วนอีก 3% กล่าวว่า เป้าหมายอาจเป็นในอีก 50 ปีข้างหน้า

 

ผลสำรวจเผยด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญ 42% ตอบว่า ปักกิ่งสามารถรอได้ไม่มีกำหนด ตราบเท่าที่ยังมองเห็นความเป็นไปได้ในการรวมชาติ

 

เมื่อถามว่า จีนมีแผนจะใช้กำลังทหารโจมตีเป้าหมายทางกายภาพที่สำคัญกับไต้หวันภายในปี 2027 หรือไม่ ร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า ‘ไม่’

 

สองประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกันคือคำถามที่ว่า ปักกิ่งจะบุกไต้หวันทันทีหรือไม่หากไทเปประกาศเอกราช (77% ตอบว่าใช่) และปักกิ่งเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเต็มใจส่งทหารไปช่วยป้องกันไต้หวันหรือไม่หากมีการบุกรุก (100% ตอบว่าใช่)

 

“สิ่งที่ทำให้ฉันแปลกใจคือ แม้คำตอบแต่ละข้อค่อนข้างชัดเจน แต่ในคำถามทั้ง 13 ข้อ กลับมีเพียง 2 คน จาก 64 คน ที่ตอบแบบเดียวกัน” บอนนี หลิน จาก CSIS กล่าว “ฉันคาดการณ์ไว้ว่าจะมีคนที่ตอบคำถามไปในแนวทางเดียวกันมากกว่านี้”

 

ภาพ: Edward Wong / South China Morning Post via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X