ความเคลื่อนไหวของดัชนี Hang Seng China Enterprises ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 3.14% ในวันนี้ (10 ธันวาคม) หลังจากรัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายการเงินจาก ‘ระมัดระวัง’ เป็น ‘ผ่อนคลายปานกลาง’ เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี
การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากการประชุมของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งเตรียมจัดประชุมประจำปีระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคมนี้ เพื่อกำหนดแผนเศรษฐกิจสำหรับปีหน้า
“ในปีหน้าพรรคต้องดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกมากขึ้นและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายปานกลาง” แถลงการณ์ของรัฐบาลระบุ พร้อมเสริมว่าจำเป็นต้อง “เสริมความเข้มข้นสำหรับการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคอย่างจริงจัง ปรับปรุงประสิทธิภาพการลงทุน และขยายอุปสงค์ในประเทศทุกด้าน”
ครั้งสุดท้ายที่จีนใช้นโยบาย ‘ผ่อนคลายปานกลาง’ คือในช่วงปลายปี 2008 หลังวิกฤตการเงินโลก และสิ้นสุดในปลายปี 2010 การเปลี่ยนจุดยืนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำจีนกำลังตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
เศรษฐกิจจีนเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเป็นเวลาหลายเดือน สืบเนื่องจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นการเงินในเดือนกันยายน และมาตรการทางการคลังในเดือนพฤศจิกายน โดยเน้นแก้ไขหนี้รัฐบาลท้องถิ่น
ข้อมูลในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนใกล้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% ราคาสินค้าเดือนพฤศจิกายนลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.8%
นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดหวังว่าการประชุมจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขอุปสรรคในการเติบโต พร้อมส่งสัญญาณถึงมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญกับการบริโภค การบริหารความเสี่ยง และการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง
‘ทรัมป์’ อุปสรรคต่อการฟื้นตัวของจีน
โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2025 ได้ประกาศว่าจะเพิ่มภาษี 10% สำหรับสินค้าจีน มากไปกว่านั้น ทรัมป์ยังเคยขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีเกิน 60% สำหรับสินค้าจีนในช่วงการหาเสียง
นักเศรษฐศาสตร์จาก Barclays ระบุว่า ภาษีที่ขู่เพิ่มขึ้นล่าสุดนี้น่าจะเป็นกลยุทธ์กดดันให้รัฐบาลจีนยอมเจรจาเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าอาจลงเอยด้วยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพียง 30% แต่ถึงกระนั้น การขึ้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ของจีนให้ลดลงถึง 1%
“มาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ (Policy Bazooka) อาจเกิดขึ้นหากภาษีของทรัมป์กระทบการส่งออกของจีนอย่างรุนแรง” ฮู นักวิเคราะห์จาก Macquarie กล่าว
ฮูกล่าวอีกว่า ภาคการส่งออกและการผลิตไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตรา 4-5% ต่อปีในทศวรรษหน้าได้อีกต่อไป เนื่องจากภาคส่วนเหล่านี้มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะผลักดันการเติบโตในระยะยาว และยังเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้า
จีนจำเป็นต้องผลักดันการบริโภคภายในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายให้การบริโภคของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของ GDP
อ้างอิง:
- https://www.ft.com/content/7a9c963c-b1af-4c92-860e-f57dc546cf1f
- https://www.cnbc.com/2024/12/09/asia-markets-set-to-open-higher-as-investors-await-japan-gdp-and-china-inflation-data.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-12-09/china-shifts-monetary-policy-stance-for-first-time-since-2011?srnd=homepage-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-12-09/chinese-stocks-yuan-stage-late-rebound-on-politburo-pledges?sref=CVqPBMVg