×

จีนกำลังเผชิญปัญหาหนี้ท่วม! อีกความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจ หลังสัดส่วนหนี้ต่อ GDP พุ่งแตะ 282% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

07.08.2023
  • LOADING...
ปัญหาหนี้จีน

HIGHLIGHTS

  • หนี้ภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีนสูงกว่าขนาดเศรษฐกิจแล้ว โดยเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 282% ของ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้
  • อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่าการกู้ยืมของทั้งรัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ต่ำลงนั่นเอง
  • ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะ Balance Sheet Recession หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นเมื่อหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง ทำให้บุคคลหรือบริษัทต่างๆ หันมาชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือลดลงหรือไม่

สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตามการประมาณการของ Bloomberg ระบุว่า หนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีน เพิ่มขึ้นเฉียด 282% ของ GDP ในไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่าการกู้ยืมของทั้งรัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ต่ำลงนั่นเอง

 

ตามการคำนวณข้อมูลของธนาคารกลางจีน (PBOC) และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) โดย Bloomberg แสดงให้ว่า หนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาลของจีน เพิ่มแตะ 281.5% ของ GDP ในไตรมาส 2 ของปี 2023 จาก 279.7% ในไตรมาสแรก (ภาพที่ 1)

 

 

 

สอดคล้องกับการประเมินของสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (National Institution for Finance And Development: NIFD) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมอง ที่ประเมินว่าหนี้สินโดยรวม (Total Debt) จะเพิ่มขึ้นเป็น 283.9% ในไตรมาส 2

 

จีนกำลังเข้าสู่ภาวะ Balance Sheet Recession หรือไม่?

จากข้อมูลของ PBOC และ NBS ยังแสดงให้เห็นว่าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจีนกำลังสร้างหนี้เพิ่ม โดยสัดส่วนหนี้ของทั้ง 2 ภาคส่วนเมื่อเทียบกับ GDP ได้เพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 2 (ภาพที่ 2)

 

 

ตัวเลขเหล่านี้กำลังทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะ Balance Sheet Recession หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง ทำให้บุคคลหรือบริษัทต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการออมและการชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือลดลง ตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นในปี 1990 หรือ Lost Decade และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกาในปี 2007-2009

 

Richard Koo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยโนมูระ กล่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่า จีนกำลังเผชิญกับสิ่งคล้ายคลึงที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงักในทศวรรษที่ 1990 ได้แก่ การลดลงอย่างรวดเร็วของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ภาคเอกชนหันไปลดภาระหนี้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนลดลง

 

อย่างไรก็ตาม NIFD มองว่าขณะนี้สัดส่วนการก่อหนี้โดยรวมในจีนจะยังไม่ลดลง แต่มีสัญญาณการชะลอตัว ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการซ่อมแซมงบดุลหรือบัญชีหนี้สินของตนมากกว่าที่เคยเป็น และบริษัทต่างๆ ลังเลที่จะกู้ยืมเพื่อขยายธุรกิจ

 

ดังนั้น “แนวโน้มเหล่านั้นอาจทำให้การเติบโตของ GDP ชะลอตัวลงได้ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากรัฐบาลจีนเพิ่มการกู้ยืมและลดอัตราดอกเบี้ย” NIFD ระบุ

 

นักเศรษฐศาสตร์-รัฐบาลจีนพยายามผลักดัน ‘แคมเปญลดหนี้’ มาตลอด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นในจีนเป็นความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มออก ‘แคมเปญลดหนี้’ (Deleveraging Campaign) มาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน รวมไปถึงความพยายามของปักกิ่งในปี 2020 ที่ตั้งเป้าจะลดการก่อหนี้และการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

Adam Wolfe นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่จาก Absolute Strategy Research กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อสรุปของรายงาน NIFD ว่าจีนไม่ได้อยู่ในภาวะ Balance Sheet Recession แต่จีนก็ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากครัวเรือนและบริษัทต่างๆ กำลังเร่งซ่อมแซมงบดุลของตนอยู่ โดยสาเหตุที่ครัวเรือนและบริษัทในจีนมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลในการลดความเสี่ยงภาคการเงิน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X