ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเงินเฟ้อสำคัญของจีนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักที่หนุนเงินเฟ้อจีนเดือนนี้ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยแค่ชั่วคราวเท่านั้น
วันนี้ (9 มีนาคม) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.7% จากปีก่อน นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการสำรวจของ Bloomberg ที่ 0.3%
โดยการฟื้นตัวของเงินเฟ้อจีนมีปัจจัยสำคัญมาจากเทศกาลวันตรุษจีนที่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ใช้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิตยังลดลง 2.7% ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016
ทั้งนี้ PPI นับเป็นอีกดัชนีที่มักถูกจับตามอง เนื่องจากจะเป็นตัวที่ออกมาก่อน CPI หาก PPI มีค่าสูงมักจะทำให้ CPI มีค่าสูงตามไปด้วย
Dong Lijuan หัวหน้านักสถิติของ NBS กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาผู้บริโภคส่วนใหญ่เติบโต ขณะที่การลดลงของราคาผู้ผลิตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงในช่วงวันหยุด
ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยหลังจากที่บรรดาผู้นำของประเทศได้ร่างมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงเริ่มต้นการประชุมรัฐสภาประจำปี (Annual Parliamentary Session) เมื่อวันอังคาร โดยรัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่าตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ประมาณ 5% ในปีนี้ ซึ่งคล้ายกับปีที่แล้ว แม้ว่าเป้า 5% ในปีนี้ดูจะเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและท้าทายมากขึ้นก็ตาม
ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นมากมาย ทางการจีนมีแผนจะออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาวมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน และจะใช้ประโยชน์จากกองทุนที่ยังไม่ได้ใช้เพิ่มเติมจากปลายปีที่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์กำลังตั้งคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเปราะบาง และผู้บริโภคกำลังทุ่มเงินทุนเพื่อการออมมากกว่าการใช้จ่าย
ภาพ: Suri Sun / Getty Images
อ้างอิง: