พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำหนดจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ท่ามกลางการเฝ้ามองจากทั่วโลกว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะได้รับฉันทามติจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมตอกย้ำสถานะความเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศนับตั้งแต่เหมาเจ๋อตง
การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดขึ้นทุก 5 ปี ณ มหาศาลาประชาชน ทางฝั่งตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยการประชุมจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และเป็นความลับ ไม่เปิดให้สื่อมวลชนหรือประชาชนร่วมรับฟัง
สีจิ้นผิง วัย 69 ปี กุมอำนาจได้อย่างมั่นคงนับตั้งแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการขจัดพวกพ้องที่ต่อต้านการปกครองของเขา ดังนั้น แม้เผชิญปัญหาต่างๆ นานาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจตกต่ำ การระบาดของโควิด และการประท้วงในที่สาธารณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ไปจนถึงความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นกับชาติตะวันตก และความตึงเครียดกับไต้หวัน บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังคงเชื่อว่า สีจะได้รับมอบอำนาจให้บริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ ‘การฟื้นฟูชาติจีน’ ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
นอกจากเป็นใหญ่ในประเทศแล้ว สียังทรงอิทธิพลในเวทีโลกอีกด้วย โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงสามารถแสดงความคิดความเห็นอย่างมั่นใจมากขึ้นในฐานะผู้นำของโลกกำลังพัฒนา พร้อมเสนอตัวเป็นผู้นำระเบียบโลกใหม่ ท้าทายสหรัฐฯ ที่ดำรงบทบาทผู้นำระเบียบโลกมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“เขาจะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในด้านนโยบายต่างประเทศ” สตีฟ จาง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China Institute ของมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าว “นอกจากนี้เขาจะยิ่งเพิ่มความสำคัญให้กับพรรค ในฐานะพรรคที่เป็นผู้นำทุกอย่างในประเทศจีน และพรรคที่คล้อยตามผู้นำอย่างเต็มที่”
การปูทางสู่การครองตำแหน่งประธานาธิบดีวาระ 5 ปีต่ออีกสมัยเป็นสมัยที่ 3 และอาจมากกว่านั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 หลังจากที่สภาประชาชนจีน หรือรัฐสภาของจีนลงมติอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้ที่ 2 สมัย ซึ่งหมายความว่าสีจิ้นผิงจะสามารถดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศไปได้นานชั่วชีวิต
อนึ่ง นอกจากการต่ออายุเก้าอี้ประธานาธิบดีแล้ว วาระสำคัญที่หลายฝ่ายจับตาในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้าคือ ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนหลี่เค่อเฉียง ซึ่งกำลังจะครบวาระในเดือนมีนาคม
สำหรับบุคคลที่ได้รับการคาดหมายว่าอาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไป ได้แก่ หวังหยาง วัย 67 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการเมืองคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ หูชุนฮวา รองนายกรัฐมนตรี วัย 59 ปี โดยทั้งสองเคยเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของจีนตอนใต้ ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ท้าชิงที่ไม่อาจมองข้ามอย่าง เฉินหมิ่นเอ๋อ วัย 61 ปี ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในทายาทการเมืองของสีจิ้นผิง ทั้งนี้ เฉินหมิ่นเอ๋อป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเทศบาลนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นของจีน อย่างไรก็ดี เขายังไม่เคยดำรงตำแหน่งระดับประเทศ
นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกจับตามองใกล้ชิดคือ การเลือกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ชุดใหม่ จากปัจจุบันที่มีสมาชิก 7 คน โดยสมาชิก 2 คนกำลังจะเกษียณอายุตามกำหนด สมาชิกของคณะกรรมการประจำกรมการเมืองถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดของจีน และจะได้รับการเปิดตัวในช่วงสิ้นสุดการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แต่ละคราว
รศ.อัลเฟรด วู แห่งสำนักศึกษานโยบายสาธารณะลีกวนยู (Lee Kwan Yew School of Public Policy) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “หลังจากแต่งตั้งผู้จงรักภักดีให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในการประชุมใหญ่พรรคครั้งนี้แล้ว สีจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการผลักดันนโยบายใดๆ ก็ตามที่เขาต้องการ”
ภาพ: Anthony Wallace – Pool / Getty Images
อ้างอิง: