สำนักข่าว Bloomberg รายงานรวบรวมความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากหลายสำนักที่ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ หลังจากนี้ว่าอาจจะชะลอตัว หรือสะดุดล้มไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่หันมาคุมเข้มมากขึ้น จนทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดอื่นแทน
เรียกได้ว่าสถานการณ์ของจีนในขณะนี้กำลังแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ หลังรัฐบาลและธนาคารกลางยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการซื้อคืนพันธบัตร
ทั้งนี้ ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวดิ่งลงอย่างแรงถึง 15% ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่เพิ่งจะไต่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งของจีนจะหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไม่อาจกอบโกยรายได้ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
ต้องยอมรับว่าเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาในระดับหนึ่ง ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกต่างไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องหันมาใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมมากขึ้น เพราะการเดินหน้าผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องมานานหลายปีทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาดอย่างแท้จริง และมีการเก็งกำไรของนักลงทุนเกิดขึ้น ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์และความท้าทายจากการยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่าสถานการณ์ของประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ในกรณีที่จะต้องยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอาจจะไม่เลวร้ายเท่าจีน เพราะจีนมีความเสี่ยงในเรื่องของระดับหนี้สาธารณะจากการกระตุ้นครั้งก่อน บวกกับการที่จีนมีทางเลือกในการลงทุนให้กับประชาชนนอกเหนือจากตลาดหุ้นไม่มากนัก ทำให้จีนขาดกลไกอื่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจต่อเมื่อลดมาตรการผ่อนคลายทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงส่อแววสะดุด
รายงานระบุว่า รัฐบาลจีนมีเหตุผลจำเป็นที่ต้องกังวลเรื่องของการใช้มาตรการกระตุ้นที่มากเกินไป เพราะย้อนไปในปี 2008 ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน จีนใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกอัดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ที่ได้คือปริมาณหนี้ท่วมมหาศาลที่กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินของจีนจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น บทเรียนจากอดีตทำให้จีนจึงค่อนข้างระมัดระวังต่อการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และพยายามลดการก่อหนี้ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ จีนก็ไม่สามารถใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินได้อย่างเต็มที่ เพราะก่อนเกิดการระบาดของไวัรสโควิด-19 จีนมีปัญหาเพราะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
Li-Gang Liu กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Citigroup, Inc. สรุปว่า แม้แต่กับจีนเอง การยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: