×

บทเรียนจากรอยร้าว ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย ถึงวิกฤตการณ์สงครามยูเครน

05.04.2022
  • LOADING...
บทเรียนจากรอยร้าว ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย ถึงวิกฤตการณ์สงครามยูเครน

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • วิกฤตการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนถือเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียได้อย่างดี แม้ว่าจีนและรัสเซียจะมีคู่แข่งคนสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเรามองจากบริบททางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียก็เต็มไปด้วยเรื่องความขัดแย้ง 
  • จีนไม่ได้อยากสนับสนุนรัสเซียอย่างเต็มที่ รวมถึงนโยบายเส้นทางการค้าสายไหมใหม่ ที่จีนจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากสหภาพยุโรปเพื่อการขยายอิทธิพลของตนเอง จึงไม่น่าแปลกที่จีนไม่ต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารกับรัสเซียในกรณีสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่กลับวางตัวเป็นกลางและสนับสนุนการเจรจา

ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 วิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย กำลังสร้างความท้าทายครั้งใหญ่ให้กับมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และกลุ่มพันธมิตร NATO เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียขั้นรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

 

สงครามครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของโลก ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกมีต่อรัสเซีย โดยเฉพาะวิกฤตด้านพลังงานอันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในระหว่างงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำชาติมหาอำนาจเพียงรายเดียวที่เดินทางไปร่วมในพิธีเปิด สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความสนิทสนมอย่าง ‘แนบแน่น’ และ ‘ลึกซึ้ง’ ระหว่างจีนกับรัสเซียที่มีแนวร่วมต่อต้านนโยบายระเบียบโลกใหม่ โดยมีคู่แข่งอย่างสหรัฐเอมริกา ด้วยการประกาศตัวว่าจะเป็นพันธมิตรภายใต้คำประกาศ การปฏิเสธการยึดหลักตามแนวคิดและอุดมการณ์ตั้งแต่สงครามเย็น (Abandon the Ideologized Approaches of the Cold War) ซึ่งเป็นการประกาศชัดให้โลกได้รับรู้ว่า พันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซีย เป็นพันธมิตรที่ไร้ขีดจำกัด

 

วิกฤตการณ์สงครามยูเครน ถูกพูดถึงว่าอาจจะเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 หากจีนสนับสนุนรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามหากเรามองย้อนไปในบริบทประวัติศาสตร์ แม้ว่าอาจจะมีศัตรูและคู่แข่งร่วมกันในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียก็ไม่ได้มีความราบรื่นอย่างที่เรามอง แม้ว่าจีนที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนรัสเซียก่อนสงครามยูเครน กลับกลายเป็นชาติเดียวที่ไม่ยอมแสดงออกใด ๆ เพราะอะไรกัน เราอาจจะได้คำตอบจากการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซีย ในบริบทความขัดแย้งในอดีตที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติมหาอำนาจในปัจจุบัน

 

ความขัดแย้งพรมแดนสมัยยุคราชวงศ์ (ก่อน ค.ศ. 1911): ต้นกำเนิดแห่งความขัดแย้ง

ย้อนกลับไปในช่วงสมัยราชวงศ์ชิง (1644-1911) ในอดีตของทั้งสองประเทศต่างมีความขัดแย้งบนพื้นที่อาณาเขตอิทธิพล ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายทั้งสองของทวีปยูเรเชีย (Eurasia) ทั้งสองประเทศต่างต้องรับมือกับชนเผ่าเร่ร่อนที่ราบกว้างใหญ่เพื่อดำรงไว้ซึ่งอิทธิพลอำนาจของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางอำนาจ ที่อยู่ในบริเวณอาณาเขตอามูร์ (Amur Region) หรือแม่น้ำอามูร์ (Amur River) จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างราชสำนักชิง และราชสำนักโรมานอฟของรัสเซียเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 ซึ่งพระเจ้าปีเตอร์มหาราชผู้นำอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซีย (Tsardom) ได้สร้างรัสเซียให้เป็นรัฐทันสมัยตามแบบอย่างอารยธรรมประเทศทางยุโรปตะวันตก และขยายราชอาณาจักรมาถึงทางตะวันออกไกล

 

ภาพจำลองเหตุการณ์การทำสนธิสัญญาเนอร์ชินสก์ (Treaty of Nerchinsk) หรือหนีปู้ฉู่เถี่ยวเยว (尼布楚条约) ระหว่างอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียและราชวงศ์ชิง 

อ้างอิง: Antolavoasio

 

มีการทำสงครามกับราชวงศ์ชิงหลายครั้งที่เมืองหย่าเค่อซ่า (雅克萨 Jaxa) เรียกว่า ‘สงครามหย่าเค่อซ่า’ หรือ ‘การปะทะทางชายแดนระหว่างรัสเซียกับราชวงศ์ชิง’ ที่ป้อมอัลบาซิน (Albazin) ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอามูร์ติดกับมณฑลเฮยหลงเจียง (黑龙江 Hei Long Jiang) ทางตอนเหนือของประเทศจีน อันนำไปสู่การเจรจาเพื่อการตกลงพื้นที่อาณาเขตทั้งสองอาณาจักร จักรวรรดิรัสเซียยอมเจรจากับราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซีของราชวงศ์ชิงได้ส่งคณะทูต ซึ่งนำโดย สั่วเอ๋อถู (索額圖 Suo Er Tu) เดินทางไปยังเมืองหนีปู้ฉู่ เพื่อจัดทำหลักเขตแดนกับรัสเซีย อันนำไปสู่การเจรจาทางการทูตของราชวงศ์ชิงกับจักรวรรดิรัสเซีย เริ่มการเจรจากันที่หนีปู้ฉู่ (尼布楚条约Nibuchu Tiaoyue) หรือเนอร์ชินสก์ (Treaty of Nerchinsk) เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1689 ระหว่างราชวงศ์ชิงกับจักรวรรดิรัสเซีย เกิดสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเขตแดนฉบับแรกระหว่างราชวงศ์ชิงกับอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซีย เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งด้านพรมแดนของทั้งสองอาณาจักร 

 

ภาพสเกตช์ของการปิดล้อมป้อมอัลบาซิน (Albazin) ในเขตอามูร์ (Amur) โดยทหารราชสำนักชิงใน ค.ศ. 1689 

อ้างอิง: www.srpska.ru/articles/4160/Albazin2.jpg

 

สนธิสัญญาฉบับนี้เจรจาและทำขึ้นที่หนีปู้ฉู่ ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของราชวงศ์ชิง แต่ตามสนธิสัญญา พื้นที่บริเวณนี้ถูกยกให้เป็นของจักรวรรดิรัสเซีย นับตั้งแต่นั้นมาจึงกลายเป็นดินแดนของรัสเซียอย่างเป็นทางการ โดยรัสเซียยินยอมที่จะยกพื้นที่เขตทางตอนเหนือของแม่น้ำอามูร์ โดยใช้เทือกเขาสตาโนวอย (Stanovoy Range) และพื้นที่บางส่วนระหว่าง แม่น้ำอาร์กุน (Argun) และทะเลสาบไบคาล (Baikal) ให้กับราชวงศ์ชิง

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสนธิสัญญาครั้งนี้อาจจะถือว่าประสบความสำเร็จของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ชิง แต่หลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั่งที่ 2 (1856-1860) ทำให้เกิดสนธิสัญญาไอกุน (Treaty of Aigun) ใน ค.ศ. 1856 เป็นผลให้ราชสำนักชิงต้องสูญเสียดินแดนทางตอนเหนือของแม่น้ำอามูร์แก่รัสเซีย และมีการทำสนธิสัญญาปรับปรุงเขตแดนเรื่อยมา โดยเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่จีนมีความอ่อนแอ รัสเซียมักใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงเขตแดน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อการรักษาอำนาจในเอเชียตะวันออก 

 

ภาพการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างรัสเซียและจีน ตั้งแต่ ค.ศ. 1689-1860 โดยพื้นที่สีเหลืองและสีชมพูคือบริเวณที่รัสเซียได้ดินแดนคืนมาหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 

อ้างอิง: Library of Congress Geography and Map Division Washington, D.C.

 

เหมาเจ๋อตุง ร่วมฉลองวันเกิดของ โจเซฟ สตาลิน ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ค.ศ. 1949 

อ้างอิง: Helsingin Sanomat

 

ความขัดแย้งในยุคร่วมสมัย (1911-1991): พันธมิตรหมายเลข 1 สู่ศัตรูหมายเลข 1

ในช่วงยุคสงครามการเมืองระหว่างขุนศึกที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ภายใต้การนำของ ดร.ซุนยัดเซน (孙中山 Sun Zhongshan) ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง จีนตกอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิงและการแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจใหม่ของเอเชีย นั่นก็คือ ญี่ปุ่น

 

ในช่วงเวลานั้นเอง อาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียก็ถูกล้มล้าง และเพิ่งได้สถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้น โดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ซึ่งสหภาพโซเวียตก็เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจตะวันตกที่สนับสนุนด้านทางการทหารให้กับ ดร.ซุนยัดเซ็น เพื่อรวบรวมแผ่นดินจีนภายหลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai geming 辛亥革命) ซึ่งเป็นโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นในสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. 1921 และเริ่มมีบทบาททางการเมืองนับตั้งแต่ตอนนั้น ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ และสามารถก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาได้ใน ค.ศ. 1949 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโซเวียตก็ดำเนินไปได้ดีในฐานะพันธมิตรทางทหารและอุดมการณ์ 

 

แต่หลังจากการมรณกรรมของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตและจีนต้องสั่นคลอนภายหลังจากการที่ นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ท่าทีของโซเวียตก็เปลี่ยนไป โซเวียตถอนการสนับสนุนจีนทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ มีการใช้สื่อโจมตีระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย

 

พื้นที่การพิพาททางการทหารระหว่างโซเวียตและจีน ค.ศ. 1969 ที่เกาะดาแมนสกี หรือเกาะเจิ้นเป่า 

อ้างอิง: Asya Pereltsvaig

 

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1953 มาจนกระทั่งเมื่อ ค.ศ. 1969 การปะทะระหว่างทางทหารโซเวียตและจีนที่เกาะเจิ้นเป่า (珍宝岛 Zhenbao) หรือเกาะดาแมนสกี (Damansky) ในบริเวณอาณาเขตที่เป็นประเด็นความขัดแย้งมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ชิง ทำให้โซเวียตและจีนตกอยู่ในสภาวะขั้นแตกหัก  

 

จีนมองโซเวียตเป็นภัยคุกคามมากกว่าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและโซเวียต โดยเฉพาะหลักนิยมเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine) นี้ได้การประกาศว่าสหภาพโซเวียตพร้อมเข้าแทรกแซงทางทหารต่อประเทศที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของโซเวียต เพื่อให้สหภาพโซเวียตเป็นรัฐมหาอำนาจหนึ่งเดียว

 

แม้ว่าจีนกับโซเวียตจะมีอุดมการณ์การทางเมืองร่วมกัน แต่ปัญหาเรื่องพรมแดนและนโยบายการขยายอำนาจโซเวียต ทำให้จีนไม่ได้เห็นว่าโซเวียตเป็นมหามิตรอีกต่อไป หากแต่เป็นศัตรูที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ความตึงเครียดระหว่างจีนและโซเวียตได้ถึงจุดสิ้นสุดลงหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศสังคมนิยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย เข้าพบ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เยือนการประชุมโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2022 

อ้างอิง: Photo by Kremlin Press Office / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

 

ยุคหลังสงครามเย็นใน ค.ศ. 1991 จนถึงยุคสงครามรัสเซียและยูเครน

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 ท่าทีของของรัสเซียได้เปลี่ยนไปจากเดิม บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เสนอให้จีน เป็นเพื่อนบ้านที่ดี (Good Neighbor Relationship) ทำให้ความตึงเครียดของเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับจีนได้ผ่อนคลายลงไป ความตึงเครียดเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ตกลงกันอย่างแน่ชัด ถูกแทนที่ด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแทน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (习近平 Xi Jinping) ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำจีนตั้งแต่ ค.ศ. 2012 สีจิ้นผิงได้สานต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจกลไกการตลาดแบบจีน (Socialist Market Economy with Chinese Characteristic) ที่มีมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1980 มีความเป็นทุนนิยมมากขึ้น เศรษฐกิจจีนจึงมีการเติบโตเรื่อยมา

 

ภาพเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ตามนโยบายของสีจิ้นผิง 

อ้างอิง: Radio Free Asia (RFA)

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ประกาศดำเนินนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ หนึ่งเข็มขัด หนึ่งเส้นทาง One Belt, One Road (OBOR 一带一路) ที่มีต้นทุนมาจากเส้นทางการค้าในประวัติศาสตร์จีนมากว่า 2,000 ปี เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากหลายประเทศ และตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จีนมีวัตถุประสงค์โดยใช้นโยบายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่างๆ รัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) เป็นตัวขยายอำนาจของตนผ่านเส้นทางการค้าทางบกที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย และเส้นทางขนส่งทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงประเทศในแถบชายฝั่งรวมถึงทวีปแอฟริกาเป็นบันไดเพื่อให้จีนก้าวสู่มหาอำนาจแห่งเอเชีย

 

วิกฤตการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนถือเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียได้อย่างดี แม้ว่าจีนและรัสเซียจะมีคู่แข่งคนสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเรามองจากบริบททางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียก็เต็มไปด้วยเรื่องความขัดแย้ง 

 

ทั้งเรื่องของการขยายอำนาจของรัสเซียที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียยาวเรื่อยมาจนถึงโซเวียต จีนไม่ได้อยากสนับสนุนรัสเซียอย่างเต็มที่ รวมถึงนโยบายเส้นทางการค้าสายไหมใหม่ ที่จีนจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากสหภาพยุโรปเพื่อการขยายอิทธิพลของตนเอง จึงไม่น่าแปลกที่จีนไม่ต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารกับรัสเซียในกรณีสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่กลับวางตัวเป็นกลางและสนับสนุนการเจรจา 

 

ที่สำคัญจีนยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ตัวเองให้เป็น การผงาดขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Rise) เพื่อให้โครงการการขยายอำนาจของจีนเป็นไปตามที่จีนวางแผนดำเนินนโยบายไว้ และจำกัดอำนาจของรัสเซียเพื่อไม่ให้กลับมามีบทบาทต่อความมั่นคงทางทิศเหนือที่เป็นปัญหาต่อรัฐบาลจีนได้กังวลมาตั้งแต่อดีต

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X