ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน ได้แถลงนโยบายในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (17 สิงหาคม) ว่า เศรษฐกิจยุคใหม่ของจีนจะมุ่งเน้นเรื่องความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity ที่ความมั่งคั่งจะถูกกระจายให้กับประชาชนทุกคน ไปพร้อมๆ กับการดูแลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน
การประชุมดังกล่าวมี สีจิ้นผิง นั่งเป็นประธานเพื่อกำหนดแผนขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยหนึ่งในแนวทางที่ถูกพูดถึงคือการดูแลไม่ให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อย รวมถึงการชักจูงให้กลุ่มเศรษฐีและคนร่ำรวยตอบแทนสังคมมากขึ้น เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติให้ดีขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีเป้าหมายสำคัญคือขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศความสำเร็จในเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการที่จีนมีเป้าหมายระยะยาวสร้างรัฐสังคมนิยมสมัยใหม่ ทำให้ในระยะหลังมานี้จีนเริ่มหันมาจัดการคนกลุ่มบนของสังคมอย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สร้างมหาเศรษฐีขึ้นจำนวนมากในประเทศ และทำให้คนเหล่านั้นมีสถานะเป็นดั่งเซเลบริตี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการประกาศนโยบายดังกล่าวของสี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของจีนที่ถ่างกว้างขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 20% มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนยากจน 20% สูงถึงกว่า 10 เท่า
โดยสถิติล่าสุดในปีนี้ พบว่าประชากรจีนในเมืองเศรษฐกิจชายฝั่งอย่างเซี่ยงไฮ้ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยที่ 7,058 หยวนต่อเดือน สูงกว่าประชากรในเขตเมืองอื่นๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ 4,021 หยวนต่อเดือน ขณะที่ประชากรในเขตชนบทส่วนใหญ่ยังมีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,541 หยวนต่อเดือน
นอกจากการกำกับดูแลไม่ให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อย รวมถึงการชักจูงให้กลุ่มเศรษฐีและคนร่ำรวยตอบแทนสังคมมากขึ้นแล้ว การประชุมเมื่อวันอังคารยังมีการพูดถึงการดูแลและหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยุติธรรมในสังคม รวมถึงการหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมั่นคงและการดูแลความเสี่ยงทางการเงินด้านต่างๆ ด้วย
โดยเป้าหมายอื่นๆ ที่มีการพูดถึงยังรวมถึงการกระจายทรัพยากรของหน่วยงานภาครัฐที่มีความเป็นธรรม การขยายฐานประชากรกลุ่มรายได้ปานกลางให้สูงขึ้น การช่วยให้กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำมีรายได้สูงขึ้น และการดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้จากการทำผิดกฎหมายไม่ให้สร้างค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับความร่ำรวยในสังคม
หยู่ซู นักเศรษฐศาสตร์ของ The Economist Intelligence Unit เชื่อว่า เจ้าหน้าที่จีนจะจริงจังในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้
“หากมีการขึ้นภาษีสำหรับกลุ่มคนมีรายได้สูงหรือเก็บภาษีผลตอบแทนจากการลงทุน อาจทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกได้” หยู่กล่าว
หยู่ระบุอีกว่า เราอาจได้เห็นการแปรรูปบริการสาธารณะต่างๆ ของจีน เช่น ธุรกิจการศึกษาและการดูแลผู้สูงอายุล่าช้าออกไป เนื่องจากทางการจีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลค่าใช้จ่ายของประชากรในเรื่องเหล่านี้ไม่ให้สูงเกินไป
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-08-18/xi-seeks-common-prosperity-while-curbing-china-financial-risks?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.cnbc.com/2021/08/18/chinas-xi-emphasizes-common-prosperity-at-finance-economy-meeting.html
- https://www.thestar.com.my/business/business-news/2021/08/18/xi-seeks-common-prosperity-while-curbing-china-financial-risks