นับตั้งแต่ช่วงปี 2023 ต่อเนื่องจนถึงปี 2024 จำนวนนักเรียนจีนที่กำลังศึกษาต่อต่างประเทศซึ่งเผชิญปัญหาการเงินในครอบครัวกำลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่กำลังย่ำแย่
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักเรียนจีนในต่างประเทศออกมาระบายและขอแนวทางการแก้ปัญหาทางการเงินผ่านโซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้แฮชแท็ก ‘Funding for Overseas Studies Cut Off’ มียอดผู้เข้าชมกว่า 4.58 ล้านวิว
จากการศึกษาของ New Oriental Education and Kantar ในปี 2023 ชี้ว่า กว่า 27% ของครอบครัวนักศึกษาที่กำลังเรียนปริญญาโทได้รับผลกระทบทางการเงินหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด เทียบกับในช่วงปี 2021 และ 2022 ที่ตัวเลขเพียง 19%
ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการจีนเผยว่า ตัวเลขนักศึกษาจีนในต่างประเทศของปี 2019 แตะ 703,500 ราย เติบโต 6.25% จากปี 2003 ที่มีเพียง 117,300 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจากปี 2019 เป็นต้นมา จีนก็ไม่เปิดเผยตัวเลขนักศึกษาในต่างประเทศอีก
สำหรับมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากนักเรียนจีนอยู่พอสมควร โดยแนวโน้มการเติบโตของนักเรียนจีนในต่างประเทศเกิดจากการที่ครอบครัวจีนมีความเชื่อในการให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูก แล้วนำความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาธุรกิจหรือครอบครัวตนเอง
จากข้อมูลของของรัฐบาลจีนยังได้เปิดเผยว่า ในปี 2018 กว่า 90% ของนักเรียนจีนในต่างประเทศใช้เงินส่วนตัว โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุนการศึกษาใดๆ
จากข้อมูลของ KKR ชี้ว่า ด้วยปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนตอนนี้ที่ยังห่างไกลกับคำว่าสิ้นสุด ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2024 มีโอกาสโตเพียง 4.7% และ 4.5% ในปี 2025
ทำให้ประชาชนจีนจำนวนมากที่มีความมั่งคั่งอยู่ในสินทรัพย์ประเภทอสังหาได้รับผลกระทบ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองก็เป็นครอบครัวที่ส่งลูกหลานไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น ค่าธรรมเนียมการศึกษายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2023-2024 เทียบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงยิ่งกดดันให้นักเรียนจีนในต่างประเทศต้องหาทางเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานรับจ้างพาร์ตไทม์ หรือทำธุรกิจ เพื่อหาเงินเพิ่มเติมไปจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อมูลจากนักเรียนจีนอายุ 24 ปีรายหนึ่งเผยว่า ครอบครัวของเขาต้องจ่ายค่าเรียนรวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวให้กับเขาในการมาเรียนที่ต่างประเทศสูงถึง 211,500 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 7.4 ล้านบาทต่อปี
อ้างอิง: