×

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อจีนรอดมรสุม Recession คาด GDP ปีนี้โต 5% หลังรัฐบาลเน้นกระตุ้นการบริโภค แนะลงทุนหุ้น A-Share รับอานิสงส์มากสุด

10.05.2023
  • LOADING...

ผู้เชี่ยวชาญพร้อมใจฟันธงเศรษฐกิจจีนปี 2023 โต 5% ได้ตามเป้าที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ หลังเน้นกระตุ้นการเติบโตแบบเจาะกลุ่มเป้าทั้งการบริโภคในประเทศ-อุตสาหกรรมสำคัญ พร้อมแนะลงทุนหุ้น A-Share ได้ประโยชน์มากที่สุด

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยผ่านรายการ WEALTH IN DEPTH ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนช่วงไตรมาส 1/23 ฟื้นตัวดีในหลายส่วน โดย GDP ขายตัวขึ้น 4.5% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 4% ขณะที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมาย GDP ทั้งปี 2023 จะขยายตัว 5% ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าขยายตัว 5.2%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ทั้งนี้ หากเข้าไปดูแยกไส้ในของเศรษฐกิจไตรมาส 1/23 พบว่ามีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญข้อแรกคือ การบริโภคภายในประเทศที่การฟื้นตัวที่ดีมากสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ได้ค่อนข้างดี หลังจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์โควิดระบาด (Pent Up Demand) และภาคบริการที่สามารถฟื้นตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ปัจจัยขับเคลื่อนที่สองคือ ภาคส่งออกของจีนไตรมาส 1/23 ที่ขยายตัว 8.4% โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมปีนี้ที่ขยายตัวถึง 24% และปัจจัยขับเคลื่อนที่สามคือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในระดับประมาณ 4-5% 

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวจากความเชื่อมั่นการลงทุนที่ยังฟื้นกลับมาได้ไม่เต็มที่ โดยการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ แม้ว่ายอดขายจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

 

“เงินเฟ้อของจีนถือว่ายังต่ำ รัฐบาลจีนก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง จึงคาดมีความเป็นไปได้สูงว่า GDP ของจีนในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 5% น่าจะไปได้ถึง รวมถึงมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนมีการวิเคราะห์ว่าอาจขยายตัวได้ถึง 5.5% ด้วยซ้ำ”

 

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน ประเมินว่ายังมีผลกระทบจากความไม่แน่นอนของประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบและยังต้องติดตาม ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อของโลกที่สูงก่อนหน้านี้ คาดว่ากำลังเข้าสู่ช่วงขาลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ตามแนวโน้มราคาพลังงานที่ราคาเริ่มปรับลดลง ขณะที่ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ คาดว่าสูงสุดแล้วมีโอกาสที่จะลดลงในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ความกังวลจะเกิด Recession เริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังต้องติดตามต่อไป

 

สำหรับกรณีที่มีความกังวลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอย (Recession) คาดว่าจะเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. วิกฤตสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในช่วงนี้ 2. ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 3. ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาจากประเด็นทางการเมือง แต่สุดท้ายยังเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้สูง 90% ว่ารีพับลิกันกับเดโมแครตจะยังสามารถบรรลุข้อตกลงได้ และไม่นำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ 

 

เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาคล้ายกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008 โดยจะมีผลกระทบที่รุนแรงมากต่อทั้งเศรษฐกิจ รวมถึงความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ให้มีปัญหา และมีผลกระทบลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลกด้วย อีกทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่เริ่มแพร่เชื้อไปยังสัตว์อีกหลายชนิด รวมถึงการกลายพันธ์ุของโควิด ซึ่งหากกลับมาระบาดรุนแรงอาจเป็นปัจจัยลบที่กลับมากระทบเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากกรณีจีนต้องการเปลี่ยนแปลงนโยยายใช้ระบบสังคมนิยมมาควบคุมระบบทุนนิยม เพื่อเศรษฐกิจเติบโตแบบมีคุณภาพและทั่วถึง ถือเป็นประเด็นที่ไม่แน่นอน กระทบความเชื่อมั่น และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศว่าจะมีการควบคุมในระดับใด

 

ส่วนกรณีที่มีแผนจะตั้งคณะกรรมาธิการกลางทางการเงิน (Central Financial Work Commission) เพราะต้องการรวมศูนย์อำนาจทางการเงินไว้ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งต้องติดตาม อาจมีผลกระทบตามมาต่อความเชื่อมั่นในภาคตลาดการเงินของจีนในอนาคต

 

SCB CIO มองหุ้นจีน A-Share เป็น Positive

 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เปิดเผยว่า มีข้อสังเกตใน 2 ประเด็นหลักของการขยายตัวของ GDP จีนไตรมาส 1/23 ข้อแรกมีปัจจัยบวกจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 1/22 มาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ข้อที่สอง การฟื้นตัวนำโดยภาคการบริโภค ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า จึงเป็นภาพของการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง

 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่รออยู่หลังจากตัวเลขของการส่งออกของจีนที่มีสัดส่วนราว 20% ของ GDP ซึ่งในเดือนมีนาคมปีนี้ที่กลับมามีตัวเลขการเติบโตเป็นบวกครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีตัวเลขการขยายตัวติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ตัวเลขล่าสุดเดือนเมษายนปีนี้ขยายตัวอีก 8.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่ต้องจับตา เพราะเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนปีนี้กับเดือนมีนาคมปีนี้ กลับมีตัวเลขการเติบโตที่ติดลบ 5.4% เพราะมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐฯ กับยุโรปที่ลดลง

 

“เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังแตะเบรกชะลอ เริ่มเห็นสัญญาณ Recession หรือแม้จะเป็น ‘Mild Recession’ ที่สะท้อนออกมาในตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนของจีน ซึ่งการส่งออกของจีนไปตลาดสหรัฐฯ แม้จะลดลงจากอดีต แต่ปัจจุบันยังมีสัดส่วน 12% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมองว่าจะฟื้นช้ากว่าตัวอื่น โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นตัวถ่วงหลัก”

 

ขณะที่รัฐบาลจีนยังมีแผนการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งผ่านการลงทุน รวมถึงจะดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่สนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน อีกทั้งมีนโยบายที่จะยับยั้งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องการป้องกันการเก็งกำไร รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและภาคธนาคาร

 

ดร.กำพลกล่าวต่อว่า คาดว่าการดำเนินนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเป็นไปในลักษณะเลือกเจาะเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายสำคัญ และเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงตลาดแรงงานของจีน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ยังมีอัตราว่างงานสูงถึงระดับ 20% ยังเอื้อให้รัฐบาลจีนยังสามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นตามมา และยังมีตัวช่วยจากการเปรียบเทียบตัวเลขของฐานที่ต่ำในปี 2022 ดังนั้นคาดว่า GDP ของจีนในปี 2023 มีโอกาสขยายตัวได้ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

 

ส่วนกรณีการจัดตั้ง Central Financial Work Commission ของจีน โดยโครงสร้างใหม่นี้ถือว่ามีข้อดี ซึ่งจะมีการแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนในการกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุน ขณะที่ยังต้องติดตามดูต่อว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินมากหรือน้อยอย่างไร

 

สำหรับมุมมองต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในส่วน A-Share มีมุมมองเป็นบวก (Positive) ยังแนะนำให้ ‘ซื้อ’ โดยใช้จังหวะที่ราคาหุ้นย่อตัวเข้าทยอยสะสม หากเป็นนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้ระดับน้อยถึงกลาง แนะนำให้มีหุ้นจีนสัดส่วนประมาณ 5% ของพอร์ต หรือหากสนใจกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกหุ้นก็แนะนำกองทุน SCB A-Share 

 

ขณะที่ H-Share มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Positive) เพราะจะมีกรณีที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของจีน

 

โดยหลังจีนกลับมาเปิดประเทศถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นจีนมี Price to Earnings Ratio (P/E Ratio) อยู่ -0.5 SD ถือว่ายังซื้อขายต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ขณะที่เมื่อพิจารณาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเน้นให้ความสำคัญกับกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นผลบวกกับหุ้นในกลุ่ม A-Share มากกว่า H-Share 

 

อีกทั้งผลประกอบการของหุ้นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่ม A-Share มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี โดยในไตรมาส 1/23 พลิกกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ 7% จากช่วงไตรมาส 4/22 ที่กำไรสุทธิเติบโตติดลบ 6.5% อีกทั้งยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องตามการฟื้นของเศรษฐกิจจีน “มองว่าตลาดหุ้นจีนจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความเสี่ยงเรื่องของ Earnings Recession น้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ เพราะอย่างบริษัทในสหรัฐฯ รายงานกำไรไตรมาส 1/23 ก็ออกมาเติบโตติดลบ”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising