ธนาคารกลางจีน (PBOC) เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี LPR (Loan Prime Rate) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับลดดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปี ซึ่งถูกใช้อ้างอิงสำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนและธุรกิจทั่วไป ลง 0.10% จาก 3.65% สู่ระดับ 3.55% พร้อมปรับลดดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ซึ่งใช้อ้างอิงสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลง 0.10% จาก 4.30% สู่ระดับ 4.20%
การปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงที่มีความสำคัญทั้ง 2 ประเภทนี้ ถือเป็นความพยายามผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของ PBOC ที่ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ เช่น การปรับลดอัตราการดำรงเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repurchase Rate ระยะ 7 วันไปแล้ว
การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของ PBOC มีขึ้นหลังจากรายงานตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนหลายตัวในเดือนพฤษภาคมออกมาน่าผิดหวัง เช่น ยอดขายปลีกที่ขยายตัวได้ 12.70% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 13.60% และยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.30% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.60%
นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-24 ปี ในประเทศจีน ยังพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 20.40% ในเดือนเมษายน ขึ้นมาอยู่ที่ 20.80% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset) ก็ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 4.00% ผิดจากคาดการณ์ของตลาดที่มองว่าจะเติบโตได้ 4.40%
“แม้ว่าดอกเบี้ย LPR ทั้งสองประเภทจะถูกปรับลงเพียง 10 bps ซึ่งไม่สามารถสร้างความแตกต่างอะไรได้มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณของ PBOC ว่า จะทางการจีนยังมุ่งมั่นที่จะดูแลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง” Julian Evans-Pritchard และ Zichun Huang สองนักวิเคราะห์จาก Capital Economics ระบุในรายงาน
ล่าสุดสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งยังพร้อมใจกันออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ของจีนในปีนี้ลง โดย Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรในปีนี้ลงเหลือ 5.40% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6.00% ขณะที่ UBS ปรับลดจาก 5.70% เหลือ 5.20%, Bank of America ปรับลงจาก 6.30% เหลือ 5.70%, JPMorgan ปรับลดลงจาก 5.90% เหลือ 5.50% ขณะที่ Nomura ปรับลดลงจาก 5.50% เหลือ 5.10% และ Standard Chartered ปรับลดจาก 5.80% เหลือ 5.40%
โดยธนาคารเหล่านี้ให้เหตุผลว่า ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจีนล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ สะท้อนว่าการฟื้นตัวของจีนหลังจากที่เปิดประเทศเริ่มสูญเสียโมเมนตัมลง ประกอบกับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าที่ยังมีอุปสรรคหลายประการรออยู่ เช่น ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์, โครงสร้างประชากรที่กำลังสูงวัยขึ้น, ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นในหลายมณฑล รวมถึงความตึงเครียดจากปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้มีการตัดสินใจปรับลดประมาณการ GDP จีนลงจากเดิม
อ้างอิง: