ดัชนีตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างโดดเด่นในวันนี้ (6 กุมภาพันธ์) โดยดัชนี CSI 300 เพิ่มขึ้น 3.5% ขณะที่ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงเพิ่มขึ้น 4% นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นจีนอื่นๆ อย่าง CSI 1000 ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นขนาดกลางและเล็กในจีน ปรับตัวขึ้นถึง 8% รวมถึงดัชนี SZSE Component ของเซินเจิ้นก็ปรับตัวขึ้นได้ถึง 6.2%
ตั้งแต่ปี 2021 หุ้นจีนและฮ่องกงเผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มูลค่าของตลาดหายไปราว 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 250 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรทั้งในตลาดหุ้นและในบางอุตสาหกรรม เช่น อสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ล่าสุด หุ้นจีนกลับมามีความหวังอีกครั้ง โดย Bloomberg รายงานว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เตรียมที่จะหารือกับหน่วยงาน ก.ล.ต. ของจีน เพื่อหาแนวทางแก้วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับหุ้นจีน
รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้นจีนเป็นวิกฤตความเชื่อมั่น
“นักลงทุนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการอะไรซึ่งกระทบต่อตลาดหุ้นอีกหรือไม่ แม้กำไรของบริษัทจีนจะดีขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาจนแข่งขันกับสหรัฐฯ ได้ แต่นักลงทุนกลับให้มูลค่าหุ้นจีนในระดับที่ต่ำกว่ามาก”
รัฐศรัณย์มองว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้หุ้นจีนทะยานกลับมาได้อย่างมั่นคง คือกองทุนพยุงหุ้นที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท (ราว 1.99 ล้านล้านหยวน) เข้ามาเป็นตัวจุดชนวนให้นักลงทุนกลับมาสนใจหุ้นจีนอีกครั้ง
“ส่วนภาพระยะสั้น จากสถิติในอดีตที่ไม่ใช่ 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นจีนมักจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกหลังจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์”
Li Weiqing ผู้จัดการกองทุนของ JH Investment Management Co. เชื่อว่า “นี่คือเวลาที่ควรซื้อหุ้นจีน ข่าวที่ว่าผู้นำสูงสุดของจีนจะร่วมประชุมเป็นการบ่งบอกว่าการดิ่งลงของหุ้นจีนใกล้ฟื้นตัวจากนโยบายที่ผ่อนคลายลง”
ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่เคยไหลออกจากหุ้นจีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลับมาไหลเข้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะช่วงบ่ายของวันที่ 6 กุมภาพันธ์
Linda Lam หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาตลาดทุนภูมิภาคเอเชียเหนือของ Union Bancaire Privée กล่าวว่า จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งหุ้นจีนผ่านสถานการณ์ที่คล้ายกัน ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว และการเก็งกำไรที่ลดลง หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าการฟื้นตัวจะไม่ได้เป็นแบบ V-Shape และมั่นคงภายในไม่กี่วัน แต่จะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่นักลงทุนจะกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง
กองทุนสหรัฐฯ แห่ขนเงินออกจากหุ้นจีนไปหาหุ้นอินเดีย
ช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชีย โดยอินเดียในฐานะเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดของโลกในเวลานี้
สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือท่าทีของกองทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกองทุนสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้มองว่าตลาดหุ้นอินเดียเป็นตลาดที่น่าสนใจมากกว่า จนล่าสุดมูลค่าของสินทรัพย์ของ iShares MSCI India ETF ที่เคยต่ำกว่า iShares MSCI China ETF ราวเท่าตัว ปัจจุบันกลับพุ่งขึ้นมามีมูลค่า 8.1 พันล้านดอลลาร์ สวนทางกับมูลค่าของ ETF หุ้นจีนที่ลดลงไปเหลือ 4.9 พันล้านดอลลาร์
โดยปี 2023 ที่ผ่านมา กองทุนหุ้นจีนที่ใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรก มียอดขายสุทธิเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Morgan Stanley ทำนายว่าตลาดหุ้นอินเดียจะกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2030
จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียกับมูลค่าตลาดหุ้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน หากเศรษฐกิจอินเดียยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกัน หากเศรษฐกิจอินเดียยังเติบโตได้ในระดับ 7% ต่อปี ตลาดหุ้นก็น่าจะเติบโตได้ในระดับนั้น
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-06/xi-set-to-discuss-china-stock-market-with-financial-regulators?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-06/china-sovereign-fund-vows-to-further-increase-etf-holdings?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-06/goldman-morgan-stanley-bet-on-india-stocks-as-wall-street-shifts-from-china?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg