วานนี้ (17 มิถุนายน) จีนทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีระบบอำนวยการรบใหม่ออกจากอู่ต่อเรือเจียงหนานในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของกองทัพจีน และเป็นเรือลำแรกที่ออกแบบเองในประเทศและใช้ระบบรางดีดส่งเครื่องบินรบ (Catapult) คล้ายของสหรัฐฯ
สำนักข่าว Xinhua ของทางการจีนรายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่มีชื่อว่า ‘ฝูเจี้ยน’ ซึ่งจุดเด่นสำคัญคือระบบรางดีดส่งอากาศยานแบบแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งต่างจากเรือ 2 ลำแรกที่มีดาดฟ้าส่วนหัวเรือสำหรับการเทกออฟของเครื่องบินรบแบบทางลาดเอียงขึ้นแบบ Ski-Jump
โดยเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของจีน (ซานตง) สร้างอิงจากเรือลำแรก ‘เหลียวหนิง’ ซึ่งเป็นเรือคู่แฝดของเรือบรรทุกเครื่องบิน ‘แอดมิรัล คุซเนตซอฟ’ ของรัสเซียที่สร้างขึ้นในสมัยโซเวียต และจีนซื้อซากจากยูเครนมาปรับปรุงใหม่ พร้อมอัปเกรดระบบ ขณะที่เรือลำที่ 3 นั้น จีนออกแบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าจีนกำลังไล่ตามสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจด้านเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์มองว่าระบบดีดส่งอากาศยานที่คล้ายกับที่ใช้ในเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ นั้นจะช่วยให้จีนสามารถส่งเครื่องบินหลากหลายออกจากเรือฝูเจี้ยนได้เร็วขึ้น ด้วยอาวุธที่บรรทุกได้มากกว่า
Xinhua รายงานว่า เรือลำใหม่มีขนาดระวางขับน้ำเมื่อบรรทุกเต็มอัตรามากกว่า 80,000 ตัน โดยหลังจากนี้เรือจะเข้าสู่กระบวนการทดสอบแล่นในทะเล โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คาดการณ์ในเบื้องต้นว่าเรือน่าจะพร้อมเข้าประจำการภายในปี 2023
แม้ว่าเรือจะมีการอัปเกรดให้ทันสมัยขึ้นเมื่อเทียบกับเรือ 2 ลำก่อนหน้า แต่ฝูเจี้ยนยังใช้ระบบแรงขับไอน้ำธรรมดา แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ทั้งหมดล้วนใช้ระบบขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์
อ้างอิง: