×

องค์การอวกาศจีนส่งนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ ในภารกิจเสินโจว-16

โดย Mr.Vop
30.05.2023
  • LOADING...
Shenzhou-16

เมื่อเวลา 08.33 น. ของวันนี้ (30 พฤษภาคม) ตามเวลาประเทศไทย จรวดลองมาร์ช 2 เอฟ ทะยานออกจากฐานปล่อยในศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน (酒泉卫星发射中心) มณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นำส่งยานอวกาศในภารกิจเสินโจว-16 (神舟十六号) พร้อมนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นสู่วงโคจร

 

นักบินอวกาศทั้ง 3 คน ประกอบด้วย จิ่งไห่ผิง รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งออกเดินทางสู่อวกาศครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 (เคยเดินทางไปกับภารกิจเสินโจว-7, เสินโจว-9, เสินโจว-11 และเสินโจว-12) คนที่ 2 คือ จูหยางจู้ รับหน้าที่เป็นวิศวกรการบินอวกาศประจำภารกิจ ซึ่งออกเดินทางสู่อวกาศครั้งนี้เป็นครั้งแรก และสุดท้ายคือ กุ้ยไห่เฉา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเป่ยหังในปักกิ่ง รับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุปกรณ์บรรทุก (Payload) โดยออกเดินทางสู่อวกาศครั้งนี้เป็นครั้งแรกเช่นกัน

 

ทั้ง 3 คนมีกำหนดเดินทางขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกงเป็นเวลา 5 เดือน ถือเป็นเจ้าหน้าที่ทีมแรกที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่หลังสถานีอวกาศจีนผ่านขั้นตอนการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และบัดนี้สถานีอวกาศได้เปลี่ยนเข้าสู่ขั้นตอนการประยุกต์ใช้งานและพัฒนาแล้ว 

 

นอกจากนี้การเดินทางไปถึงสถานีอวกาศของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน ยังเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้วงการอวกาศโลก นั่นคือมีมนุษย์อยู่บนวงโคจรมากที่สุดที่จำนวน 17 คนใน 2 สถานีอวกาศ (สถานีอวกาศจีน 6 คน สถานีอวกาศนานาชาติ 11 คน)

 

อีกสถิติหนึ่งที่เกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้คือ ศ.กุ้ยไห่เฉา จะกลายเป็นพลเรือนคนแรกของจีนที่ได้เดินทางสู่อวกาศ ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาในวันแถลงข่าวไม่น้อย เนื่องจาก ศ.กุ้ย ได้สวมใส่แว่นตาในการถ่ายภาพลงสื่อ ซึ่งไม่เคยมีนักบินอวกาศจากกองทัพประชาชนจีนคนใดเคยทำมาก่อน

 

ศ.กุ้ยไห่เฉา ต้องผ่านการฝึกฝนร่างกายอย่างหนักก่อนออกเดินทางในครั้งนี้ เช่น การเอาชีวิตรอดในทะเลทราย และการทดสอบการอดนอนเป็นระยะเวลานาน ทั้งยังต้องผ่านเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูง (Centrifuge) เพื่อให้ร่างกายสามารถทนแรง G ของยานอวกาศได้ และต้องผ่านการฝึกซ้อมใต้น้ำสำหรับทักษะการปฏิบัติการในอวกาศ

 

ยานอวกาศในภารกิจเสินโจว-16 เข้าต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงภายใน 6.5 ชั่วโมงหลังออกจากโลก ซึ่งเป็นเวลาที่จะได้พบกับการต้อนรับของเจ้าหน้าที่อีก 3 คนในภารกิจเสินโจว-15 ที่เดินทางมาประจำการอยู่บนสถานีอวกาศก่อนหน้านี้ และจะมีการถ่ายทอดสดการพบกันในครั้งนี้ด้วย

 

หลายปีที่ผ่านมา องค์การอวกาศจีนได้เร่งพัฒนาความสามารถทางด้านการสำรวจอวกาศอย่างรวดเร็ว การมีสถานีอวกาศเทียนกงเป็นห้องทดลองลอยฟ้าที่พร้อมใช้งานไปอีกยาวนานมากกว่า 10 ปี จะเป็นข้อได้เปรียบหลังสถานีอวกาศนานาชาติหมดอายุใช้งานลงในปี 2030 

 

จีนมีแผนส่งนักบินอวกาศชุดถัดไป (เสินโจว-17) ประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกงช่วงปลายปีนี้ และยังมีความตั้งใจที่จะส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์ในปี 2030 สร้างความตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับผู้สนใจติดตามข่าวสารด้านนี้

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising