สำนักข่าว CNN รายงานว่า ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ห่างหายไปโดยไม่ปรากฏตัวออกสื่อมานานถึง 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานจนผิดสังเกต ทั้งที่ในช่วงเวลานี้ตารางกิจกรรมทางการทูตของจีนนั้นค่อนข้างแน่น จุดกระแสให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานา ถึงทฤษฎีความเป็นไปได้ที่ทำให้หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหายหน้าหายตาไปจากสังคม
ฉินกัง วัย 57 ปี เป็นนักการทูตและผู้ช่วยที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้ความไว้วางใจ โดยเขาเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ไม่นาน
สำหรับบทบาทเด่นเมื่อไม่นานมานี้ ฉินกังได้พบปะกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันภายในที่ประชุม เพื่อพยายามหาทางปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังสหรัฐฯ และจีนมักเกิดความตึงเครียดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงกรณีล่าสุดอย่างการที่บอลลูนของจีนลอยรุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ฉินกังไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน หลังจากที่เขาพบปะกับเจ้าหน้าที่ของศรีลังกา เวียดนาม และรัสเซีย ณ กรุงปักกิ่ง โดยครั้งสุดท้ายที่เขาออกสื่อ คือการปรากฏตัวเคียงคู่กับ อันเดรย์ รูเดนโก (Andrey Rudenko) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ที่บินลัดฟ้าสู่กรุงปักกิ่งเพื่อเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ของจีนหลังเกิดเหตุจลาจลโดยกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ในช่วงเวลานั้น
เติ้งหยูเหวิน (Deng Yuwen) อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า “เมื่อพิจารณาถึงสถานะและอิทธิพลของจีนในเวทีโลก ถือเป็นเรื่องแปลกมากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นเวลานานกว่า 20 วัน”
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการหายตัวไปของฉินกังในการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศจีนวานนี้ (17 กรกฎาคม) โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศหญิงของจีนกล่าวว่า เธอไม่มีข้อมูลใดๆ ที่จะแจ้ง และเสริมว่ากิจกรรมทางการทูตของจีนยังคงดำเนินไปตามปกติ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Reuters รายงานด้วยว่า ตามกำหนดแล้วฉินกังจะต้องพบปะกับ โจเซป บอร์เรลล์ (Josep Borrell) หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปเมื่อช่วงต้นเดือน แต่การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปหลังจากที่จีนแจ้ง EU ว่าวันดังกล่าว ‘ไม่สามารถประชุมได้’ ขณะต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม Reuters ก็รายงานอีกว่า ฉินกังไม่ได้เข้าร่วมประชุมทางการทูตในอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะติดปัญหาด้านสุขภาพ โดยจีนได้ส่ง หวังอี้ (Wang Yi) นักการทูตระดับสูงไปแทน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมจีน รวมถึงสื่อทั่วโลกที่จับตาความเคลื่อนไหวของจีนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้นี้หายไปไหน โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่รู้กันดีว่าระบบการเมืองจีนนั้นไม่ค่อยมีการเปิดเผยเรื่องราวหรือข้อมูลใดๆ ออกมามากนัก และหากมีการตัดสินใจใดๆ ก็จะทำอย่างลับๆ จะรู้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น
แต่ที่ทำให้สื่อค่อนข้างจับตาเป็นพิเศษ ก็เพราะในช่วงที่ผ่านมาโลกได้เห็นความเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่ในแวดวงการเมืองจีน นั่นคือการประท้วงต่อต้านสีจิ้นผิง ส่งผลให้ทางการจีนออกโรงปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง และมีการกระชับอำนาจไว้ในมืออย่างเด่นชัดซึ่งสะท้อนผ่านการประกาศรายชื่อโปลิตบูโรก่อนหน้านี้
“นี่เป็นปัญหาสำหรับระบบการปกครองแบบเผด็จการ เพราะระบอบเผด็จการนั้นไม่มั่นคงโดยเนื้อแท้ เนื่องจากทุกอย่างถูกตัดสินโดยผู้นำสูงสุดเพียงผู้เดียว” เติ้งหยูเหวินกล่าว “หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้คนจะสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับผู้นำระดับสูงนั้นแย่ลง หรือว่านั่นเป็นสัญญาณของความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือไม่”
ประกอบกับในอดีตที่ผ่านมา หากมีกรณีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหายหน้าหายตาไปจากสื่อสาธารณะ ต่อมาก็จะมักมีการประกาศจากผู้เฝ้าระวังทางวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการความประพฤติที่มิชอบ ฉะนั้นแล้ว หลายฝ่ายจึงจับตาว่าการหายไปตัวครั้งนี้อาจซ้ำรอยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัด เราจึงต้องรอดูการประกาศอย่างเป็นทางการจากจีนต่อไป
ภาพ: Thomas Peter-Pool / Getty Images
อ้างอิง: