ช่วงเช้าของวันนี้ (7 ธันวาคม) ทางการจีนรายงานตัวเลขส่งออกและนำเข้าประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 โดยตัวเลขส่งออกติดลบ 8.7% ขณะที่ตัวเลขนำเข้าติดลบ 10.6% ย่ำแย่ที่สุดนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 และเป็นตัวเลขติดลบมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% และ 6% ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกของจีนลดลงสู่ระดับ 2.96 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งการปิดเส้นทางการขนส่งจากท่าเรือ
Bruce Pang ประธานทีมเศรษฐกิจ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Jones Lang LaSalle Inc. กล่าวว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแรงกดดันจากโควิด เป็นปัจจัยกดดันต่อการค้าของจีน
ทั้งนี้ อุปสงค์ที่อ่อนแอทั่วโลกดูเหมือนจะยังดำเนินต่อไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่เดือนมกราคมมักจะเป็นเดือนที่ตัวเลขการค้าของจีนต่ำที่สุด เนื่องจากวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่จีน
หากดูภาพรวมการนำเข้าและส่งออกของจีนตลอดทั้ง 11 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือนลดลงมากที่สุด 12.6% แต่สินค้าในกลุ่มยานยนต์ยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 73.1% เช่นเดียวกับการส่งออกแร่ธาตุหายาก (Rare Earth) เพิ่มขึ้น 68.7%
อุปสงค์ต่อสินค้าทั่วโลกลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าต้นทุนค่าขนส่งที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงมากจะกลับลงมาอยู่ในระดับปกติแล้ว
Zhang Zhiwei ประธานทีมเศรษฐกิจของ Pinpoint Asset Management กล่าวว่า “การส่งออกจะยังคงอ่อนแอในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากจีนยังคงอยู่ในช่วงของการค่อยๆ เปิดเมือง และด้วยอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ทำให้จีนจะยังต้องพึ่งพิงอุปสงค์ในประเทศ”
ทั้งนี้ แหล่งข่าวภายในรัฐบาลจีนเปิดเผยว่า จีนยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในปีหน้าที่ประมาณ 5% แม้ว่าบางส่วนจะมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน
Larry Hu หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีนของ Macquarie Group กล่าวว่า ขณะนี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่านโยบาย Zero-COVID เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และทางการจีนจะให้ความสำคัญกับการเติบโตในปีหน้า
ทั้งนี้ จีนจำเป็นจะต้องสร้างการเติบโตของ GDP เฉลี่ย 4.7% ต่อปี หากต้องการจะพิชิตเป้าหมายที่จะเพิ่ม GDP ของประเทศเป็น 2 เท่า ภายในปี 2035
ด้าน รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง กล่าวว่า หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะตัวเลขการค้าที่ออกมาล่าสุด มีโอกาสที่การเติบโตของ GDP จีนในปีหน้าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5%
“แต่หากจีนเติบโตได้ในระดับ 4% เมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ถือว่าไม่แย่นัก โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐฯ ถดถอยจริงในปีหน้า”
การมองแนวโน้มการเติบโตของจีนหลังจากนี้อาจจะไม่ควรโฟกัสที่ตัวเลขเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะต้องดูเรื่องความอยู่ดีมีสุขของประชาชน (Well Being) ร่วมด้วย ซึ่งเป็นเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามทำมาต่อเนื่องหลังจากการเข้ามาจัดระเบียบในด้านต่างๆ
ในมุมของการลงทุน “หุ้นจีนตอนนี้ยังพอจะมีโอกาส แต่หากรอให้ถึงวันที่จีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID จริงๆ ราคาอาจจะขึ้นไปมากแล้ว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาตรการคุมโควิดของจีนจ่อฉุดดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ถึงถ่านหิน ซึ่งมักพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง: