ผู้ปลูกผลไม้ของไทยเป็นกลุ่มล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปลอดโควิด (Zero-COVID) ของจีน เนื่องจากยอดขายของพวกเขาไปยังเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกตกต่ำ อันเนื่องมาจากการตรวจสอบการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น
เมื่อวันที่ 26 เมษายน จีนปิดด่านในมณฑลยูนนาน ชายแดนลาวชั่วคราว หลังจากพบไวรัสในลังที่ใส่ทุเรียนของไทย นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนที่จีนประกาศปิดพรมแดนหลังจากพบไวรัสในลังใส่ผลไม้จากไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชาแห่งผลไม้ไทย ‘ทุเรียน’ หวนกลับมาอีกครั้ง
- โลตัสจัด ‘บุฟเฟต์ทุเรียน’ 399 บาท นำรองสาขารามอินทรา เริ่ม 30 เม.ย. นี้
- MILLI Effect: มิลลิกิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ บนเวที Coachella แค่ 1 คำ ทำยอดสั่งซื้อบนเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า!
- ธนกร เผย นายกฯ ผลักดัน Soft Power ไทยอยู่ตลอด ชม ‘MILLI’ โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้ได้รับความนิยมจากคนไทย-ต่างชาติ
- กระแส #ข้าวเหนียวมะม่วง จาก #MILLI ทำตลาดแตกจากออนไลน์ถึงออนกราวด์ ยอดขายบางร้านพุ่ง 20 เท่า ขายไม่ทันต้องปิดแอป
รายงานของ Nikkei Asia ชี้ว่า การปิดชายแดนส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย และอาจลุกลามไปยังผู้ปลูกทุเรียนไทยซึ่งจะขาดทุนมหาศาล เพราะตลาดในประเทศเองก็ไม่อาจรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้นได้หมด
“เกษตรกำลังจะตาย และเราต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากรัฐบาล เนื่องจากการซื้อในประเทศไม่สามารถช่วยดูดซับอุปทานส่วนเกินได้” สมชาย ชุนนวล ผู้ปลูกทุเรียนกล่าว
ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะผลิตทุเรียนได้ 1.4 ล้านตันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกราชาแห่งผลไม้กันมากขึ้น
เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการ ผลที่ตามมาคือราคาที่ลดลงอย่างมาก ราคาทุเรียนไทยลดลงเหลือประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยอยู่ในระดับ 150-200 บาทต่อกิโลกรัมในปีที่แล้ว และคาดว่าจะลดลงอีกหากจีนยังคงตรวจสอบผลไม้ไทยอย่างเข้มงวด
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเจรจากับจีนเพื่อเริ่มเปิดด่านโม่ฮาน และกำลังเร่งอำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนผ่านท่าเรือหลักของกรุงเทพฯ และแหลมฉบังในเมืองชลบุรี เพื่อเร่งส่งทุเรียนไปยังจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อผลไม้รายใหญ่ที่สุด โดยทั่วไปแล้วจีนซื้อประมาณ 50% ของผลผลิตทุเรียนประจำปีของไทย
แต่มาตรการดังกล่าว “ไม่น่าจะช่วยอะไรได้ เพราะทุเรียนไทยต้องใช้เวลาถึง 5 วันจึงจะเข้าจีนได้ อันเนื่องมาจากการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนภายใต้นโยบายปลอดโควิด” เจ้าหน้าที่สมาคมทุเรียนไทยกล่าว ซึ่งการตรวจสอบที่ช้ากว่าที่คาดไว้ทำให้เกิดการเน่าเสีย และแน่นอนผลผลิตที่เสียแล้วย่อมถูกส่งกลับไทย
เอกชนประกาศรับซื้อทุเรียน
ในขณะเดียวกันภาคเอกชนต่างๆ ก็ออกมาประกาศถึงนโยบายรับซื้อทุเรียนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือ CP ได้ออกโรงมาช่วยเกษตรกรด้วยการทำโครงการ Let’s DO RIAN โดยการจัดทำร้านขายทุเรียนจำนวนกว่า 500 จุด ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านค้าปลีกค้าส่งในเครือ CP ทั่วประเทศ ได้แก่ ห้าง Lotus’s, Lotus’s go fresh, CP Fresh Mart และ 7-Eleven
ขณะที่ Lotus’s ประกาศแผนเดินหน้าซื้อทุเรียนไทยกว่า 3 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10 เท่า หวังช่วยเกษตรกรจากราคาทุเรียนตกต่ำ โดยนำขายในไฮเปอร์มาร์เก็ต 236 สาขาทั่วประเทศ
ส่วน Makro คาดว่าจะรับซื้อทุเรียนประมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 5 เท่าตัว เป็นผลผลิตจากเกษตรกรกว่า 70 ราย ใน 11 จังหวัด ซึ่งไปวางขายใน Makro ทั้ง 135 สาขา
โดยทุเรียน 5 สายพันธุ์หลักที่ Makro นำมาจำหน่าย ประกอบด้วยหมอนทอง, ชะนี, พวงมณี, กระดุม, ก้านยาว จากแหล่งผลิตในจังหวัดจันทบุรี, ระยอง, ตราด, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, นครราชสีมา, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ, อุตรดิตถ์ ซึ่งทุเรียนพันธุ์หมอนทองได้รับความนิยมสูงสุด มีสัดส่วนถึง 95% ของยอดขายทุเรียนทั้งหมด
ด้านเครือ Central Retail ประกาศเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตผลไม้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 100% จากพี่น้องชาวสวนทั่วประเทศกว่า 1,000 กลุ่ม ทั้งมังคุด เงาะ และทุเรียน สำหรับเข้าไปวางขายใน Tops, Central Food Hall และ FamilyMart
มะม่วงก็ไม่รอด
มะม่วง ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เติบโตเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ก็ถูกกักไว้ที่ท่าเรือของจีนเช่นกันเนื่องจากการตรวจโควิด ด้วยเหตุนี้มะม่วงหลายล้านตันกำลังล้นตลาด และราคาตกลงต่ำเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อเทียบกับราคา 30-70 บาทต่อกิโลกรัม ณ เวลานี้ของปีที่แล้ว
กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าซื้อมะม่วงได้มากถึง 14,000 กิโลกรัมจากเกษตรกรโดยตรง และนำไปจำหน่ายในโรงเรียนโดยหวังว่าจะผลักดันราคาให้สูงขึ้น แต่รายงานของ Nikkei Asia ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจช่วยไม่ได้มาก เนื่องจากการซื้อเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการผลิตทั้งหมดของไทยที่ 1.4 ล้านตันในปีนี้
แต่ Nikkei Asia กล่าวในรายงานว่า เกษตรผู้ปลูกมะม่วงได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่น่าเชื่อจาก MILLI หรือ มิลลิ (มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล) กิน #ข้าวเหนียวมะม่วง บนเวที Coachella เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก
ทำให้แฮชแท็ก #MILLILiveatCoachella กลายเป็นหัวข้ออันดับ 1 บน Twitter ด้วยจำนวนการทวีต 1.39 ล้านทวีต ขณะเดียวกันก็ทำให้กระแสเมนูของหวานที่ขึ้นชื่อของไทยเกิดทันที เกิดการต่อแถวที่ร้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย เผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภายหลังจากที่ MILLI กินข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้จำนวนออร์เดอร์บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า
ขณะที่ GrabFood ก็บอกกับ THE STANDARD WEALTH เช่นเดียวกันว่า จำนวนออร์เดอร์และมูลค่าการสั่งซื้อเมนูข้าวเหนียวมะม่วงผ่าน GrabFood เพิ่มขึ้นกว่าระดับปกติ 4 เท่า
MILLI Effect ดันยอดขาย
“เราชื่นชมเธอ เพราะการแสดงของเธอช่วยชีวิตเราไว้” มานพ แก้ววงษ์นุกุล คนปลูกมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรากล่าว “เรายังวางแผนที่จะส่งกระเช้ามะม่วงให้เธอด้วย”
“เราได้รับคำสั่งซื้อมะม่วงจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากร้านอาหารไทยหลายแห่งต้องการเพิ่มข้าวเหนียวมะม่วงลงในเมนูของพวกเขา” สมพงษ์ สว่างมณี พ่อค้ามะม่วงในเมืองพิจิตรกล่าว
‘MILLI Effect’ สร้างความประหลาดใจให้กับรัฐบาลไทย และทำให้รัฐบาลไทยหันมาสนใจ Soft Power ที่เกิดจากเรื่องนี้มากขึ้น โดยต้องการใช้เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของไทยอีกด้วย
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Soft Power มาหลายปีแล้ว และ MILLI Effect ได้กระตุ้นให้กรมฯ ทำมากขึ้น
เขากล่าวว่ากระทรวงได้ให้การสนับสนุน 659 บริษัท สร้างมูลค่าการค้าประมาณ 941 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของเป้าหมายการค้า 3.6 พันล้านบาทสำหรับการค้าที่เกิดจาก Soft Power ในปีนี้
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP