คณะนักวิทยาศาสตร์จีนพบแร่ธาตุที่อุดมไปด้วยน้ำในตัวอย่างดินดวงจันทร์ที่ยานฉางเอ๋อ 5 นำกลับโลกมาในปี 2020
ตัวอย่างดินจากยานฉางเอ๋อ 5 พบว่ามี MgCl3·6H2O แร่ธาตุที่ประกอบด้วยผลึกน้ำ 6 โมเลกุล และมีมวลน้ำเป็น 41% ของมวลทั้งหมด ซึ่งโครงสร้างและองค์ประกอบของแร่ธาตุนี้คล้ายกับแร่ Novograblenovite ที่ก่อตัวขึ้นผ่านกระบวนการในภูเขาไฟบนโลก
แม้ก่อนหน้านี้ข้อมูลจากยานจันทรายาน-1 และกล้องโทรทรรศน์ SOFIA ของ NASA ได้มีการบ่งชี้ถึงร่องรอยของมวลน้ำบนดวงจันทร์ แต่ความพิเศษของตัวอย่างดินจากภารกิจฉางเอ๋อ 5 เป็นเพราะมันถูกนำกลับมาจากบริเวณภูเขาไฟ Mons Rümker ที่มีระดับความสูงกว่าตัวอย่างดินชุดอื่น
การพบโมเลกุลน้ำในบริเวณที่สัมผัสแสงอาทิตย์ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการนำเอาทรัพยากรบนดวงจันทร์มาใช้ประโยชน์ในอนาคต อาทิ โครงการ International Lunar Research Station (ILRS) ของจีน ที่มีแผนสร้างสถานีอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าโมเลกุลน้ำเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของเกลือไฮเดรต
งานวิจัย Evidence of a hydrated mineral enriched in water and ammonium molecules in the Chang’e-5 lunar sample ได้รับการเผยแพร่ลงในวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2024
ฉางเอ๋อ 5 เป็นภารกิจนำตัวอย่างดินดวงจันทร์กลับโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจีน ทำให้จีนเป็นประเทศที่ 3 ที่นำดินดวงจันทร์กลับมาจากพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จต่อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
ตัวอย่างดินดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 ปริมาณ 75 มิลลิกรัม กำลังอยู่ระหว่างการจัดแสดงในประเทศไทย ที่บูธนิทรรศการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT จนถึงวันพรุ่งนี้ (28 กรกฎาคม) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภาพ: NARIT
อ้างอิง: