×

เจาะลึกสัมพันธ์จีน-รัสเซีย หลัง ‘สีจิ้นผิง’ พบ ‘ปูติน’ ท่ามกลางบรรยากาศแห่ง ‘มิตรภาพและความกังวล’

16.09.2022
  • LOADING...

การพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ในการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ที่นครซามาร์คานด์ของอุซเบกิสถาน เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) ถือเป็นครั้งแรกในการออกนอกประเทศของสีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด และเป็นการพบกันแบบเห็นหน้าครั้งแรกของทั้งสองผู้นำนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครน

 

โดยบรรยากาศการพูดคุยที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างฉันมิตร ซึ่งสองผู้นำเผด็จการต่างเรียกอีกฝ่ายว่า ‘เพื่อน’ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณบางอย่างสะท้อนให้เห็นถึงความ ‘กังวล’ และการทุ่มเทสนับสนุนอีกฝ่ายแบบ ‘ไม่เต็มที่’

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และยังมีประเด็นอะไรอีกบ้างที่น่าสนใจและควรรู้จากการพูดคุยกันของสีและปูตินในครั้งนี้ 

 

คำถามและความกังวล

การพูดคุยกันของสองผู้นำเผด็จการถูกจับตามองจากทั่วโลก โดยปูตินเผยท่าทีหลังหารือ ยอมรับว่าสีมี ‘คำถามและความกังวล’ เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ในขณะที่ชื่นชมท่าทีที่มีความเป็นกลางของจีน ซึ่งถือเป็นการยอมรับอย่างไม่คาดคิดครั้งแรกของปูติน ว่าสงครามในยูเครนนั้นก่อให้เกิดความกังวลต่อจีน

 

“เราให้ความสำคัญต่อจุดยืนที่สมดุลของเพื่อนชาวจีนของเราในเรื่องวิกฤตยูเครน เราเข้าใจคำถามและข้อกังวลของคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ แน่นอนว่าเราจะอธิบายจุดยืนของเราในระหว่างการประชุมวันนี้” ปูตินกล่าว

 

การพบกันของสีและปูตินมีขึ้นหลังกองทัพรัสเซียเริ่มประสบความล้มเหลวในสงครามยูเครนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถูกกองทัพยูเครนไล่ต้อนและรุกคืบเข้ายึดพื้นที่เมืองต่างๆ คืนอย่างต่อเนื่อง

 

โดยที่ผ่านมา จีนแสดงจุดยืนในการปฏิเสธที่จะประณามรัสเซียจากการเปิดฉากสงครามบุกยูเครน และยังแสดงความเข้าใจถึงต้นเหตุของความขัดแย้ง อีกทั้งยังเพิ่มความช่วยเหลือด้านการค้ากับรัสเซียที่กำลังเผชิญการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

และถึงแม้ว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเรียกปูตินว่า ‘เผด็จการฆาตกร’ และพันธมิตรชาติตะวันตกจะประณามปูตินมากน้อยแค่ไหน แต่สียังคงเรียกผู้นำรัสเซียในการพบกันรอบนี้ว่า ‘เพื่อนเก่าที่รัก’

 

ปูตินนั้นยกย่องมิตรภาพระหว่างจีนและรัสเซีย และการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน แต่ท่าทีของจีนในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างสงครามยูเครนนั้น การที่ไม่ต่อต้านก็ใช่ว่าจะสนับสนุนได้อย่างเต็มปาก

 

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่บทสนทนา ซึ่งสียืนยันว่า “จีนจะทำงานร่วมกับรัสเซียเพื่อขยายการสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของแต่ละฝ่าย” และ “จะมีบทบาทสำคัญในการอัดฉีดเสถียรภาพและพลังงานเชิงบวกเข้าสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวาย” 

 

อย่างไรก็ตาม ในบทสนทนาไม่มีการกล่าวถึงประเด็นยูเครนหรือ NATO ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นหรือสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย

 

จุดยืนร่วม ต่อต้าน ‘โลกขั้วเดียว’

นอกจากประเด็นยูเครน ปูตินได้แสดงท่าทีสนับสนุนจุดยืนของจีนในเรื่องไต้หวันและสนับสนุนหลักการจีนเดียว ที่ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

 

โดยปูตินประณามการยั่วยุจากสหรัฐฯ หลังจากที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนคณะ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงผู้ว่าการรัฐอินเดียนาของสหรัฐฯ ทยอยเดินทางไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ และกล่าวหาชาติตะวันตกว่า พยายามที่จะ ‘สร้างโลกที่มีขั้วเดียว’ ซึ่งเขากล่าวว่าความพยายามเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐส่วนใหญ่ในโลกนี้

 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ว่าสีและปูตินจะมีการแสดงออกที่ต่างกันในเรื่องสงครามยูเครน แต่สิ่งที่ทั้งสองคล้ายกันคือความกระตือรือร้นในการต่อต้านการจัดระเบียบโลกแบบมีขั้วเดียวซึ่งนำโดยสหรัฐฯ

 

“เราพร้อมแล้ว ร่วมกับเพื่อนชาวรัสเซียของเรา เพื่อกำหนดแบบอย่างของมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ และมีบทบาทสำคัญในการนำโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืนและการพัฒนาในแง่บวก” สีกล่าวในบทสนทนาที่เผยแพร่โดยเครมลิน

 

สำหรับสหรัฐฯ นั้นไม่มีการแสดงท่าทีสำคัญใดๆ ต่อการพบกันระหว่างสีและปูติน โดยชี้ว่าจีนไม่ได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกต่อมอสโก และไม่ได้ให้ความช่วยเหลือโดยตรงใดๆ แก่รัสเซียเพื่อลดผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร

 

ด้าน จอห์น เคอร์บี ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติในทำเนียบขาว กล่าวถึงจีนว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการทำธุรกิจใดๆ ตามปกติกับปูติน เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เขาทำในยูเครน นี่ไม่ใช่เวลาที่จะแยกตัวโดดเดี่ยวจากชุมชนระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ประณามสิ่งที่เขาทำในยูเครน และไม่เพียงแต่ประณามเท่านั้น แต่ยังได้ก้าวขึ้นมาช่วยชาวยูเครนในการปกป้องตนเองและบูรณภาพแห่งดินแดนของพวกเขาด้วย” 

 

ขณะที่เคอร์บีระบุว่า ปูตินนั้นกำลังตกอยู่ในความเครียดอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน และชี้ว่าเป็นสิ่งที่แน่นอนว่ารัฐบาลเครมลินต้องการใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้นจากผลของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน

 

การประชุมเชิงสัญลักษณ์

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ก่อตั้งในปี 2001 โดยประกอบด้วย จีน รัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ก่อนจะขยายรับสมาชิกเพิ่มในปี 2017 ได้แก่ อินเดีย และปากีสถาน 

 

โดยการประชุมของ SCO ซึ่งมุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ถูกมองว่าเป็นการประชุมในเชิงสัญลักษณ์สำหรับผู้นำจีนและรัสเซียในการขยายความเป็นหุ้นส่วนและแสดงท่าทีคัดค้านอำนาจและอิทธิพลของชาติตะวันตก

 

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ในกลุ่ม SCO เองก็ดูเหมือนจะมีการคานอำนาจกันระหว่างจีนและรัสเซีย ดูได้จากการที่จีนดึงปากีสถานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้รัสเซียไม่สบายใจและดึงอินเดียที่เป็นคู่อริโดยตรงของปากีสถานเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย

 

แต่การที่ SCO ขยายจำนวนชาติสมาชิกมากเกินไปและมีคู่ขัดแย้งภายใน ทำให้ความมีพลานุภาพและอิทธิพลของ SCO นั้นดูเหมือนจะถดถอยลงนับตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่การประชุมผู้นำ SCO ครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์ของรัสเซียที่กำลังต้องการพันธมิตร ทำให้เวที SCO กลายเป็นพื้นที่เพื่อสร้างพันธมิตรและแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่ารัสเซียนั้นไม่ได้โดดเดี่ยว

 

“ในช่วงเวลาที่มอสโกเองก็ต้องการพันธมิตร ดังนั้นเมื่อมีการประชุมอย่าง SCO มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างพันธมิตรของรัสเซีย ตอนนี้รัสเซียเอง อะไรก็ตามที่จะทำให้สร้างพันธมิตรได้ เขาสร้างพันธมิตรหมด ทำให้รัสเซียต้องรีบกลับมากระตือรือร้นในเวที SCO มากขึ้น” ดร.ปิติกล่าว

 

ความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น

บทความน่าสนใจจาก สตีฟ โรเซนเบิร์ก บรรณาธิการข่าวรัสเซียของ BBC ที่เผยแพร่หลังการพบกันของสีและปูติน ระบุว่าความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกัน (Unequal Relationship) ระหว่างสองผู้นำนั้นกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เนื้อหาบทความระบุถึงรัสเซียว่าเปรียบเหมือนกับ ‘ลูกตุ้มยักษ์’ ที่ในทางหนึ่ง แกว่งไปทางตะวันตก เข้าหายุโรปและเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมยุโรปอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็แกว่งไปทางตะวันออก และโจมตีหรือประณามอารยธรรมและค่านิยมแบบตะวันตก ในขณะที่ประกาศว่าอนาคตของรัสเซียนั้นขึ้นอยู่กับเอเชีย

 

และสำหรับปูติน ลูกตุ้มลูกนี้กำลังแกว่งอย่างแรงไปทางตะวันออก ซึ่งเห็นได้ชัดในการประชุม SCO ครั้งนี้

 

ที่ผ่านมา ปูตินยกย่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียและความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์อย่างครอบคลุม โดยสองผู้นำ มีมุมมองในประเด็นระหว่างประเทศที่คล้ายกัน และสนับสนุนแนวคิดระเบียบโลกแบบ ‘หลายขั้ว’ คานอำนาจและอิทธิพลสหรัฐฯและชาติตะวันตก

 

แต่ท่าทีดังกล่าว ยังไม่อาจทำให้ทั้งสองเป็น ‘เพื่อนซี้ตลอดกาล’ สาเหตุเพราะในเวทีการเมืองโลกนั้น คำว่า ‘เพื่อนซี้ตลอดกาล’ ไม่มีอยู่จริง และความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมของทั้งสองประเทศกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

การรุกรานยูเครนของปูตินที่ไม่เป็นไปตามแผนนั้นอาจทำให้รัสเซียอ่อนแอลง และรัฐบาลเครมลินยอมรับว่า กองทัพรัสเซียกำลังประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ในขณะที่การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก 

 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน จากที่ดูจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจที่ทัดเทียมกัน กลับกลายเป็นรัสเซียเริ่มดูอ่อนแอลง และเป็นเพียง ‘คู่หูรุ่นน้อง’ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยที่ผ่านมาหลังถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก รัสเซียยิ่งจำเป็นต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น ทั้งในแง่การมองหาตลาดสำหรับนำเข้าและส่งออกสินค้าและพลังงาน 

 

แต่สิ่งที่ย้อนแย้ง คือรัสเซียนั้นก็ยังคงต้องการเทคโนโลยีจากตะวันตก เช่น เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง ซึ่งกลายเป็นคำถามสำคัญว่า รัสเซียจะสามารถยุติการพึ่งพิงชาติตะวันตก และพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เองหรือไม่

 

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ รายได้สำคัญอย่างหนึ่งของรัสเซีย คือการส่งก๊าซผ่านท่อไปยังยุโรป แต่การที่จะเปลี่ยนไปหารายได้จากพันธมิตรอย่างจีน การจะสร้างท่อส่งก๊าซหรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางท่อไปสู่จีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี แม้ล่าสุดจะมีรายงานว่าปูตินตั้งเป้าที่จะวางท่อก๊าซใหม่ผ่านมองโกเลียไปยังจีน

 

อย่างไรก็ตาม โรเซนเบิร์กมองว่า แนวทางของผู้นำรัสเซียที่พยายามผลักดันประเทศของตนให้หันไปหาโลกตะวันออกมากขึ้น ทั้งที่ประเทศรัสเซียนั้นมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย กำลังกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนสงสัยว่า แทนที่ผู้นำรัสเซียจะปล่อยให้ลูกตุ้มแกว่งไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือเข้าหาโลกตะวันออกเพียงด้านเดียว บางทีอาจจะดูสมเหตุสมผลมากกว่า หากรัสเซียจะมองไปทั้งสองทาง และพยายามแก้ไขสถานการณ์ขัดแย้งที่เป็นอยู่ เพื่อเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่ายอย่างสมดุลมากขึ้น 

 

ภาพ: Photo by ALEXANDR DEMYANCHUK / SPUTNIK / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising