×

จีนส่งสัญญาณเตรียมเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิดครั้งใหญ่?

08.11.2022
  • LOADING...
Xi Jinping

กลายเป็นประเด็น Talk of the Town ในสังคมออนไลน์จีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 พฤศจิกายน) หลังมีแถลงการณ์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับข่าวของสื่อต่างประเทศที่มีรายงานมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันว่า จีนกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด ที่ปัจจุบันจีนใช้มาตรการที่เรียกว่า ‘โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต’ (Dynamic Zero-COVID) ซึ่งถึงแม้ก่อนหน้านี้จีนจะปรับมาตรการและชื่อ โดยใส่คำว่า พลวัต หรือ ‘ไดนามิก’ เพิ่มเข้าไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดีกรีความเข้มงวดลดลง มีผู้คนจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์มาตรการ ‘โควิดเป็นศูนย์’ ของรัฐบาลว่า ‘เข้มงวดเกินไป’ และส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจจีนเอง รวมถึงกระทบการใช้ชีวิตของประชาชนจีนด้วย

 

เริ่มแรกเดิมทีของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID Policy) เป็นความพยายามของจีนที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดและจัดการทันทีอย่างเด็ดขาดเพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างการล็อกดาวน์ (Lockdown) การระดมตรวจเชื้อทั่วทั้งเมือง การห้ามเดินทางข้ามเมืองข้ามมณฑล เป็นต้น โดยจีนให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของจีน เพราะประเทศมีประชากรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าวิเคราะห์ลงลึกสามารถเห็นอีกข้อหนึ่งที่แฝงอยู่ คือ จีนต้องการพิสูจน์ให้นานาชาติเห็นถึงการเอาจริงของจีน หลังจากที่หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศขั้วตรงข้ามกับจีน มองจีนเป็นต้นตอของการระบาดโควิด จนทำให้มีการระบาดไปทั่วโลก 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


และตลอดเวลาที่จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ จีนจะเปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดของตนว่าติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตก โดยทางการจีนสื่อสารถึงคนในประเทศให้เห็นถึงผลดีของมาตรการที่ทางจีนใช้ ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรกก็สามารถปลุกระดมความรักชาติได้ มีเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เพราะตอนนั้นคนจีนเองก็เจ็บช้ำจากการถูกประเทศอื่นตำหนิในกรณีต้นตอการระบาด แม้จนถึงทุกวันนี้จะยังไม่มีการยืนยันได้เลยว่าต้นตอมาจากไหนกันแน่

 

เมื่อวันเวลาผ่านไป การบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์มีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบมากขึ้นว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่เสียงสะท้อนจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ในประเทศจีนเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม 2021 ที่จีนเริ่มเจอกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ในขณะนั้นอย่างเดลตา (Delta) ซึ่งพอเดลตาเข้ามา จีนก็ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เป็นอาวุธดังที่เคยทำมา แต่กลายเป็น ‘ยิ่งวิกฤต’ เห็นได้จากกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการรอรักษาในสถานพยาบาล แต่ไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากความเข้มงวดในการตรวจหาโควิด การกักตัว และการทุ่มเทบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ไปกับการป้องกันและควบคุมโควิดตามมาตรการโควิดเป็นศูนย์ เพราะตัวเดลตาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

ดังนั้นจุดเปลี่ยนแรกของโควิดเป็นศูนย์อันเข้มงวดของจีนน่าจะมาจากการระบาดของเดลตานั่นเอง จีนจึงเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น ‘โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก’ หรือแปลเป็นไทยก็คือ ‘โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต’ โดยคีย์สำคัญคือ ‘ไดนามิก’ หรือพลวัต สื่อถึงการเปลี่ยนแปลง คือ เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ภายใต้เป้าหมาย ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด (ทั้งทรัพยากรทางการแพทย์ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรเงิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) จัดการได้ไวที่สุด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

 

ที่กล่าวมาข้างต้นคือเป้าหมายเริ่มแรกของโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต จะเรียกว่าเชิงแนวคิดก็ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

 

ว่ากันตามตรง เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควรสำหรับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ คือ พอจีนรู้ตัวว่าเข้มงวดเกินไป ระดมตรวจโควิดมากไป ในขณะที่ประเทศอื่นให้ประชาชนใช้ Rapid Test กันแล้ว จีนก็ปรับมาใช้นโยบายที่ปรับตามสถานการณ์คือ เริ่มอนุญาตให้ประชาชนหา Rapid Test มาใช้ได้ แต่ต้องเป็น Rapid Test ที่อยู่ในรายชื่อที่ทางการอนุญาตเท่านั้น อีกสิ่งที่ปรับคือ ระยะเวลาการกักตัวและอยู่ในโรงพยาบาล จากเดิมที่กำหนดว่าผู้ไม่ติดเชื้อ แต่เสี่ยงสูง ต้องถูกกักในโรงพยาบาล ก็เปลี่ยนเป็นผ่อนคลายลง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมากเกินไป 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตก็ยังถูกวิจารณ์ว่าส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนอยู่ดี ดูได้จากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ที่โตเหลือ 0.4% จากที่ขยายตัวถึง 5% ในไตรมาสก่อนหน้า หลังมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีนอย่างมหานครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง ซึ่งทางการจีนได้ระดมสรรพกำลังและความพยายามในการรับมือและลดการระบาดให้เร็วที่สุด ถึงขั้นล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้นานกว่า 2 เดือน 

 

จีนออกมาเน้นย้ำตลอดว่า ‘โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต มีประสิทธิภาพ’ และการล็อกดาวน์ก็ล็อกเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงจริงๆ อย่างเสี่ยงกลางและเสี่ยงสูง โดยจีนจะรีบจัดการพื้นที่เสี่ยงให้จบ จากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งไม่เหมือนกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด 

 

แต่กระนั้นก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งนอกและในจีนเองที่รู้สึกว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตยังคงเข้มงวด หรืออาจจะเข้มงวดมากกว่าเดิมอีก ไม่ต่างจากตอนที่ใช้คำว่า ‘โควิดเป็นศูนย์’ เราเห็นสื่อตะวันตกนำเสนอข่าวการขาดแคลนอาหารของชาวเมืองที่ถูกล็อกดาวน์นานๆ เราได้เห็นข่าวผลกระทบทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ควบคู่ไปกับการเห็นข่าวการพัฒนาเศรษฐกิจวงจรคู่ของจีน โดยเน้นพัฒนาตลาดในประเทศให้แข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจีนยังไปต่อได้ ซึ่งดูจะพยายามกลบคำวิจารณ์ของภายนอกและภายใน (เราอาจไม่ได้เห็นความไม่พอใจของประชาชนจากสื่อจีน หรือโลกโซเชียลจีน เนื่องจากสื่อและแพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจีนอย่างเข้มงวด)

 

เมื่อมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปในเดือนตุลาคม ทุกคนจึงตั้งความหวังว่าจีนอาจจะเปลี่ยนหรือยกเลิกมาตรการป้องกันและควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด โดยก่อนและระหว่างการประชุมมีการชี้แจงจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงความพยายามในการปรับมาตรการให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ทุกคนมีหวังมากขึ้น 

 

แต่เมื่อสีจิ้นผิงรายงานการทำงาน โดยยกย่องมาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต ต่อด้วยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนออกมาแถลงภายหลังการประชุมจบลงว่า จีนยังคงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตต่อไป จึงทำให้หลายคนเริ่มจะหมดหวัง 

 

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่า ‘สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ กำลังเกิดขึ้นแล้ว

 

อะไรคือสัญญาณเหล่านั้น?

 

– เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของจีน เริ่ม ‘รีแล็กซ์’ ปรับมาตรการให้ผ่อนคลายลงเอง

 

เมื่อไม่กี่วันก่อนเราได้เห็นการประกาศจากรัฐบาลท้องถิ่นจีน ที่เป็นการแสดงออกถึงโทนที่ผ่อนคลายลงอย่างมากจากที่ผ่านมา

 

เมืองฝูโจว เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยน ได้ประกาศยกเลิกการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลประวัติการเดินทาง และรายละเอียดของการป่วยสำหรับการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งตอนนี้การติดเชื้อแบบไม่มีอาการถือเป็นสัดส่วนหลักของการระบาดในจีน โดยทางฝูโจวได้ยกเลิกการตรวจ PCR สำหรับสนามบินบางแห่ง รวมถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงบางเส้นทางด้วย อย่างไรก็ตาม ประกาศเหล่านั้นถูกลบออกไปในภายหลัง หลังจากเผยแพร่บนโลกออนไลน์ได้ไม่นาน 

 

แม้ประกาศจะถูกลบ แต่เราก็ได้เห็นถึงท่าทีของบางเมืองและอาจจะหลายๆ เมืองในจีน ที่เริ่มมองว่าโควิดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

 

– หน่วยงานกลางยอมรับว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินไปในบางพื้นที่

 

หน่วยงานกลางที่รับมือโควิดออกมายอมรับว่ามีการร้องเรียนถึงการใช้มาตรการสกัดโควิดที่เข้มงวดจนเกินไปในบางพื้นที่ แม้จะยืนกรานว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการนำไปใช้ หรือ Implement ของรัฐบาลท้องถิ่นต่างหาก

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบางเมืองหรือบางมณฑลของจีนผ่อนคลายมาตรการ ก็ทำให้เกิดเสียงในโลกออนไลน์ว่า รัฐบาลจีนจะยกเลิกหรือผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตแล้วหรือไม่ ส่งผลให้จีนออกมาแก้ไขความสับสนในสังคม โดยออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน เพื่อยืนยันว่าจีนยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตต่อไป โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น 

 

ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑลและเมืองหลายแห่งในจีนเริ่มออกมาตรการเกี่ยวกับโควิดของตนเอง ทว่าเราได้เห็นถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอีกข้อ

 

มีเพียงไม่กี่ครั้งที่หน่วยงานกลางของจีนจะยอมรับถึงการถูกร้องเรียนถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด แม้พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาเกิดจากรัฐบาลท้องถิ่นที่นำไปบังคับใช้ต่างหาก

 

ทว่าการยอมรับว่ามีเสียงวิจารณ์ในประเทศว่ามีปัญหา ก็ถือเป็นสัญญาณบวกแล้ว

 

สำหรับปัญหาหลักที่พบจากการปฏิบัติของรัฐบาลท้องถิ่น ได้แก่ 

  • กักตัวคนที่ไม่จำเป็นต้องกัก อย่างการกักประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่ำ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ส่วนกลางของจีนให้ไว้  
  • จำกัดการเดินทางที่มากเกินไป จากเดิมที่หน่วยงานกลางให้แนวทาง จำกัดการเดินทางเฉพาะพื้นที่เสี่ยงกลางไปจนถึงเสี่ยงสูง

 

– หน่วยงานกลางของจีนออกมาเน้นย้ำถึงแนวทางที่ถูกต้องของการล็อกดาวน์ และการควบคุมตามหลักและแนวคิดของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ปรับตามสถานการณ์จริงๆ 

 

กรณีของเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าไฮเทคและเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน ก็ถูกล็อกดาวน์โดยทันที โรงงาน iPhone ก็ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้ มีการปิดเขตที่มีคนอาศัยราว 1 ล้านคน หลังเจอการระบาดโควิด ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน CDC ของจีนแถลงว่า การกระทำของรัฐบาลเจิ้งโจวไม่ถูกต้อง เพราะไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์อย่างเดียวเสมอไป

 

หรือในกรณีของมณฑลกุ้ยโจวและซื่อชวน (เสฉวน) ที่มีการเรียกเก็บค่ากักตัว ซึ่งไม่ใช่ตามแนวทางที่ส่วนกลางได้ให้ไว้ โดยทาง CDC ได้เตือนด้วยว่า หากไม่ดำเนินการแก้ไข จะต้องรับผิดชอบ

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีการเสียชีวิตของเด็กวัย 3 ขวบในเมืองหลานโจว เนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในการพาไปโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ล็อกดาวน์ ซึ่งหลังจากพ่อของเด็กน้อยรายนี้ได้โพสต์เรื่องราวลงบนโซเชียลมีเดีย ก็จุดชนวนความไม่พอใจในโลกออนไลน์ทันที

 

เมื่อมีหลายเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจและเสียงวิจารณ์เชิงลบออกมา ทาง CDC ก็ออกมาแสดงจุดยืนตามที่เล่าไป โดยชี้ว่ามาตรการต่างๆ ของแต่ละเมืองเป็นการนำไปปฏิบัติที่ผิดพลาดเอง แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นแนวทางของส่วนกลางจริงๆ แต่โยนความผิดไปให้รัฐบาลท้องถิ่น 

 

ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ส่วนกลางของจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าประชาชนและกลุ่มสาธารณะคิดเห็นอย่างไร

 

– จีนแสดงท่าทีพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้สมเหตุสมผล อิงตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น

 

ในการแถลงของ CDC เรายังได้เห็นการระบุว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตให้เป็นแบบวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจีนไม่พูดตรงๆ หรอกว่าให้สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่การที่จะให้อิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก็สามารถตีความแบบชาวบ้านเข้าใจได้ไม่ยากว่า ให้มีเหตุผล หรือมีอะไรที่เป็นหลักฐานมารับรอง เพื่อจะได้ชี้แจงต่อประชาชนและคนที่ยังคลางแคลงใจในมาตรการรับมือของจีนได้  

 

โดยคำว่า ‘อิงกับหลักวิทยาศาสตร์’ นั้น จีนนำมาใช้บ่อยขึ้น นับตั้งแต่มีประเด็นที่หน่วยข่าวกรองของอเมริกานำเสนอรายงานการสืบสวนต้นตอโควิด โดยครั้งนั้นจีนตอบโต้ว่า จีนจะยึดผลลัพธ์การค้นหาต้นตอโควิดตามหลักวิทยาศาสตร์รองรับเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการเมือง

 

ผู้นำจีนส่งสารถึงโลกว่า แม้จีนจะพึ่งพาตนเองเป็นหลัก แต่ก็พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ

 

การร่วมมือของจีนจะเน้นการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นโอกาสที่จีนจะเปิดประเทศจึงเริ่มเห็นแสงสว่างมากขึ้น

 

ในการแถลงรับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมัยที่ 3 ของสีจิ้นผิง มีการเน้นย้ำถึงการพึ่งพากันและกันระหว่างจีนและโลก ซึ่งเราได้เห็นสื่อหลักของจีนอย่าง China Media Group ได้นำเสนอสกู๊ปและจัดสัมมนา China and the World in a New Journey (จีนและโลกในการเดินทางครั้งใหม่) ในหลายพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนอย่างฮ่องกงและมาเก๊า รวมถึงต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสามพื้นที่นี้ล้วนมีความสำคัญกับจีนทั้งในมุมเศรษฐกิจและการเมือง แน่นอนว่าในสกู๊ปและการสัมมนาจะเน้นไปที่แนวความคิดทางการเมืองของจีน แต่เรื่องเศรษฐกิจก็เน้นไม่น้อย ซึ่งสื่อถึงการเปิดความร่วมมือมากยิ่งขึ้น

 

และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อจีนต้อนรับการมาเยือนของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ที่เดินทางมากรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ โดยไม่สนแรงต้านจากทั้งในประเทศและสหภาพยุโรป ซึ่งในการกล่าวของหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุชัดเจนว่า “พื้นฐานสำคัญของความร่วมมือแบบทวิภาคี คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า” 

 

เส้นทางเศรษฐกิจและการค้าจะออกจากตลาดจีนสู่โลกแบบวันเวย์คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการปรับนโยบายโควิดเพื่อให้เอื้อต่อการเปิดรับผู้ประกอบการและนักลงทุนภายนอกก็เป็นแนวทางที่จีนอาจทำในไม่ช้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้งว่าพวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจในจีนได้ตามปกติ และจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมโควิดของจีนมากจนเกินไป 

 

– เที่ยวบินต่างประเทศของสายการบินจีนเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในเดือนตุลาคม 2022

 

จากข้อมูลของ VariFlight ที่ได้รับการอ้างอิงในรายงานของ Reuters ระบุว่า เที่ยวบินต่างประเทศของสายการบินจีนในเดือนตุลาคม 2022 มีจำนวนเฉลี่ย 145 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.9% จากเดือนกันยายน แต่ถ้าดูขาเข้าและขาออกระหว่างจีนและต่างประเทศยังต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการระบาดของโควิด

 

ข้ามไปดูข้อมูลจากทางหน่วยงานทางการของจีน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) เผยไว้เมื่อเดือนตุลาคมว่า จีนมีการวางแผนเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินภายในประเทศและต่างประเทศ  

 

ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์สถานการณ์โควิดในจีน ตั้งแต่เริ่มมาตรการโควิดเป็นศูนย์ มาจนถึงโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต และการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า โดยวิเคราะห์บนพื้นฐานของการสื่อสารและข้อมูลจากทางการจีน เนื่องจากเป็นสัญญาณจากจีนเอง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากที่สุด 

 

นอกจากนี้ ทางสำนักข่าว Reuters ได้อ้างอิงข้อมูลบันทึกเนื้อหาการประชุมที่จัดโดยบริษัท Citi ที่ประเทศจีน ระบุว่า เจิ้งกวง อดีตหัวหน้านักระบาดวิทยาที่ CDC ของจีน ได้ตอบคำถามภายในที่ประชุมถึงโอกาสที่จีนจะเปิดประเทศและเปิดเมื่อใด โดยคำตอบที่ได้คือ จีนอาจมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด ด้วยเหตุผลที่การผลิตยาต้านไวรัสและการพัฒนาวัคซีนโควิดของจีนกำลังคืบหน้าไปมาก และถ้ามีการเปิดประเทศก็น่าจะเกิดหลังการประชุมสภาประชาชนในเดือนมีนาคม 2023 โดยรายงานของ Reuters ดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยันจากทั้งตัวผู้ถามคำถามและเจิ้งกวง แต่ก็สอดคล้องกับการวิเคราะห์ และเป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่เราอาจได้เห็น

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising