×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัตถุลอยฟ้าปริศนาที่บินป่วนอเมริกาเหนือ

13.02.2023
  • LOADING...
บอลลูนสอดแนมจีน

‘ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ น่าจะเป็นสุภาษิตไทยที่อธิบายเรื่องวุ่นๆ ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาได้ดีที่สุดในเวลานี้

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์วุ่นวายขึ้นในซีกโลกตะวันตกถึง 3 วันติด เมื่อมีวัตถุลอยฟ้าปริศนาโผล่ขึ้นมาเหนือน่านฟ้าของสหรัฐฯ และแคนาดาถึง 3 ครั้งใน 3 วัน ร้อนถึงฝูงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ที่ต้องออกปฏิบัติการทำลายวัตถุดังกล่าว (รวมถึงในแคนาดาด้วย) ซึ่งหลายฝ่ายหวั่นเหลือเกินว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของภูมิภาค ขณะที่เรื่องของบอลลูนสอดแนมจีนเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าก็ยังไม่ทันจะได้ข้อสรุปดี

 

แม้วัตถุปริศนาทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งเรียบร้อย แต่ดูเหมือนว่านี่ไม่ใช่จุดจบ แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกทั้งยังมีคำถามอีกมากมายตามมาว่า วัตถุปริศนาคืออะไร เป็นบอลลูนสอดแนมหรือไม่ และมาจากจีนอีกหรือเปล่า และนี่คือข้อมูลเท่าที่เรารู้ในขณะนี้

 

ไล่ไทม์ไลน์สารพัดวัตถุปริศนาลอยป่วนน่านฟ้าอเมริกาเหนือ

 

  • ความวุ่นวายเริ่มต้นขึ้นจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม เมื่อสหรัฐฯ ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยขนาดใหญ่ลอยอยู่บนอากาศ ก่อนมีรายงานยืนยันว่าวัตถุดังกล่าวเป็นบอลลูนของจีน ซึ่งเคลื่อนผ่านพื้นที่สำคัญของประเทศหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือฐานทัพอากาศมัลม์สตรอมในรัฐมอนแทนา ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ตั้งของไซโลจัดเก็บขีปนาวุธสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ 

 

  • หลังจากที่ลังเลอยู่หลายวัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งเครื่องบินรบ F-22 ยิงสอยบอลลูนสอดแนมดังกล่าวขณะลอยอยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชนบนภาคพื้นดิน

 

  • เพนตากอนกล่าวว่า บอลลูนดังกล่าวมีขนาดใหญ่เท่ารถบัส 3 คัน และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน พร้อมติดตั้งสายอากาศหลายตัว และมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่พอที่จะจ่ายไฟให้กับเซ็นเซอร์รวบรวมข่าวกรองหลายตัวเลยทีเดียว

 

  • แม้ทางการจีนจะยอมรับว่าบอลลูนเป็นทรัพย์สินของประเทศจริง แต่ก็ยืนกรานเสียงแข็งว่าเป็นบอลลูนพลเรือนที่ใช้สำหรับวิจัยทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเดินทางออกนอกเส้นทางเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ไม่ได้มีการสอดแนมสหรัฐฯ อย่างที่ถูกโจมตี

 

  • ขณะที่ประเด็นบอลลูนสอดแนมยังไม่ทันได้ข้อสรุปดี ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ก็เกิดเหตุที่สหรัฐฯ เจอวัตถุลอยฟ้าต้องสงสัยอีกครั้ง และก็จบแบบเดิมที่กองทัพอากาศส่งเครื่องบิน F-22 ปล่อยอาวุธเข้าทำลายวัตถุดังกล่าวในน่านฟ้าของรัฐอะแลสกา

 

  • ยังไม่ทันจะได้พักหายใจ ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา แถลงยืนยันว่ามีการตรวจพบวัตถุไม่ทราบที่มาบินรุกล้ำน่านฟ้าแคนาดา ก่อนที่ทั้งกองทัพแคนาดาและสหรัฐฯ จะประสานงานเพื่อส่งเครื่องบินขับไล่เข้าติดตาม และเป็นเครื่องบินขับไล่ F-22 ของสหรัฐฯ ที่ยิงขีปนาวุธ AIM-9X เข้าใส่วัตถุบินได้ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนฝั่งที่ติดกับสหรัฐฯ ไปเพียงแค่ 160 กิโลเมตร 

 

  • ทางการแคนาดาอธิบายเพิ่มเติมในภายหลังว่า วัตถุดังกล่าวมีรูปทรงกระบอก และมีขนาดเล็กกว่าบอลลูนสอดแนมลูกแรก แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าวัตถุนี้เกี่ยวข้องกับจีนอีกหรือไม่ โดยวัตถุ 2 ชนิดหลังนั้นมีขนาดเล็กประมาณเท่าๆ กับรถ Volkswagen Beetle เท่านั้น

 

  • และล่าสุดคือเมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจส่ง F-16 ทำลายวัตถุลอยฟ้าต้องสงสัยชิ้นล่าสุดที่ลอยอยู่เหนือบริเวณทะเลสาบฮูรอน หนึ่งในทะเลสาบเกรตเลกส์ทั้งห้าในทวีปอเมริกาเหนือ และเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ และรัฐออนแทรีโอของแคนาดา นับเป็นวัตถุลอยฟ้ากรณีที่ 4 ในรอบไม่ถึง 2 สัปดาห์ 

 

วัตถุลอยฟ้าชิ้นล่าสุดเกี่ยวข้องกับบอลลูนจีนหรือไม่?

 

  • ในตอนนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ยืนยันได้ว่าวัตถุดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับบอลลูนสอดแนมของจีนอย่างที่ลือกัน

 

  • เมลิสซา ดอลตัน (Melissa Dalton) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านการป้องกันมาตุภูมิและความมั่นคงโลก กล่าวกับผู้สื่อข่าววานนี้ว่า สหรัฐฯ ได้ยิงวัตถุดังกล่าวด้วยความระมัดระวังอย่างสูง พร้อมระบุด้วยว่า วัตถุดังกล่าวอาจเป็นของบริษัท ประเทศ หรือองค์กรการวิจัยจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งคาดว่าจุดประสงค์ในการใช้งานนั้นไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายแต่อย่างใด รวมถึงอาจถูกใช้เพื่อการวิจัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

 

  • “มันอาจจะแตกต่างกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ตรงที่เรารู้แน่ชัดว่าบอลลูนสอดแนมจากจีนคืออะไร” ดอลตันกล่าว “วัตถุลอยฟ้าปริศนาชุดล่าสุดไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางทหาร แต่เส้นทางบินของวัตถุเหล่านี้อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รวมถึงระดับความสูงที่อาจเป็นอันตรายต่อภาคการบินพลเรือน และทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้น”

 

  • จึงสรุปได้ว่า มีเพียงบอลลูนลูกแรกเท่านั้นที่เป็นวัตถุลอยฟ้าจากจีนและมีจุดประสงค์เพื่อการสอดแนมอย่างแน่ชัด ส่วนวัตถุอื่นๆ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลยืนยันจากรัฐบาล

 

วัตถุ 3 ชิ้นล่าสุดเป็นบอลลูนหรือเปล่า?

 

  • ฮาลีย์ บริตสกี (Haley Britzky) จากสำนักข่าว CNN ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ซึ่งเขาตอบกลับมาว่า ก่อนที่สหรัฐฯ จะตัดสินใจสอยวัตถุลอยฟ้าปริศนาชิ้นที่ 4 เหนือบริเวณทะเลสาบฮูรอนวานนี้ นักบินได้บรรยายถึงลักษณะของวัตถุปริศนา 2 ชิ้นก่อนหน้าที่ถูกยิงตกในอะแลสกาและแคนาดาแก่รัฐบาลของไบเดนด้วย

 

  • โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกล่าวว่า วัตถุทั้ง 2 ชิ้นไม่ได้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมากนัก และมีขนาดเล็กกว่าบอลลูนของจีนมาก แต่ทางการ “จะไม่ระบุลักษณะที่ชัดเจนของพวกมันว่าคืออะไร จนกว่าจะสามารถเก็บกู้ซากชิ้นส่วนต่างๆ ได้เรียบร้อย”

 

  • แต่ถึงเช่นนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คนที่ออกมากล่าวเป็นนัยว่าวัตถุปริศนาอาจเกี่ยวข้องกับบอลลูน

 

  • ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา เปิดเผยกับสำนักข่าว ABC News ว่า เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับวัตถุลอยฟ้าให้เขาได้รับทราบ โดยกล่าวว่าวัตถุลอยฟ้าที่ถูกยิงตกในแคนาดาและอะแลสกามีความเป็นไปได้ที่จะเป็น ‘บอลลูน’ เหมือนกัน

 

  • พล.อ. เวย์น อายร์ (Wayne Eyre) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแคนาดา ก็ได้กล่าวถึง ‘บอลลูน’ ด้วยเช่นกัน ในขณะที่เขาได้อธิบายต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการสั่งการไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ยิงสกัดวัตถุดังกล่าว

 

เหตุใดจึงมีวัตถุลอยฟ้าโผล่ขึ้นมาไล่เลี่ยกันในเวลานี้?

 

  • แน่นอนว่าคำถามดังกล่าวน่าจะเป็นข้อสงสัยหลักของใครหลายคน ซึ่งสำนักข่าว CNN ก็ได้พยายามค้นหาคำตอบด้วยการสอบถามแหล่งข่าวใกล้ชิดถึง 6 คนด้วยกัน ซึ่งพวกเขากล่าวว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพิ่งค้นพบวิธีการแทร็กฝูงบอลลูนสอดแนมของจีนเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

 

  • การค้นพบดังกล่าวได้เปิดทางให้สหรัฐฯ มีโอกาสพัฒนาต่อยอดวิธีการทางเทคนิคเป็นครั้งแรก และนำมาใช้ในการติดตามบอลลูนที่แทบจะแทร็กการเคลื่อนไหวของพวกมันได้แบบเรียลไทม์ทั่วโลก

 

  • ขณะเดียวกันคำอธิบายที่ว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เพิ่งค้นพบวิธีแทร็กฝูงบอลลูนจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ช่วยตอบคำถามในประเด็นที่ว่า ทำไมรัฐบาลในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงเคยออกมาแถลงข่าวว่ารัฐบาลไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุลอยฟ้าต้องสงสัยทั้ง 3 กรณีในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ 

 

  • หรืออีกนัยหนึ่งอาจตีความได้ว่า การปรากฏตัวของวัตถุดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ ไม่เคยแทร็กพวกมันได้มาก่อน

 

  • และเมื่อไม่นานมานี้ศูนย์บัญชาการป้องกันอวกาศแห่งทวีปอเมริกาเหนือ หรือ NORAD เพิ่งปรับแก้เกณฑ์การตรวจตราภัยคุกคามในน่านฟ้าของทวีปอเมริกาเหนือใหม่ เพื่อให้สามารถระบุเป้าหมายที่เคลื่อนไหวในอากาศอย่างช้าๆ ได้ดีขึ้น

 

  • ดอลตันกล่าวว่า หลังจากที่ดำเนินการยิงสกัดบอลลูนจีน สหรัฐฯ ก็ได้ยกระดับการตรวจสอบน่านฟ้าของประเทศอย่างละเอียดยิ่งขึ้นที่ระดับความสูงเหล่านี้ รวมถึงการยกระดับเรดาร์ตรวจจับ ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า เหตุใดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ถึงเจอวัตถุปริศนาเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นด้วย

 

ปฏิบัติการสอดแนมจีนมีขอบเขตแค่ไหน?

 

  • คำถามดังกล่าวยังตอบได้ไม่แน่ชัด แต่คาดว่าปฏิบัติการของจีนคงมีขอบเขตไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหลังจากที่มีข่าวบอลลูนสอดแนมจีนลอยรุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ก็มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการสอดแนมระดับโลกของกองทัพจีน

 

  • เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทางการเชื่อว่าบอลลูนสอดแนมที่สหรัฐฯ ค้นพบนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของฝูงบอลลูนจำนวนมากที่ปฏิบัติการสอดแนมอยู่ประจำพื้นที่ต่างๆ ในกว่า 40 ประเทศ ครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก

 

  • “สหรัฐฯ ไม่ใช่เป้าหมายเดียวของโครงการที่ครอบคลุมในวงกว้างนี้” แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า สหรัฐฯ แบ่งปันข้อมูลที่รวบรวมได้จากเศษซากบอลลูนให้กับอีกหลายสิบประเทศที่อาจตกเป็นเป้าหมายของโครงการบอลลูนสอดแนมเช่นกัน

 

วัตถุลอยฟ้าชิ้นที่ 4 ที่ถูกยิงตกวานนี้เหมือนกับวัตถุอื่นๆ หรือไม่

 

  • อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า สดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ สหรัฐฯ ได้ส่ง F-16 ไปสอยวัตถุลอยฟ้าต้องสงสัยเหนือทะเลสาบฮูรอน ตามคำสั่งของไบเดน วัตถุดังกล่าวบินอยู่ที่ความสูง 20,000 ฟุต (ราว 6 กิโลเมตร) เหนือพื้นที่คาบสมุทรตอนบน (Upper Peninsula) ของมิชิแกน โดยมีลักษณะโครงสร้างเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม และมีสายห้อยอยู่

 

  • หลังการเปิดเผยดังกล่าวก็มีกระแสการคาดการณ์จากสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครตที่เชื่อว่า วัตถุลอยฟ้าทั้ง 3 ชิ้นล่าสุดเป็นบอลลูนสอดแนมที่มีลักษณะคล้ายกับบอลลูนของจีนที่ถูกทำลายไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจจะมีขนาดเล็กกว่าบอลลูนลูกนั้นมาก 

 

  • แต่ถึงเช่นนั้น พลจัตวา แพทริก ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาแถลงข่าวว่า สำหรับวัตถุชิ้นล่าสุดนั้น “เราไม่ได้ประเมินว่ามันเป็นภัยคุกคามทางทหารที่จะทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ภาคพื้น แต่ประเมินว่ามันเป็นอันตรายต่อด้านความปลอดภัยทางการบิน และเป็นภัยในแง่ที่อาจใช้เพื่อการสอดแนมได้ ทีมงานของเราอยู่ระหว่างการเก็บกู้ซากวัตถุดังกล่าวเพื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติมต่อไป”

 

จีนยังนิ่งเงียบ

 

  • หลังจากที่สหรัฐฯ สอยบอลลูนสอดแนมจีนลูกแรกไป ปักกิ่งได้ออกมาประณามอย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า การกระทำของสหรัฐฯ เป็นการ ‘ละเมิดหลักปฏิบัติระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง’ และจีนขอสงวนสิทธิ์ในการใช้วิธีการที่จำเป็นเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

 

  • แต่สำหรับวัตถุลอยฟ้าต้องสงสัยชุดล่าสุดทั้ง 3 กรณี ทางการจีนยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ มากนัก โดยในวันนี้ (13 กุมภาพันธ์) กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาเปิดเผยแค่สั้นๆ ว่า ทางการจีนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุลอยฟ้าทั้งสามที่สหรัฐฯ เพิ่งสอยร่วงไป

 

  • ขณะเดียวกันก็มีการแอบกัดเล็กๆ ว่า จีนเจอบอลลูนของสหรัฐฯ ลอยรุกล้ำน่านฟ้าของประเทศมากกว่า 10 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2022 โดยทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ แต่ถึงเช่นนั้นจีนไม่ได้กล่าวชี้ชัดว่าบอลลูนของสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ด้านการทหารหรือถูกใช้เพื่อการจารกรรมข้อมูลแต่อย่างใด

 

  • ด้านสำนักข่าว Sky News รายงานด้วยว่า สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนไม่ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นล่าสุดเลย จะมีก็เพียงแค่บทบรรณาธิการบนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Global Times ของจีนเท่านั้นที่พูดว่าสหรัฐฯ จัดการกับวัตถุลอยฟ้าเกินกว่าเหตุ

 

ฉะนั้นตอนนี้เราจึงทำได้แค่รอให้การพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ไขความกระจ่างต่อข้อสงสัยทั้งหมด เพื่อดูกันต่อไปว่าเรื่องวุ่นๆ เหล่านี้จะจบลงเช่นไร

 

ภาพ: EYEPRESS via Reuters Connect

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X