×

มังกรสะดุ้ง! สัญญาณเตือนส่งออกจีน หลังมี ‘เลย์ออฟ-พักการจ้างพนักงาน’ ในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง

06.07.2022
  • LOADING...
ส่งออกจีน

ถึงแม้ว่าตัวเลขการเติบโตด้านการส่งออกของประเทศจีนจะกลับมากระเตื้องขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังเริ่มตกต่ำลงตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นผลจากการที่เมืองเซี่ยงไฮ้ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง หลังล็อกดาวน์มาร่วม 2 เดือน

 

แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า สัญญาณบวกนี้เป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากการทำนายคือ ทุกอย่างจะค่อยๆ แย่ลงไปเรื่อยๆ หลังจากนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในเขตความร่วมมือ Pearl River Delta หรือเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง

 

หนึ่งในสัญญาณอันตรายที่เด่นชัดคือ การที่โรงงาน Tecqum Electronic Technology ในเขตเมืองชิงซี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตงก่วน ได้แจ้งต่อลูกจ้างให้ลาพักเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยจะไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงเดือนตุลาคม

 

สาเหตุนั้นเกิดจากการที่ยอดคำสั่งซื้อไม่ว่าจะจากภายในหรือภายนอกประเทศตกลงอย่างมาก ขณะที่ต้นทุนของสินค้าคงคลังนั้นพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ 

 

อีกทั้งยังเกิดการขาดแคลนของวัตถุดิบในการผลิตด้วย ซึ่งแม้ว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Tecqum จะมีการทบทวนเรื่องการสั่งพักงานโดยไม่มีการจ่ายค่าจ้าง แต่ก็ตระหนักดีถึงปัญหาเกี่ยวกับการผลิตที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่อีกหนึ่งบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการวางแผนจะลดจำนวนแรงงานลงจาก 6,000 คน เหลือเพียงแค่ 4,000 คน ด้าน W.Y.Wang ซึ่งทำธุรกิจผลิตสินค้าส่งออกสำหรับสัตว์เลี้ยง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ในตอนที่เริ่มเกิดโรคระบาด รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จ่ายเงินเยียวยาชาวอเมริกัน ดังนั้นยอดคำสั่งซื้อของเราจึงดีมาก” 

 

แต่ยอดคำสั่งซื้อในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตกลงกว่า 60% จากเมื่อปีกลาย ดังนั้นจึงไม่มีการทำงานล่วงเวลาหรือการทำงานสุดสัปดาห์ นั่นหมายความว่าลูกจ้างจะมีรายได้แค่ขั้นต่ำที่ทางท้องถิ่นกำหนดไว้ที่ 2,000 หรือ 3,000 หยวน (ราว 10,500-15,800 บาท)

 

อย่างไรก็ดี สำหรับแรงงานแล้ว แม้จะต้องอยู่ในสภาวะยากลำบาก ถูกพักงานโดยไม่มีรายได้เลย ก็ไม่มีความคิดที่จะลาออกจากงานในเวลานี้ เพราะตระหนักดีว่าการหางานในสถานการณ์นี้ของจีนเป็นเรื่องยากลำบากมาก

 

เซียอี้เฟย แรงงานที่ปักหลักอยู่ที่เซินเจิ้น เปิดเผยว่า โรงงานที่ทำงานอยู่ได้มีการเลย์ออฟคนจำนวนมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา และจะไม่มีการจ้างแรงงานผลิตที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี “ถ้าลองขับรถเข้ามาดูในเขตนิคมอุตสาหกรรมชายเมืองตงก่วนและเซินเจิ้นในตอนนี้ จะเห็นเลยว่ามีห้องว่างให้เช่าเหลือเป็นจำนวนมาก”

 

สำหรับเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ได้เริ่มโครงการพัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนขึ้นในปี 2003 ภายใต้ชื่อโครงการ PPRD โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ (Economic Super Zone) ประกอบด้วยมณฑล 9 แห่งทางตอนใต้ของจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง, ฝูเจี้ยน, เจียงซี, กุ้ยโจว, เสฉวน, ยูนนาน, หูหนาน, ไห่หนาน และเขตปกครองตนเองกวางสี รวมกับเขตปกครองพิเศษอีก 2 แห่ง คือ ฮ่องกงและมาเก๊า โครงการนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าเป็น ‘ความร่วมมือ 9+2’

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตที่ถือว่าเป็นหัวใจของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีนทั้งหมด โดยภาคการส่งออกนั้นสามารถสร้างงานได้มากถึง 180 ล้านตำแหน่ง หรือคิดแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานที่ไม่ใช่เกษตรกรที่มีอยู่ 530 ล้านคนทั่วประเทศจีน

 

ขณะที่ผลสำรวจอัตราการว่างงานโดยสำนักสถิติแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้รวมแรงงานข้ามชาติ 290 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 โดยกลุ่มแรงงานช่วงอายุ 16-24 ปี มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ที่ 18.4% ในเดือนที่แล้ว

 

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลลบคือ มาตรการ Zero COVID ซึ่งทางด้านมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้มีการเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงเหมือนเมื่อปี 2020 ที่มีจำนวนประชากรกว่า 12% ตกงาน และการปิดตัวลงของโรงงานนั้นหมายถึงความเงียบงันที่น่ากลัว และเสียงท้องร้องของแรงงานผู้ที่ต้องอดทนกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่แทบจะทนไม่ไหวแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X