×

โลกหวังได้แค่ไหน กับบทบาทจีนในการผลักดันสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน

02.03.2023
  • LOADING...
จีน

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินมาครบ 1 ปีเต็ม ไฟสงครามยังคงคุกรุ่น พร้อมที่จะปะทุเป็นความรุนแรงใหญ่ได้ทุกขณะ ทั้งสองฝ่ายยังคงห้ำหั่นกันอย่างไม่ลดละ เพื่อหวังที่จะเป็นผู้คว้าชัยชนะในความขัดแย้งครั้งนี้

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ล่าสุดที่ต้องการพูดคุยกับสีจิ้นผิงถึงแผนสันติภาพที่จีนเพิ่งเสนอมา 12 ข้อเพื่อคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้น ในทางหนึ่งก็สะท้อนความต้องการของยูเครนในการยุติสงครามอันยืดเยื้อ ซึ่งแน่นอนว่าเวลานี้สปอตไลต์จึงสาดส่องไปที่ปักกิ่งกับความพยายามในการเป็น ‘คนกลาง’ ช่วยไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท

 

หลายฝ่ายมองว่าไม่มีชาติใดที่จะเหมาะสมกับบทบาทนี้ได้มากกว่าจีนอีกแล้วในเวลานี้ เนื่องจากสีจิ้นผิงเป็นผู้นำหนึ่งเดียวที่มีอำนาจมากพอที่จะต่อรองกับรัสเซีย ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรรัสเซียหนึ่งเดียวที่เซเลนสกียอมให้เข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ย ทำให้เกิดความคาดหวังที่มากขึ้นว่า จีนอาจเป็น ‘ทางลง’ สำหรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ออกปากว่าการที่จีนเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก และเขาหวังว่าจีนจะเข้ามาช่วยกดดันรัสเซียอีกทางหนึ่ง 

 

นอกจากเซเลนสกีที่อยากพบสีจิ้นผิง และมาครงที่ประกาศว่าจะเดินทางไปปักกิ่งในเดือนเมษายน เพื่อหารือถึงแนวทางสร้างสันติภาพแล้ว สีจิ้นผิงก็มีกำหนดจะไปเยือนรัสเซียเพื่อพบปูตินด้วย ดังนั้นจึงดูเหมือนถนนทุกสายกำลังจะมุ่งสู่ปักกิ่ง

 

แต่ถึงเช่นนั้นก็มีเสียงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าจีนจะเป็นคนกลางได้จริง โดยพวกเขามองว่าจีนไม่ได้มีความน่าเชื่อถือมากขนาดนั้น เพราะที่ผ่านมาจีนปฏิเสธแม้กระทั่งเรื่องพื้นฐาน อย่างเช่นการประณามกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้ แผนสันติภาพ 12 ข้อของจีนก็ไม่มีการเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากพื้นที่ของยูเครนในทันทีแต่อย่างใด อีกทั้งยังประณามชาติตะวันตกและพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อรัสเซียอีกด้วย 

 

THE STANDARD ชวน รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยกันว่า บทบาทของจีนต่อสงครามยูเครนในเวลานี้เป็นอย่างไร และเป็นไปได้แค่ไหนที่สีจิ้นผิงจะรับบทคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

ทำไมจีนเสนอตัวเป็นกาวใจยุติสงครามยูเครน โดยมีข้อเสนอสันติภาพ 12 ข้อ  จีนจะได้อะไรจากการยุติความขัดแย้ง?

 

สำหรับประเด็นนี้ ดร.อักษรศรี ได้วิเคราะห์ไว้ว่า มีอย่างน้อยสามประเด็น ในการอธิบายว่า ทำไมจีนในยุคสีจิ้นผิงจึงขยับมาเล่นบทบาทเป็นกาวใจเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทำไมจีนต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก ด้วยการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อในครั้งนี้ 

 

ประเด็นแรกคือ “สีจิ้นผิงน่าจะมองว่ามันถึงเวลาแล้ว สถานการณ์ของสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมาเป็นปีจนถึงทางตันตอนนี้ น่าจะเป็น Right Timing แล้วที่จีนจะมีบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้นำในการสร้างสันติภาพในระดับโลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าจีนจะเป็นผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลก” 

 

ขอชวนย้อนไปศึกษาบทบาทจีนในอดีต จะเห็นว่าจีนไม่ยุ่งเรื่องของคนอื่น ผู้นำจีนในอดีตไม่เคยเสนอตัวเป็นกาวใจในความขัดแย้งของประเทศอื่น ในอดีตจีนจะไม่ค่อยออกหน้าในเรื่องของคนอื่น จีนจะอยู่แบบ Low Profile ไม่เคยเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยสงครามเลย ที่ผ่านมาจีนจะเน้นสร้างบ้านสร้างเมือง เน้นพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศตัวเองมากกว่า เนื่องจากจีนมองว่าตัวเองเป็นชาติขนาดใหญ่ ขนาดของจีนทำให้หลายชาติหวาดระแวงกับการเติบใหญ่ของจีน จีนเลยเลือกที่จะอยู่เงียบๆ มากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เป็นยุคของสีจิ้นผิง หลายอย่างเปลี่ยนไป จีนมีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิม สีจิ้นผิงมั่นใจว่าจีนมีพลังอำนาจแห่งชาติที่เพียบพร้อมมากขึ้น มั่นใจว่าจีนแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับช่วงเวลานี้ชาติคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำตัวเป็นกลาง สหรัฐฯ เอียงข้างไปอยู่กับยูเครนและโจมตีรัสเซียอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะมาเล่นบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีความขัดแย้งระดับโลกในครั้งนี้ 

 

สีจิ้นผิงจึงมองว่า ‘นี่เป็นจังหวะเวลาของจีน’ จีนจะเป็น ‘ผู้ส่งออกสันติภาพ’ ในขณะที่คู่แข่งตนเองอย่างสหรัฐฯ เพลี่ยงพล้ำตกอยู่ในสถานะ ‘ผู้ส่งออกสงคราม’ จีนมองว่า เพราะสหรัฐฯ และพันธมิตรส่งอาวุธให้ยูเครนมาโดยตลอด จนทำให้สงครามยืดเยื้อนานเกินหนึ่งปี

 

ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายที่คาดหวังว่าจีนไม่ควรจะอยู่เฉย จีนควรจะออกมาเล่นบทบาทนี้ด้วย เพราะจีนอยู่ในสถานะที่เป็นมิตรกับคู่กรณีทั้งสอง ฝ่ายรัสเซียก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นมหามิตรที่สนิทกับจีนจนถึงขั้นประกาศว่าเป็น ‘หุ้นส่วนที่ไร้ขีดจำกัด’  (No Limits Partnership) ส่วนยูเครนเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ยูเครนร่วมมือกับจีนภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย

 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า “ลึกๆ แล้วจีนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่ก็ไม่เคยประณามรัสเซีย (ส่วนนี้มีนัยต่อการเตรียมพร้อมในการรวมชาติกรณีไต้หวัน) และสีจิ้นผิงรู้ดีว่าควรจะต้องดีลกับคนอย่างปูตินอย่างไร จีนจึงเลือกไม่หักด้ามพร้ากับรัสเซีย พร้อมๆ กับยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับยูเครนด้วย ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐฯ ที่เข้าข้างยูเครนโดยตรงและโจมตีปูตินมาโดยตลอด” ดร.อักษรศรีกล่าวเสริม

 

ประเด็นที่สองคือ สีจิ้นผิงมีเป้าหมายใหญ่ที่จะแสดงความเป็นผู้นำในระดับโลกมานานแล้ว และได้ริเริ่มแสดงบทบาทเชิงรุกในระดับโลกในหลายเรื่อง เพื่อผลักดันให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลกอีกครั้ง จีนใฝ่ฝันจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก โดยการเสนอข้อริเริ่มใหม่ๆ ในระดับโลก เช่น ด้านความมั่นคง จีนได้เสนอ Global Security Initiative (GSI) 

 

“ล่าสุดจีนได้จัดทำเอกสาร GSI Concept Paper ออกมาแล้วด้วย ดังนั้นการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อเพื่อยุติสงครามยูเครน จึงสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ที่จะโชว์ความเป็นผู้นำในระดับโลกของจีนนั่นเอง

 

“ถ้าไปไล่เรียงแผนสันติภาพของจีน 12 ข้อเพื่อยุติสงครามยูเครน ก็จะเห็นว่ามีหลายข้อสอดคล้องกับแผนริเริ่ม GSI ที่จีนเสนอเพื่อความมั่นคงของโลกด้วย เช่น ข้อ 5 ในเอกสาร GSI Concept Paper ระบุว่า ต้องยึดมั่นในการแก้ปัญหาความแตกต่างและข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างสันติผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ โดยระบุว่า ‘สงครามและการคว่ำบาตรไม่ใช่วิธีพื้นฐานในการแก้ไขข้อขัดแย้ง หากแต่การเจรจา และการปรึกษาหารือเป็นวิธีที่ได้ผลในการแก้ไขความแตกต่าง’ ภายใต้ GSI จึงเรียกร้องให้มี ‘การเสริมสร้างการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันด้านความมั่นคง แก้ไขข้อขัดแย้ง จัดการความแตกต่าง และกำจัดต้นตอของวิกฤต’”

 

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่า “มันคือความต้องการลึกๆ ของสีจิ้นผิงอยู่แล้วที่จะโชว์ความเป็น Global Leadership มันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลกอีกครั้ง”

 

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องที่มีนัยต่อการเมืองภายในประเทศของจีนเอง เพราะสีจิ้นผิงต้องการใช้โอกาสของการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลกรอบนี้ เพื่อปลุกเร้าความฮึกเหิมของปวงชนชาวจีนที่รักชาติยิ่งชีพได้มีความภาคภูมิใจในการที่จีนจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาสร้างสันติภาพให้กับโลก โดยหวังให้ความนิยมภายในประเทศต่อตัวผู้นำจีนคนนี้ได้ดีดขึ้นกลับมาอีกครั้งด้วย เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาความนิยมของสีจิ้นผิงได้สะดุดลงบ้างจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ตึงเกินไป จนสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของประชาชน และกระทบเศรษฐกิจจีนจนซบเซา ดังนั้นการโชว์ความเป็นผู้นำในระดับโลกของสีจิ้นผิงผ่านการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อนี้ ทำให้ชาวจีนได้เป็นปลื้ม และชาวเน็ตได้ฟินและลุ้นกันว่าจะสำเร็จไหม จีนจะได้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมายุติสงครามยูเครนได้สำเร็จหรือไม่ ลุ้นกันสุดๆ แบบนี้คงจะได้เบี่ยงเบนความสนใจหรือความกังวลจากปัญหาความอึมครึมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

ด้าน ดร.อาร์มมองว่า การที่มีแผนสันติภาพออกมานี้ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อจุดยืนของจีนเอง โดยที่ผ่านมาจีนพยายามที่จะแสดงจุดยืนมาตลอดว่า ‘จีนอยู่ข้างสันติภาพ’ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนหรือประณามรัสเซียโดยตรง 

 

“ถ้าไปดูเนื้อหาจากแผนสันติภาพ 12 ประการของจีนนั้นจะเห็นว่ามีการระบุถึงข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย รวมทั้งจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกับชาติตะวันตกด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ดูตอบโจทย์กับทางจีน ไม่ว่าแผนนี้สุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่”

 

แม้จะมีบทความจากชาติตะวันตกที่มองว่าจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่ยังพอได้รับผลพลอยได้จากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย เช่น สามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้ในราคาถูกลง รวมถึงกลายเป็นซัพพลายเออร์สินค้ารายใหญ่ให้กับรัสเซียแทนชาติตะวันตก แต่อาจารย์มองว่าสงครามที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างผลเสียให้กับจีนมากกว่า

 

“สงครามที่เกิดขึ้นเป็นผลเสียมากกว่าผลดีกับจีน เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ก็เลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเน้นในเรื่องของการส่งออกจะได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย ทำให้มีอุปสรรคในการเติบโต รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ตกต่ำลงกับยุโรป และเรื่องของความผันผวนทางพลังงาน ฉะนั้นจากมุมมองของจีนแล้ว การไม่มีสงครามก็เป็นผลดีมากกว่าอยู่แล้ว” ดร.อาร์มกล่าว

 

ถ้าจีนทำสำเร็จ จะช่วยยกสถานะของจีนในเวทีโลกแค่ไหน

 

ดร.อักษรศรีกล่าวว่า ‘ถ้าสมมติว่าแผนสันติภาพนี้สำเร็จ’ (แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกโจทย์ยากที่ต้องวิเคราะห์) ก็ย่อมจะมีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกว่า จีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมาช่วยยุติสงคราม ยกสถานะจีนขึ้นเป็นผู้สร้างสันติภาพให้กับโลก ดังนั้น ‘จีนย่อมต้องการที่จะสร้างภาพลักษณ์ของตนในการเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยโลกในยามวิกฤต’

 

“ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายในระดับโลกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย จะสังเกตได้ว่าสีจิ้นผิงได้เคยกล่าวในระหว่างการปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สีจิ้นผิงพูดว่า ‘จีนจะทำให้โลกต้องการจีน’ นั่นคือจะทำให้ ‘จีนจำเป็นสำหรับโลก’ จะทำให้โลกขาดจีนไม่ได้ ดังนั้นการเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อเพื่อเป็นกาวใจในครั้งนี้ หากทำสำเร็จได้จริงก็จะสอดคล้องกับความฝันของสีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะขยับสถานะของจีนในระดับโลก เพื่อโชว์ให้เห็นว่าจีนจะผงาดขึ้นเป็นผู้นำของโลกที่รักสันติภาพไม่ใช่สงคราม (Peaceful Rise of China)”

 

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ผู้นำเดิมของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็กำลังเพลี่ยงพล้ำในหลายๆ เรื่อง เช่น สหรัฐฯ กลายเป็นชาติที่ส่งออกเงินเฟ้อจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน เงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้ง ‘มีนักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า แท้จริงแล้วสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในชาติที่ได้ประโยชน์จากสงครามยูเครน จึงไม่อยากให้สงครามยุติ’ ดังนั้นจีนจึงต้องการใช้จังหวะเวลานี้เพื่อพลิกเกมมาแสดงบทบาทที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ นั่นคือจีนจะเป็นผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลกใบนี้ ไม่ใช่เป็นผู้โหยหาสงคราม

 

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์แผนสันติภาพของจีนในแต่ละข้อ จะพบว่ามีบางข้อที่จีนจงใจยิงตรงไปที่สหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น ข้อ 2 มีการระบุว่าให้ละทิ้งแนวคิดแบบสงครามเย็น ซึ่งจีนกำลังหมายถึง ‘สหรัฐฯ ที่ในอดีตทำให้โลกต้องแบ่งขั้วแบ่งค่ายในยุคสงครามเย็น โลกแบ่งเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตยและค่ายคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นทำให้เกิดสงครามตัวแทนและเกิดความขัดแย้งไปทั้งโลก ดังนั้นสีจิ้นผิงพยายามจะบอกว่า จีนจะไม่ทำแบบที่มหาอำนาจเดิมของโลกเคยทำ’

 

“โดยสรุป หากแผนสันติภาพนี้ของจีนสำเร็จได้จริง ก็ย่อมจะช่วยยกสถานะของจีนและสร้างภาพลักษณ์ของจีนว่าเป็นผู้สร้างสันติภาพในระดับโลก ในจังหวะเวลาที่คู่แข่งอย่างสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลง” ดร.อักษรศรีกล่าว

 

ดร.อาร์มเสริมเช่นกันว่า “ถ้าจีนทำสำเร็จ ก็จะช่วยหนุนภาพของบทบาทการเป็นผู้นำโลกอย่างแน่นอนอยู่แล้ว”

 

เป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดสันติภาพ หากทำตามข้อเสนอ 12 ข้อของจีน

 

หลังจากที่นักวิชาการทั้งสองท่านได้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะตามมาหากจีนทำสำเร็จ THE STANDARD ก็ได้ถามคำถามข้อสุดท้ายซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในใจของใครหลายคนว่า ท้ายที่สุดแล้วแผนสันติภาพ 12 ประการจะสำเร็จได้จริงหรือ

 

เริ่มต้นจาก ดร.อาร์มที่มองว่าความเป็นไปได้ที่แผนนี้จะสำเร็จนั้นมีโอกาสน้อยเหลือเกิน ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

 

“อันดับแรกคือ หากเราไปดูแผนสันติภาพข้อ 2 ซึ่งระบุว่า ‘ให้ละทิ้งแนวคิดแบบสงครามเย็น’ ทางจีนมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นคือการรุกคืบของ NATO ซึ่งส่วนนี้เป็นความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับชาติตะวันตก เนื่องจากพวกเขามองว่าสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของปูตินเพียงคนเดียว และ NATO ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับยูเครนว่าต้องการอย่างไร เป็นสิทธิอันชอบธรรมของยูเครนที่จะเลือกเป็นพันธมิตรกับใคร

 

“ข้อที่สองคือ ชาติตะวันตกมีความไม่ไว้วางใจจีนกับรัสเซียมาอยู่แล้ว มีกระแสภายในชาติตะวันตกที่มองว่าแผนสันติภาพนี้เป็นการซื้อเวลาให้กับรัสเซีย เพื่อให้รัสเซียมีเวลาไปเตรียมกองทัพให้เรียบร้อยและกลับมารบใหม่อย่างมีความพร้อม หลังจากที่ตอนนี้รัสเซียเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอยู่ในหลายสมรภูมิ

 

“ส่วนข้อที่สามคือ ชาติตะวันตกมีความเชื่อโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าไม่สามารถที่จะอ่อนข้อให้กับการกระทำที่เป็นอันธพาลได้ หรือก็คือถ้ายอมประนีประนอมกับรัสเซียในเรื่องนี้ก็จะเท่ากับเป็นการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า รัสเซียสามารถทำแบบนี้ได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นชาติตะวันตกก็คงไม่ยอมอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องที่บอกว่ายูเครนห้ามเป็นสมาชิก NATO และชาติตะวันตกคงไม่ยอมที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซียด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมองไม่เห็นว่าแผนนี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้อย่างไร

 

“ขณะเดียวกันรัสเซียเองก็ไม่ได้โอเคกับแผนนี้ เพราะหากไปดูแผนสันติภาพข้อที่ 1 ที่ระบุว่าต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของทุกดินแดน ก็หมายความว่ารัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครนทั้งหมด ซึ่งรัสเซียเองก็คงไม่ยอมรับข้อนี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้มีฝ่ายไหนที่บอกว่าจะดำเนินการตามแผนจีน แค่เป็นหลักการที่จีนนำเสนอเท่านั้น ใน 12 ข้อนี้ก็มีทั้งข้อที่เห็นด้วยกับรัสเซียและเห็นด้วยกับฝั่งตะวันตก แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีใครที่แสดงทีท่าว่าจะเอาด้วยกับแผนนี้”

 

ดร.อักษรศรีกล่าวว่า “สันติภาพจะเกิดได้หรือไม่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องและคงจะไม่เกิดโดยง่าย” 

 

จากการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของตัวแผนสันติภาพฉบับนี้ของจีน พบว่าเป็นแค่แนวทางหรือข้อเสนอกลางๆ ค่อนข้างประนีประนอมสำหรับทุกฝ่าย พูดง่ายๆ คือเป็นมาตรฐานของข้อเสนอสันติภาพทั่วไปที่ต้องเขียนไว้ เช่น การเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ รื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพ แก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรม คุ้มครองพลเรือนและเชลยศึก เป็นต้น

 

“หลายๆ ข้อที่อยู่ในแผนสันติภาพฉบับนี้จึงเป็นพื้นฐานทั่วไปในแผนสันติภาพที่ต้องมีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องจับตาคือ หลายข้อในแผนฉบับนี้มีนัยให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าวด้วย เช่น ขอให้ชาติตะวันตกยอมเลิกคว่ำบาตรแต่ฝ่ายเดียว และขอให้มีการหยุดยิง หยุดการสู้รบ ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าหากแต่ละฝ่ายยอมถอยคนละก้าวก็ย่อมจะมีโอกาสที่จะเกิดสันติภาพ แต่ประเด็นก็คือว่า แล้วจะมีใครยอมถอยก่อนหรือไม่ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีอีโก้ มีศักดิ์ศรีของตัวเอง จะมีใครยอมใครหรือไม่ ดังนั้นการที่จะตอบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับความจริงใจของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ” 

 

ที่สำคัญโจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้คือสหรัฐฯ “ตราบใดที่ชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ ไม่เอาด้วยกับแผนสันติภาพของจีน ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำไปสู่สันติภาพ หรือจะมีการยุติสงครามโดยง่าย  

 

“หลายคนพูดว่าใครๆ ก็โหยหาสันติภาพ อยากให้สงครามยุติ รัสเซียเองก็เจ็บตัวและเสียศักดิ์ศรีจากสงครามที่เผด็จศึกไม่ได้ง่ายตามคาด ชาติยุโรปเองก็เดือดร้อนจากสงครามที่ยืดเยื้อ แต่ก็มีความไม่ไว้วางใจจีน ไม่วางใจรัสเซีย ดังนั้นหากไม่มีความจริงใจต่อกันที่จะทำให้สงครามครั้งนี้ยุติจริงๆ มันก็ยากที่จะประเมิน สุดท้ายแล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย” ดร.อักษรศรีทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

 

แน่นอนว่าสงครามไม่เคยให้ประโยชน์กับใคร พลเรือนนับหมื่นต้องตายเพราะกระสุนปืน ประชาชนกว่า 8 ล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเกิดเพื่อแสวงหาที่ปลอดภัย ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้กระทบแค่กับชาวรัสเซียและยูเครนเท่านั้น แต่นานาประเทศทั่วโลกก็บอบช้ำไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้พวกเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในสงครามโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบในทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้น ราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงวิกฤตอาหาร 

 

มันคือเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเดิมพัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X