จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ของโลกที่นำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับสู่โลกได้สำเร็จ โดยองค์การอวกาศแห่งชาติของจีนเผยว่า เมื่อช่วงเวลาก่อน 02.00 น. ที่ผ่านมา ตามเวลากรุงปักกิ่ง (17 ธันวาคม) ยานฉางเอ๋อ 5 ของจีน เดินทางกลับสู่พื้นโลกในเขตปกครองมองโกเลียใน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของจีนบนเส้นทางทะเยอทะยานสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ
ก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่นำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกได้ โดยในโครงการ Apollo นั้น สหรัฐฯ นำนักบินอวกาศลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์รวม 12 คน ในภารกิจ 6 เที่ยว ช่วงระหว่างปี 1969-1972 และนำตัวอย่างหินและดินกลับมายังโลกรวมน้ำหนัก 382 กิโลกรัม
ขณะที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ 3 ครั้ง ในช่วงทศวรรษ 1970 โดยครั้งสุดท้ายคือปี 1976 ที่นำตัวอย่างหิน 170.1 กรัม กลับออกมาด้วยยาน Luna 24
จีนส่งยานฉางเอ๋อ 5 ขึ้นจากสถานีส่งยานอวกาศเหวินชางในมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน และประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
สำหรับรายละเอียดภารกิจครั้งนี้ตามที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ จีนตั้งเป้าเก็บตัวอย่างหินน้ำหนักรวม 2 กิโลกรัมจากพื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจบนที่ราบลาวาขนาดมหึมา หรือที่รู้จักในชื่อ ‘Oceanus Procellarum’ โดยเป้าหมายสำคัญคือต้องการช่วยนักวิทยาศาสตร์ศึกษาต้นกำเนิดของดวงจันทร์รวมถึงระบบสุริยะด้วย
ทั้งนี้ องค์การอวกาศแห่งชาติจีนได้วางแผนสำรวจดวงจันทร์ไว้ 4 เฟส เรียงตามความยาก โดยเฟสแรกคือการทดสอบการลงจอดด้วยยานฉางเอ๋อ 1 และ 2 ซึ่งสำเร็จไปแล้ว เฟสต่อมาคือการลงจอดและปล่อยโรเวอร์ออกมาวิ่งสำรวจด้วยยานภารกิจฉางเอ๋อ 3 และ 4 ซึ่งก็ทำสำเร็จแล้วเช่นกัน ส่วนเฟสปัจจุบันคือการลงจอดและเก็บตัวอย่างกลับโลกด้วยยานฉางเอ๋อ 5 และ 6 และเฟสสุดท้ายในอนาคตคือการตั้งสถานีสำรวจอัตโนมัติบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งจะส่งยานฉางเอ๋อ 7 ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจ
จีนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ โดยส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2003 จากนั้น 10 ปีต่อมา จีนได้ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรก โดยนอกจากดวงจันทร์แล้ว จีนยังมีโครงการสำรวจดาวอังคาร และได้ส่งยานอวกาศเดินทางไปที่นั่นเพื่อสำรวจหาน้ำในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: