กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กำลังเตรียมที่จะตัดสินใจปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือจำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ศรีลังกา หลังจากที่จีนให้การรับรองว่าจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศ ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการอนุมัติแผนกู้เงินของ IMF
ทั้งนี้ คณะกรรมการ IMF จะพิจารณาแผนการปล่อยเงินกู้ในวันที่ 20 มีนาคม หลังจากที่จีนกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้รายสุดท้ายที่ยืนยันการเข้าร่วมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 มีนาคม) เจ้าหน้าที่ของ IMF และศรีลังกาตกลงทำข้อตกลงระยะเวลา 4 ปีในเดือนกันยายน ซึ่งโดยทั่วไปคณะกรรมการจะสนับสนุนการจัดการเงินกู้ที่เจรจาโดยเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการของ IMF ระบุว่า รู้สึกยินดีกับความคืบหน้าของทางการศรีลังกาในการดำเนินนโยบายอย่างเด็ดขาด และได้รับการรับรองทางการเงินจากเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งหมด ตลอดจนตั้งตารอที่จะนำเสนอโครงการฟื้นฟูหนี้ของศรีลังกาที่ได้รับการสนับสนุนจาก IMF เพื่อขอการอนุมัติ
แผนการให้สินเชื่อแบบการให้ความอำนวยสะดวกขยายเงินกองทุน หรือที่เรียกว่า Extended Fund Facility จะสนับสนุนโครงการปฏิรูปอันทะเยอทะยานของทางการศรีลังกา ซึ่งจะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤตในปัจจุบัน และเป็นตัวกำหนดเส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่งและทั่วถึงในอนาคต
ความเห็นของจอร์เจียวามีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีศรีลังกา รานิล วิกรมสิงเห กล่าวกับรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน โดยเจ้าหน้าที่ของจีนได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงสำหรับเงินกู้ IMF เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
IMF เชื่อว่าเงินกู้ดังกล่าวจะกระตุ้นการจัดหาเงินทุนจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ รวมถึงธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยหลังจากการประกาศให้การรับรองของจีน เงินรูปีของศรีลังกาพุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้น 2%
แผนการเจรจาช่วยเหลือยืดเยื้อมานานหลายเดือน เนื่องจากทางการจีนเรียกร้องให้สถาบันพหุภาคี เช่น ธนาคารโลก เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างทางการเงินให้แก่ประเทศลูกหนี้ ซึ่งการเรียกร้องนี้เพิ่มความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาการเจรจามีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อหัวหน้าฝ่ายการเงินจากกลุ่มประเทศ 20 ประเทศเห็นพ้องตรงกันถึงแผนปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่นั้นมาทางการจีนได้ขยายเงินกู้มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ปากีสถาน ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงบอกกับกรรมการผู้จัดการ IMF เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนพร้อมเปิดกว้างที่จะเข้าร่วมในความพยายามระดับพหุภาคี เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีหนี้จำนวนมากในลักษณะที่สร้างสรรค์
การช่วยเหลือดังกล่าวจะปลดล็อกแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมให้แก่ศรีลังกา และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ของศรีลังกามีเส้นทางที่มั่นคงขึ้นนับตั้งแต่การผิดนัดชำระหนี้เมื่อปีที่แล้ว การพัฒนาล่าสุดอาจเป็นลางดีสำหรับประเทศที่เปราะบางอื่นๆ หลังจากที่การเจรจาบรรเทาหนี้ต่างถูกชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลรายใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ผลลัพธ์ดังกล่าวส่งผลให้จีนมีบทบาทสำคัญในการเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ประเทศลูกหนี้ การให้กู้ยืมส่วนใหญ่ดำเนินการโดยธนาคารของรัฐจึงอาจไม่เต็มใจที่จะบันทึกเงินกู้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารของธนาคาร
ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนอุปทานในศรีลังกาผ่อนคลายลง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างเย็นลง ศรีลังกาจึงต้องการเงินกู้ IMF เพื่อรับเงินทุนเพิ่มเติมและพลิกสถานการณ์ภายในประเทศ
การสนับสนุนทางการเงินของ IMF สามารถจัดหาได้สำหรับประเทศที่มีหนี้ยั่งยืนเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีหนี้สินในประเภทไม่ยั่งยืน การจัดหาเงินทุนอาจดำเนินการก่อนที่การปรับโครงสร้างจะเสร็จสิ้น หากเจ้าหนี้ทวิภาคีอย่างเป็นทางการให้การรับรองอย่างเพียงพอแก่ IMF ว่าจะดำเนินการเพื่อช่วยฟื้นฟูความยั่งยืนของหนี้
ศรีลังกาตั้งเป้าผ่านจุดวิกฤตและเริ่มฟื้นฟูหลังจากได้รับการช่วยเหลือ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงสู่ระดับเลขหลักเดียวภายในสิ้นปี 2023 เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งเงินกลับประเทศฟื้นตัวขึ้น
อ้างอิง: