จากการที่รัฐบาลจีนมีปฏิกิริยานิ่งเฉยต่อกรณีที่สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินทหารไปลงจอดในไต้หวัน ได้จุดกระแสวิจารณ์จากกลุ่มชาตินิยมในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อกรณีการล้ำเส้นเรื่องไต้หวัน ตามที่เขาเคยประกาศเตือนรัฐบาลต่างชาติไว้
เครื่องบินขนส่งแบบ C-17 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้นำคณะสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ 3 คน ได้แก่ แทมมี ดักเวิร์ธ (เดโมแครต), คริส คูนส์ (เดโมแครต) และ แดน ซัลลิแวน (รีพับลิกัน) ไปเยือนไต้หวัน โดยจอดนาน 3 ชั่วโมง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสามได้พบปะประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวัน และมีการประกาศแผนบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 750,000 โดส ให้ไต้หวันเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลน
ถึงแม้ว่าสื่อไต้หวันจะรายงานว่านี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน C-17 บินไปลงจอดในไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นอย่างน้อย แต่ปฏิกิริยาตอบสนองของจีนต่อเรื่องนี้กลับมีจำกัด โดยสื่อทางการจีนอย่าง Xinhua ไม่ได้รายงานข่าวนี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้หลีกเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับเครื่องบินดังกล่าว แต่ไปเน้นวิจารณ์กรณีการเยือนไต้หวันของสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ แทน
เสียงชาตินิยมบางคนในจีนเรียกร้องให้รัฐบาลมีปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับมุมมองของปักกิ่งที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่คลิปวิดีโอขณะเครื่องบิน C-17 ลงจอดที่ท่าอากาศยานซงซานในไทเป ถูกแชร์ต่อบน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน
หนึ่งในความเห็นที่คนกดไลก์มากที่สุดบนโพสต์รูปภาพ C-17 ระบุว่า “เส้นแดงของเราไม่ใช่เส้นแดงแล้ว หากเป็นแบบนี้ ต่างชาติจะปฏิบัติต่อไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของจีนได้อย่างไร?”
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางคนยังเรียกร้องให้จีนพยายามป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างช้าๆ แบบไม่ก่อความขัดแย้ง
กระแสวิจารณ์และอารมณ์ที่พลุ่งพล่านดังกล่าว สะท้อนความยากลำบากของรัฐบาลจีนในการดำเนินการอย่างสมดุล โดยก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงได้ใช้วาทศิลป์ที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งยกระดับกิจกรรมทางทหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อขัดขวางความพยายามกระชับสัมพันธ์ระหว่างไทเปและวอชิงตัน ขณะที่เจ้าหน้าที่จีนหลายคนประกาศกร้าวว่าจะป้องกันสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของต่างชาติ โดย หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เคยเตือนสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมว่า ให้หยุดล้ำเส้นและหยุดเล่นกับไฟเกี่ยวกับกรณีไต้หวัน
ภาพ: Lin Yen Ting / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: