ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลกปั่นป่วน หลังการระบาดระลอกใหม่ในจีนจ่อกระทบสินค้าตลาดโภคภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน และแร่เหล็ก ในช่วงฤดูหนาวนี้ เนื่องจากความต้องการคาดว่าจะลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วมักเป็นช่วงที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาทองคำทรงตัว หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยสูงต่อไป
การใช้ถ่านหินและก๊าซ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะชะลอตัว หากรัฐบาลจีนยังคงบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดต่อไป ซึ่งทำให้กิจกรรมของโรงงานลดลง เช่นเดียวกับความต้องการน้ำมันที่คาดว่าจะลดลงด้วย เนื่องจากผู้คนน่าจะเดินทางทางถนนและทางอากาศน้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดเหตุประท้วงรุนแรง! ในโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในจีน สะท้อนความไม่พอใจ Zero-COVID จับตากระทบการผลิต iPhone
- ‘UN’ เผยประชากรโลกแตะ 8 พันล้านคนแล้ว ‘อินเดีย’ จ่อแซงจีนปีหน้า หลังอายุขัยเฉลี่ยมนุษย์สูงขึ้น
- นักลงทุนผวา! จีนสั่งล็อกดาวน์ระลอกใหม่ ฉุดหุ้น-น้ำมันทั่วเอเชียร่วงระนาว
ความต้องการน้ำมันปรุงอาหารของจีนก็มีแนวโน้มอ่อนแอ เนื่องจากลูกค้าน่าจะเดินทางไปร้านอาหารน้อยลง ส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนช่วงวันหยุดตรุษจีนในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางและบริโภคมากที่สุด
แนวโน้มราคาที่ตกต่ำลงนี้สวนทางกับการมองโลกในแง่ดีก่อนหน้านี้ที่ว่าจีนกำลังเตรียมเปิดเมืองอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลออกแผน ‘20-point’ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงในช่วงฤดูหนาวนี้น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาไฟฟ้าดับที่กระทบเศรษฐกิจจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้ ตราบเท่าที่การระบาดจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของจีนมากเกินไป
หวังเสี่ยวหยาง นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Sinolink Futures กล่าวว่า การระบาดซ้ำของโควิดและการที่รัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ น่าจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากเป็นประวัติการณ์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประท้วงต่อต้านกลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ ที่แม้จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง
ด้าน S&P Global Commodity Insights คาดการณ์ว่า กลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนน่าจะยังคงอยู่อย่างน้อยจนถึงกลางปี 2023 ขณะที่สำนักอื่นๆ รวมถึง Goldman Sachs Group กล่าวว่า มีโอกาสที่นโยบายดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเร็วขึ้น
การล็อกดาวน์ของจีนในปีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายรายการ เนื่องจากจีนถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก ตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงแร่เหล็กและถั่วเหลือง
โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ชะลอตัวเหลือ 4% หลังจากขยายตัว 10% ในปี 2021 โดย S&P ก็คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของจีนในไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มขึ้น 4% เช่นกัน เนื่องจากการบริโภคของภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอได้บั่นทอนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการทำความร้อนในบ้านและอาคารในช่วงฤดูหนาว
ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดว่าจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ ท่ามกลางราคาที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยถ่านหินที่มีราคาถูกกว่าก็คาดว่าจะถูกนำมาใช้แทนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดในพื้นที่ทำเหมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะมณฑลซานซี ได้ทำให้ผลผลิตถ่านหินลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าการผลิตน่าจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการในฤดูหนาวได้
ทองคำทรงตัว หลังเจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยสูง
ราคาทองคำทรงตัวในการซื้อขายช่วงเช้าของเอเชียวันนี้ (29 พฤศจิกายน) หลังจากลดลงประมาณ 1% ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ
จอห์น วิลเลียมส์ ประธาน Fed สาขานิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันจันทร์ (28 พฤศจิกายน) ว่า Fed จำเป็นต้องเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ในปี 2024 ก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายลง
ขณะที่ เจมส์ บูลลาร์ด ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย แล้วจึงค่อยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดปีหน้าและในปี 2024 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ขณะนี้นักลงทุนกำลังรอถ้อยแถลงจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ที่งาน Brookings Institution ในวันพุธนี้ (30 พฤศจิกายน) ตามเวลาท้องถิ่น นอกจากนี้ รายงานการจ้างงานแห่งชาติของ ADP และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีกำหนดจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้เช่นกัน
อ้างอิง: