×

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ SMR ปลอดภัยจริงไหม ทำไมจีนไม่กลัว

02.11.2024
  • LOADING...

ในยุคสีจิ้นผิง จีนมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการทำ Green Transition มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น การระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับล่าสุด กำหนดให้ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นเป้าหมายที่มีสภาพบังคับต้องทำให้สำเร็จตามกรอบเวลาที่วางไว้ ทิศทางจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้รถทุกคันในจีนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมทั้งล่าสุดมีการผลักดันอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three Industries) ได้แก่ 1. รถยนต์ไฟฟ้า EV 2. แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ 3. เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic) ซึ่งล้วนมุ่งสู่ทิศทางหลักของประเทศจีนในการพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

 

ทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนต่างทุ่มเทพัฒนาและคิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ยุคใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของจีน คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2060

 

ล่าสุดจีนกลายเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กหรือ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยของเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ หรือ Nuclear 4.0 โรงไฟฟ้า SMR มีขนาด 300 เมกะวัตต์ ควบคุมดูแลความปลอดภัยได้ง่าย เป็นพลังงานสะอาด และสามารถผลิตไฟฟ้าที่มีความเสถียรสูง รวมทั้งมีอีกหลายประเทศที่เริ่มพัฒนาและออกแบบโรงไฟฟ้า SMR เช่น เกาหลีใต้ รวมทั้งเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยคืออินโดนีเซีย

 

กรณีศึกษาประสบการณ์ของจีนในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR 

 

ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปลงพื้นที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR แห่งแรกของจีน โดยเดินทางร่วมกับคณะผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่าน

 

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Changjiang Nuclear Power Plant ที่คณะจากไทยมีโอกาสเข้าไปสำรวจ Site Visit ตั้งอยู่ริมทะเลที่เมืองฉางเจียงบนเกาะไห่หนาน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR แห่งแรกของจีน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Hainan Nuclear Power: HNPC เป็นบริษัทในสังกัดของ China National Nuclear Corporation: CNNC รัฐวิสาหกิจหลักของจีนที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มานานกว่า 40 ปี

 

ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ HNPC แห่งนี้เปิดใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ CNP650 เพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้ว (กำลังการผลิตหน่วยละ 650 เมกะวัตต์) และมีเครื่องปฏิกรณ์แบบ ACP1000 ที่เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน (กำลังการผลิตหน่วยละ 1200 เมกะวัตต์)

 

ในส่วนของโรงไฟฟ้าแบบ SMR ที่คณะจากไทยเข้าไปเยี่ยมชมจะใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า ACP100 หรือ Linglong One ขนาด 125 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบโดยบริษัท CNNC และผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยโดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยล่าสุดเดือนสิงหาคม 2023 เริ่มมีการติดตั้งเตาปฏิกรณ์ Linglong One ซึ่งคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2026

 

สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ SMR คือยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นน้อยกว่า 5%) ออกแบบให้เดินเครื่องอย่างต่อเนื่องได้นาน 24 เดือน มีอายุการใช้งานนาน 60 ปี และโรงไฟฟ้า SMR ใช้เนื้อที่โดยรวมประมาณ 125 ไร่

 

ในการลงพื้นที่ดูงานครั้งนี้ ฝ่ายจีนที่มาให้ข้อมูลมีทั้งทีมผู้บริหาร CNNC ที่บินตรงมาจากกรุงปักกิ่ง และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากมณฑลอื่น (เช่น เสฉวน) มาร่วมให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม และพาคณะฯ เข้าเยี่ยมชมใน Exhibition Hall จัดแสดงข้อมูลและวิดีโอแบบจำลองของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีการใช้งานจริงในจีน รวมทั้งพาเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมฯ ที่มีการจำลองระบบทั้งหมดอยู่ในห้องคอนโทรล เพื่อควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่มีการใช้ผลิตพลังไฟฟ้าแบบ Real Time จากของจริง ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและจะต้องสอบใบอนุญาตอย่างเป็นระบบตามหลักสากล

 

แน่นอนว่าประเด็นที่คนทั่วไปอาจกังวลและตั้งคำถามคือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าแบบ SMR จะมีความปลอดภัยแค่ไหน มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ทีมวิศวกรที่ร่วมประชุมหารือด้วยจึงอธิบายในประเด็นนี้ว่า “เครื่องปฏิกรณ์แบบ SMR มีความปลอดภัยสูง ออกแบบให้เป็นเครื่องปฏิกรณ์ประเภทใช้ระบบน้ำอัดแรงดันที่มีการรวมอุปกรณ์หลายส่วนไว้ภายในถังปฏิกรณ์ (Integrated PWR) โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน และใช้หลักการออกแบบให้ง่ายขึ้น (Simplification) มีการรวมระบบกำเนิดไอน้ำไว้ในโมดูล และเพิ่มระดับความปลอดภัยแบบ Passive ซึ่งทำงานโดยไม่ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟภายนอก อาศัยหลักการพาความร้อนแบบธรรมชาติ (Natural Convection) เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น”

 

สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SMR มีอะไรบ้าง และจะมีความแตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิมอย่างไร จากข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ขอสรุปในแต่ละประเด็น ดังนี้

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR เป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นพลังงานสะอาดและก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสี (Nuclear Waste) ในปริมาณน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กลง ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม และลดความเสี่ยงทางการเงินได้มากกว่า

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ให้กำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ จัดการด้านความปลอดภัยได้ง่ายกว่า และเพียงพอในการใช้ประโยชน์ (สามารถเพิ่มจำนวนโมดูลหากต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า) ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปแบบเดิมจะให้กำลังการผลิตมากกว่า 1000 เมกะวัตต์

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ใช้พื้นที่น้อยกว่า (ประมาณ 100-125 ไร่) ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมจะใช้เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ก่อสร้างได้รวดเร็วกว่าคือประมาณ 3-4 ปี ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมใช้เวลาก่อสร้างนาน 5-6 ปี

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ก่อสร้างได้สะดวกกว่า เนื่องจากอุปกรณ์หลักจะประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผลิตก่อนจะมาติดตั้งในพื้นที่ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมจำเป็นต้องมีการก่อสร้างในพื้นที่เป็นหลัก

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR มีการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อน ผลิตไอน้ำ หรือแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และเหมาะกับพื้นที่ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กหรือพื้นที่ห่างไกล

 

  1. ด้านระบบความปลอดภัย เทคโนโลยีของ SMR มีความปลอดภัยสูง ทำงานแบบไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอก ใช้หลักการพาความร้อนแบบธรรมชาติ (Natural Convection) เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

 

  1. ในการจัดทำแผนฉุกเฉิน Emergency Zone สำหรับโรงไฟฟ้า SMR จะอยู่ภายในรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมที่มีขนาดใหญ่ต้องทำแผนฉุกเฉินรัศมี 16 กิโลเมตร

 

 

ไทยเรียนรู้อะไร

 

ในยุคที่โลกเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และมีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้อัจฉริยะในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลแบบดั้งเดิมที่ก่อมลพิษ หันมาผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ดังนั้นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด SMR ที่ไม่ปล่อยก๊าซ CO₂ จึงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก หลายบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Microsoft และ Google ก็เริ่มที่จะนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR มาป้อนให้กับศูนย์ Data Center ของตน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้า SMR คือตัวเปลี่ยนเกมสู่อนาคต แล้วประเทศไทยจะพร้อมรับกับ SMR นวัตกรรมสุดล้ำแห่งอนาคตนี้หรือไม่

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน หากแต่มีมากกว่า 18 ประเทศที่มีการพัฒนาและออกแบบโรงไฟฟ้า SMR มากกว่า 80 แบบ ประเทศไทยจึงควรคัดเลือกแบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขของประเทศไทย และจำเป็นต้องศึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมในทางเทคนิคเพื่อการใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้า SMR อย่างปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการสื่อสารส่งต่อข้อมูล SMR ที่ควรรู้สำหรับคนไทยทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจ คลายข้อกังวล และมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนวัตกรรมแห่งอนาคตเหล่านี้ด้วย

 

ภาพ: Luo Yunfei / China News Service / VCG via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising